×

คุยกับตัวแทนเยาวชนไทยจาก APEC Voices of the Future กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และแนวคิดผ่าทางตัน

14.11.2022
  • LOADING...

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์น้องๆ ตัวแทนเยาวชนจากกิจกรรม APEC Voices of the Future 2022 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มาร่วมอภิปรายในประเด็นปัญหาต่างๆ ในประเทศของตัวเอง เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือพลังงาน

 

ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีนี้ ประเด็นแรกที่เรารู้สึกสนใจคือ แล้วเยาวชนจากประเทศของเราคิดว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่พวกเขาอยากแก้ไข

 

คำตอบที่เราได้รับมาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’

 

ประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่คือปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทย และต้องยอมรับว่าเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ไม่มากก็น้อย หากเป็นลูกคนมีเงิน อาจไม่ค่อยรู้สึกถึงปัญหานี้มากเท่าไรนัก เพราะทรัพยากรด้านการศึกษานั้นพรั่งพร้อมสำหรับคนที่มีทุนทรัพย์อยู่แล้ว แต่สำหรับคนชายขอบ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน พวกเขาเรียกได้ว่าแทบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา โรคระบาดได้ซ้ำเติมวงจรความยากจน จนมีเด็กจากหลายครอบครัวที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

 

THE STANDARD ได้ชวนน้องๆ ตัวแทนประเทศไทยมาพูดคุยกันว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาไทย พวกเขาคิดเห็นอย่างไร และมีแนวทางช่วยเหลือเพื่อนๆ เยาวชนอย่างไรในประเด็นนี้

 

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยน่าเป็นห่วงแค่ไหน

 

สพล ตัณฑ์ประพันธ์ นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในตัวแทนเยาวชน APEC กล่าวว่า สถานการณ์นั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะไทยมีปัญหาด้านการศึกษาในหลายมิติมาก ซึ่งมิติหนึ่งที่เป็นปัญหาเด่นชัดคือประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

ข้อดีในโลกปัจจุบันคือ การศึกษานั้นพัฒนาไปมากขึ้น ทำให้เด็กๆ นักเรียนนักศึกษามีทางเลือกในการเรียนรู้มากกว่าเดิม คนที่มีฐานะที่สูงหน่อยก็สามารถเข้าถึงทางเลือกต่างๆ ได้ ไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามีคนอีกกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ได้รับการพัฒนาที่มากพอ ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ทำให้ช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกถ่างออกให้กว้างไปกว่าเดิม

 

มนัสยา พลอยนำพล นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยมุมมองว่า สำหรับตัวเธอนั้นคิดว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหลังจากที่ลองศึกษาหาข้อมูลมาก็พบว่า จากจำนวนเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ของประเทศ มีเด็กในกลุ่มนี้เพียงแค่ 5% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งน้อยมากๆ หากเทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง บางครอบครัวแย่กว่านั้นคือเด็กไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าถึงระบบการศึกษาเลยด้วยซ้ำ หรือมีเด็กประมาณ 500,000 คนในไทยที่อยู่นอกระบบการศึกษา

 

คำว่า ‘ไม่สามารถเข้าระบบการศึกษาได้’ นำมาสู่ปัญหาในภาพที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต่อวงจรชีวิตของคนคนหนึ่ง เด็กคนนั้นจะไม่สามารถเข้าถึงโอกาสหลายๆ อย่างได้ เช่น การประกอบอาชีพที่มีค่าตอบแทนเหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิต และปัญหารายได้ก็จะนำไปสู่เรื่องของปากท้อง

 

ต้นตอปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาจากอะไร

 

มนัสยากล่าวว่า สำหรับตัวเธอนั้นไม่ได้มองว่ามีต้นตอที่ชัดเจนมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เป็นปัญหาหลายปัจจัยที่สะสมรวมกัน โดยมี 2 ประเด็นใหญ่ที่มองว่าเป็นปัญหาสำคัญ ประการแรกคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ถ้าคนไหนโชคดีเกิดมาในบ้านที่มีรายได้สูง ก็จะได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพดี แต่ถ้าเด็กคนไหนเกิดมาในครอบครัวชนบทและมีรายได้น้อย ก็อาจจบลงที่การไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในโรงเรียนเลยอย่างสิ้นเชิง

 

ส่วนประเด็นที่สองคือเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร ในขณะที่กระทรวงศึกษาได้เงินงบประมาณมากที่สุดจากกระทรวงทั้งหมด แต่เราก็เห็นภาพที่หลายโรงเรียนเล็กๆ ในประเทศไทยกลับไม่มีทรัพยากรเพียงพอ เช่น ทั้งโรงเรียนอาจจะมีครูแค่ 4 คนที่ช่วยกันสอน 8 วิชา มนัสยาจึงมองว่าการจัดสรรทรัพยากรจากภาครัฐก็น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

 

สพลกล่าวว่า ปัญหาการศึกษานั้นสามารถไล่เรียงได้เป็นขั้นพีระมิด ทั้งปัญหาเรื่องครู หลักสูตร ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่ตัวนักเรียนเอง ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่สำคัญคือ เด็กไทยหลายๆ คนขาด Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ แม้แต่ตัวเองที่อยู่ในระบบการศึกษาก็รู้สึกว่าเด็กไทยแค่รู้และเข้าใจในสิ่งที่เรียนมา แต่ไม่ตั้งคำถามถึงเหตุผลหรือคิดต่อยอดไปมากกว่านั้น

 

อีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องของ ‘ระบบการผลิตครู’ ที่ต้องดูกันว่ามันมีปัญหาหรือไม่ เพราะปัจจุบันระบบการผลิตครูอาจจะยังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่สามารถจูงใจผู้เรียน หรือจุดประกายความคิดให้กับเด็กๆ ได้อย่างเพียงพอ และปัญหาสำคัญสุดคือ ‘การเข้าถึงโอกาส’ เพราะคนที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรแบบเด็กที่มาจากครอบครัวระดับบนได้เลย

 

ปลายทางของเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษา พวกเขาไปอยู่ที่ไหน

 

มนัสยามองว่าการศึกษาคือประตูที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนที่กัดกินเป็นวงจรได้ สมมติว่าพ่อแม่ไม่รวย แถมเด็กยังไม่ได้รับการศึกษา โอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถไต่ไปสู่การประกอบอาชีพที่มีรายได้ดีนั้นก็ยากมาก ทำให้ครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ด้วย นอกจากนี้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษายังมีความเสี่ยงที่จะได้รับอิทธิพลที่ไม่ดีจากสังคม ก่อเกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมตามมาด้วย

 

สพลเล่าให้ฟังถึงความทรงจำในสมัยที่เขามีโอกาสได้ไปค่ายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เขาพยายามเข้าไปตีสนิทกับน้องๆ มัธยมต้นที่โรงเรียน และถามพวกเขาว่า ตอนนี้ใกล้จะจบชั้นมัธยมต้นแล้ว เด็กๆ อยากทำอะไรกันต่อ คำตอบที่ทำให้สพลแปลกใจคือ เด็กเกือบ 100% ตอบตรงกันว่า ‘อยากเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์’ และหลังจากนั้นน้องๆ ก็ปลีกตัวออกจากระบบการศึกษาและเป็นช่างตามฝันของตัวเอง

 

แม้การเป็นช่างซ่อมรถไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่มันก็ทำให้สพลย้อนกลับมาคิดกับตัวเองว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีพรีวิลเลจ ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ เขาจำได้ว่าสมัยที่เขาอยู่มัธยมต้นนั้น เพื่อนๆ อยากทำอาชีพหลากหลายมาก แต่ละคนอยากเป็นโน่นเป็นนี่ มีแผนที่จะศึกษาต่อ แต่ตัดภาพไปที่โรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล เด็กๆ กลับมีมุมมองที่จำกัดอยู่แค่ไม่กี่อาชีพ ทำให้เขาตั้งคำถามต่อไปว่า หรือการศึกษาไทยไม่สามารถแนะแนวอาชีพให้กับเด็กๆ ได้ดีพอ

 

วิชาการงานอาชีพกลายเป็นวิชาที่สอนแค่เรื่องของการทำงานบ้าน แต่สพลคิดว่าวิชานี้มันควรเป็นการแนะแนวถึง Career Path หรือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพต่างๆ บนโลกนี้ ให้เด็กรู้ว่าพวกเขาสามารถอยากเป็นอะไรก็ได้ในโลกนี้ และใช้ความสามารถที่ตัวเองมีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ต่อบ้านเมือง และต่อครอบครัวของตัวเอง

 

หากมองในภาพที่ใหญ่ขึ้น คิดว่าประเทศสมาชิก APEC ควรสร้างความร่วมมืออย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่การประชุม APEC Youth Conference 2022 Voices of the Future เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 พฤศจิกายน) เยาวชนจากหลายชาติได้พูดถึงปัญหานี้ในประเทศของตัวเองด้วยเช่นกัน เช่น เวียดนาม เม็กซิโก หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น ใจความที่ทุกชาติพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ‘คนรวยมีโอกาสมากกว่าคนจน’

 

เมื่อเยาวชนแทบทุกชาติเห็นพ้องกันว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญ THE STANDARD จึงได้ถามความคิดเห็นของเยาวชนไทยว่า พวกเขาคิดว่า APEC ควรจะสร้างกรอบความร่วมมืออะไรที่เป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ทุกคนเผชิญอยู่ได้หรือไม่

 

สพลแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า หลายๆ เขตเศรษฐกิจใน APEC มีระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งเป็นต้นแบบให้แก่ชาติอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์มีแพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพที่ชื่อว่า SkillsFuture Singapore (SSG) ซึ่งสพลมองว่าหากประเทศสมาชิกสามารถแชร์องค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนามากขึ้น รวมถึงเสนอแนะให้รัฐบาลทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนคนจากกระทรวงการศึกษาในแต่ละประเทศ เช่น พาเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาจากสิงคโปร์มาทำงานในไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับฝั่งของเรา เพราะท้ายที่สุดแล้วหากการศึกษาของคนในชาติพัฒนา ก็จะนำไปสู่ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และทุกๆ ชาติใน APEC ก็จะสามารถพัฒนาเติบโตไปร่วมกันได้

 

มนัสยาก็แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยกล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงเป็นความท้าทายใหญ่ของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะมีเด็กจำนวนมากที่หลุดจากระบบการศึกษา เช่น ในกลุ่มเด็กที่ควรจะต้องศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น ตอนนี้เขตเศรษฐกิจใน APEC มีเด็กที่หลุดจากระบบแล้วกว่า 30 ล้านคน

 

กลับมาที่ประเทศไทยเรานั้น เรากำลังมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แปลว่าสิ่งที่เราควรจะทำคือการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ต่อหัวของประชากรให้ได้ ซึ่งเรายังห่างไกลจากภาพนั้นมาก เพราะประชากรที่เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง (High-Skilled Workers) มีแค่ประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องของการปั้นแรงงานทักษะขั้นสูงกับการศึกษามันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างคนของเราให้เก่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบรับกับความท้าทายด้านสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะตามมา

 

ทางออกอย่างยั่งยืนสำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร และเรามีหวังพอที่จะเปลี่ยนจากคำว่าสังคมเหลื่อมล้ำ ไปสู่คำว่าเสมอภาคได้หรือไม่

 

สพลกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาคือต้องมีการสร้างหลักการขึ้นมาก่อน

 

คำว่าหลักการคือ ในการจะดำเนินนโยบายใดๆ เราควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดขึ้นมาก่อนว่าจะบรรลุมันอย่างไร เช่น ในทางเศรษฐกิจ เรามีตัวเลข GDP เป็นเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนมาก เรามีการกำหนดชัดเจนว่า GDP ไทยจะต้องโตกี่เปอร์เซ็นต์ เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรเพื่อมุ่งไปสู้เป้าหมายนั้น

 

“แต่ถ้ามาถามถึงเรื่องการศึกษา ผมนึกไม่ออกเลยว่าอะไรเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญ อะไรเป็นเป้าหมายในการพัฒนาทางการศึกษาที่จับต้องได้ ที่เห็นภาพชัดเจน ที่ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน”

 

ฉะนั้นภาครัฐจึงควรมีการสร้างหลักการเพื่อดันฐานของกลุ่มคนชายขอบให้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรมีการพัฒนาเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดการวัดผลปีต่อปี หรือทุก 5 ปี ทุก 10 ปี เหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ยกให้วาระการศึกษามีความสำคัญในระดับประเทศ

 

ภาคเอกชนจะสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือได้หรือไม่

 

มนัสยากล่าวว่า เอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ผ่านสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ทางธุรกิจตอนนี้คือ ESG Goals ที่ทุกบริษัทตอนนี้ไม่ใช่แค่เน้นหากำไรอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำเพื่อสังคมด้วย ซึ่งตรงนี้สิ่งที่ภาคเอกชนมีคือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ และ ‘ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ’ ที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับทักษะของเยาวชนได้

 

ด้านสพลเสริมว่า การแนะแนวอาชีพเป็นประเด็นที่เขารู้สึกว่าอยากให้เน้นย้ำ เพราะทุกคนน่าจะเคยมีปัญหาเหมือนกันว่าครูแนะแนวสมัยเรียนอาจจะไม่ได้พูดถึงเรื่องโอกาสในตลาดงานมากนัก ส่วนใหญ่เด็กไทยจะถูกสอนให้แค่รู้ว่าต้องสอบอะไร เข้าคณะไหน แต่ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อ ในส่วนนี้เยาวชนจาก APEC จึงได้มาระดมความคิดกันว่าเราจะหาโซลูชันมาดูแลปัญหานี้ยังไง จนมองเห็นว่าองค์กรจากภาคเอกชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

 

“ลองนึกภาพว่าถ้าเราเป็นคนทำงาน แล้วเรารู้ว่าถ้าเราอยากเป็นนักข่าว ถ้าเราอยากเป็นนายธนาคาร ถ้าเราอยากเป็นนักเคลื่อนไหว เราต้องเติบโตในด้านไหน และเราต้องเป็นคนแบบไหน ซึ่งผมรู้สึกว่าตรงนี้ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กร”

 

ไอเดียคือน้องๆ ทั้งสองคนอยากให้มีการใช้ประโยชน์จากคนทั่วๆ ไปในสังคม ให้มาร่วมแชร์มุมมองอาชีพของกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องของความห่วงใยที่มนุษย์มีให้กันอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่ช่วงนี้มีเทรนด์ทางธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนพอดี เลยอยากแนะนำว่าองค์กรทางธุรกิจสามารถทำโครงการ CSR ที่สร้างผลตอบแทนต่อสังคมได้จริง ผ่านการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรออกมาแนะแนวเด็กๆ เกี่ยวกับอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ อาจจะสละเวลาแค่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาพูดคุยกับเด็กๆ จุดประกายให้พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ถึงอาชีพในอนาคตของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ต้นทุนด้านการทำ CSR อาจจะลดลงด้วยซ้ำ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาอาจเป็นการ ‘สร้างคน’ สู่สังคม

 

ในฐานะตัวแทนของเยาวชน อยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อภาคการศึกษา รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

 

สพลกล่าวว่า อยากฝากให้ผู้มีอำนาจตั้งคำถามว่าเราดูแลคนอยู่ด้านหลัง คนที่อยู่ชายขอบได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้คำถามนี้ดังขึ้น ทำให้วาระด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

 

ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจนั้น สพลอยากฝากไว้ว่า ในฐานะเยาวชน เขาอยากมองเห็นว่าประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่จะเป็น ‘อุตสาหกรรมนำของเรา’ ถ้าเรามองกลับไปที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ เราเห็นภาพของอุตสาหกรรมนำที่ชัดเจนมาตลอด เช่น ช่วงปี 1997 เราเห็นอุตสาหกรรมการเงิน ช่วงยุค 1980 เราเห็นอุตสาหกรรมรถยนต์

 

“แต่ตอนนี้ผมยังมองไม่ออกเลยว่าอุตสาหกรรมที่ไทยจะเน้นเป็น Key Industry ของเราคืออะไร”

 

สพลกล่าวว่าเขาอยากเห็นภาพตรงนี้ เพราะอีกไม่นานเขาเองก็จะเรียนจบแล้ว แต่ยังคงมีคำถามเรื่องอาชีพและความฝันของตัวเองอยู่ ถ้าในเรื่องของเศรษฐกิจ เขาอยากเห็นประเทศที่มีภาพตรงนี้ชัดเจนสำหรับเยาวชนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

มนัสยาเห็นตรงกัน โดยกล่าวว่าอย่างเกาหลีใต้ก็มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่มุ่งไปข้างหน้าอย่างชัดเจน หรือสิงคโปร์ก็เป็นอุตสาหกรรมการเงิน ในฐานะประชาชนไทย มนัสยาคิดว่ารัฐบาลไทยยังไม่สามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ชัดเจน ทำให้เยาวชนอาจจะยังหลงทาง ไม่รู้ว่าตัวเองจะมุ่งไปในทางไหนดี

 

ส่วนที่สองคือ สิ่งที่ได้คุยกับ THE STANDARD ในวันนี้ เธอคิดว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมากแล้ว ทั้งเรื่องครู หลักสูตร ความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าส่วนที่ยังขาดไปคือ อยากให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่าเมื่อดำเนินนโยบายไปแล้ว ตอนนี้ภาครัฐทำอะไรอยู่ และผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เพราะประชาชนอยากเห็นผลสำเร็จจริงๆ วัดผลได้จริงๆ มากกว่าการฉายเป็นภาพใหญ่

FYI
  • โครงการ APEC Voices of the Future เป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมในระดับเยาวชน โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจใน APEC มาร่วมสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นปัญหาร่วมสมัยต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สำหรับประเทศไทยนั้น กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้รับหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ทีมเยาวชนไทย (Educators) ที่เข้าร่วมประชุม APEC Voices of the Future 2022 ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการประชุมนี้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X