×

กทม. วางแนวทางดูแลหมา-แมวจรจัดในเมือง ต้นทางคุมการอนุญาตร้านขายสัตว์เลี้ยง จนถึงปรับปรุงศูนย์พักพิงฯ ตั้งเป้าทำหมัน 2 แสนตัว

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2024
  • LOADING...

วานนี้ (13 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เขตประเวศ

 

ชัชชาติกล่าวว่า กรณีตลาดขายสัตว์เลี้ยงได้รับการยืนยันจากกรมอนามัยในเรื่องข้อกฎหมายว่ากิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 รวมถึงกิจการประเภทสปา อาบน้ำ ตัดขน ต้องมีการขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งหมด

 

ในขณะเดียวกันหากจะจำหน่ายสัตว์ก็ต้องขอใบอนุญาตกับกรมปศุสัตว์ด้วย โดยพื้นที่หลักที่ กทม. เข้าไปสำรวจคือ ตลาดนัดจตุจักรพลาซ่า, สนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ซึ่งผู้ค้าจะต้องขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า สัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องดูแลสัตว์ เรื่องกิจการการค้าสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรื่องดูแลหมาและแมวจรจัด เพราะบางครั้งร้านค้าเพาะหมา-แมวมาเป็นจำนวนมาก แล้วนำสัตว์ไปปล่อยทิ้งทำให้เกิดหมา-แมวจรจัด ซึ่งการขอใบอนุญาตจะเป็นการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง ขณะเดียวกัน กทม. มีศูนย์ที่ดูแลหมาและแมวจรจัด 2 แห่ง คือ ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เป็นสถานที่รับหมาและแมวที่มาจากการร้องเรียน 4 กรณี

 

ได้แก่ กรณีสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า กรณีกัดทำร้ายคนที่มีหลักฐานชัดเจน กรณีดุร้ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยที่มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง และกรณีเจ้าของสิ้นสภาพการเลี้ยงและไม่มีทายาทรับเลี้ยง โดยที่ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถรองรับหมา-แมวจรจัดได้ไม่เกิน 1,000 ตัว และศูนย์พักพิงสุนัข จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นศูนย์ขนาดใหญ่รองรับหมา-แมวจรจัดได้ 6,000 ตัว ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 ตัว

 

ชัชชาติกล่าวว่า ศูนย์ฯ นี้ไม่สามารถที่จะรับหมา-แมวจรจัดทั้งหมดใน กทม. ได้ แต่หลักการคือต้องทำหมัน ฉีดวัคซีนหมา-แมวจรจัดในชุมชนให้หมดเพื่อลดจำนวน โดยตั้งเป้า 200,000 ตัว ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจที่จะเลี้ยงหมา-แมวสามารถเข้ามาดูที่ศูนย์ฯ ประเวศได้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนหมา-แมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีผู้มารับไปอุปการะแล้ว 42 ตัว หรือจะบริจาคอาหารก็ได้เช่นกัน

 

“เราไม่ได้ละเลยเรื่องหมา-แมวจรจัด แต่กำลังปรับโครงสร้างให้ดีและเป็นระบบมากขึ้น เพราะเรื่องหมา-แมวจรจัดเป็นเรื่องใหญ่ ต้องช่วยกันดูแล หากพบปัญหาร้านไหนมีการทารุณกรรมสัตว์ สภาพแวดล้อมไม่ดี มีปัญหาเรื่องสุขภาวะของสัตว์ หรือบริเวณใดมีหมา-แมวจรจัดจำนวนมากต้องการให้เข้าไปทำหมัน ฉีดวัคซีน สามารถแจ้งพิกัดเข้ามาที่ Traffy Fondue ได้” ชัชชาติกล่าว

 

สำหรับผู้ที่สนใจรับเลี้ยงหมาและแมว หรือบริจาคอาหาร สามารถติดต่อได้ที่ 

เพจเฟซบุ๊ก BKK Adopter: www.facebook.com/profile.php?id=61561000349696 เบอร์โทรศัพท์ 0 2328 7460

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising