วันนี้ (7 มีนาคม) เพจเฟซบุ๊กกองบัญชาการกองทัพไทย Royal Thai Armed Forces Headquarters รายงานว่า ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัด ตาก ได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวบุคคลสัญชาติจีนที่ถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา กลับประเทศต้นทาง ตามคำร้องขอของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
จากการประสานงานระหว่างรัฐบาลไทย-เมียนมา-จีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันและกำหนดให้การส่งตัวบุคคลสัญชาติจีนจำนวน 1,439 คน ผ่านทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2568 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็นวันละ 456 คน และวันสุดท้าย จำนวน 71 คน เพื่อให้เป็นไปอย่างเป็นระเบียบและเป็นไปตามมาตรการด้านความมั่นคง
โดยมีกระบวนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
- การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองกำลังนเรศวร, ตำรวจภูธรจังหวัดตาก, ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก และฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยและดำเนินการส่งตัวบุคคลสัญชาติจีนให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งมีการจัดเตรียมรถบัส 12 คัน นำบุคคลสัญชาติจีนเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบประวัติ ณ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2
- การตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมาย โดยตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ได้ดำเนินการปฏิเสธการเข้าเมืองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พร้อมทั้งมีการบันทึกข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) และลงบัญชี Blacklist เพื่อป้องกันการกลับเข้ามาในราชอาณาจักร
- การส่งตัวกลับประเทศต้นทาง โดยบุคคลสัญชาติจีนเดินทางจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ไปยังสนามบินแม่สอด ซึ่งทางการจีนได้จัดเตรียมเที่ยวบินพิเศษ 6 เที่ยวบิน เพื่อดำเนินการส่งตัวกลับประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 พล.อ. อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ หัวหน้าศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน (ศอ.ปชด. ส่วนหน้า) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การปฏิบัติตามขั้นตอนในการส่งตัวชาวต่างชาติที่ถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในเมียนมากลับประเทศต้นทาง
ณ อาคารที่ทำการสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ทางฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา และที่สนามบินแม่สอด โดยได้ร่วมประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในการส่งตัวบุคคลสัญชาติจีนกลับประเทศต้นทางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกส่งตัวกลับ เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในอนาคต
อ้างอิง: