วันนี้ (19 ตุลาคม) วลัย บุปผา คณะทำงานพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ กล่าวถึงนิทรรศการ ‘ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ’ สัญจรนราธิวาส โครงการรำลึก 20 ปีตากใบ: คืนความยุติธรรมสู่ความทรงจำ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2567 วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. ที่อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ว่า เราต้องการให้ผู้คนจดจำเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบในปี 2547 ผ่านความทรงจำของครอบครัวและญาติที่มีต่อบุคคลอันเป็นที่รัก ในนิทรรศการนี้
เหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 วันหนึ่งของเดือนถือศีลอด นับเป็นความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในห้วงเวลา 20 ปีของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ นิทรรศการนี้มาจากการทำงานภาคสนามกับครอบครัวผู้เสียชีวิต สูญหาย และบาดเจ็บจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ท่ามกลางความเงียบ ความคับข้องใจ ความหวาดกลัว และไร้สุ้มเสียง การรวบรวมประสบการณ์และความทรงจำของผู้ได้รับผลกระทบคือความพยายามต่อสู้กับการพยายามทำให้ลืม ความอยุติธรรม และการลอยนวลพ้นผิดของรัฐ
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้จัดทำนิทรรศการชุดแรกชื่อ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ เปิดพื้นที่ทางความทรงจำ สร้างบทสนทนาที่ลึกซึ้งและเปิดกว้างระหว่างเจ้าของวัตถุทรงจำ ผู้ชม และคณะทำงาน จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ นำมาสู่นิทรรศการชุดที่สอง ‘ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ’ เพื่อความเงียบได้เปล่งเสียง เพื่อถ้อยคำได้สื่อสาร และวัตถุพยานได้บอกเล่าเรื่องราว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อไม่ให้อาชญากรรมของรัฐเกิดขึ้นซ้ำ
นิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547’ เป็นจุดเริ่มแรกมาจากที่เราต้องการรู้ว่าคนในพื้นที่รู้สึกอย่างไรหากมีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสันติภาพอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
จึงนำมาซึ่งการทำงานวิจัยด้วยกัน โดยพบว่าคำถามที่เราถามไปได้ผลลัพธ์ออกมาว่า หากจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ ซึ่งแรกเริ่มจากคนในพื้นที่ชายแดนใต้ อยากให้จัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ มากกว่า และอยากสื่อสารชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นปกติและไม่ปกติเหล่านั้นให้คนที่กรุงเทพฯ ฟัง
วลัยกล่าวว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบทำให้มีประชาชนเสียชีวิตมากถึง 85 คน ทำให้เราคิดว่าการมีหอจดหมายเหตุจะสามารถช่วยบันทึกความทรงจำในวันนั้นได้ จึงเริ่มต้นที่ประเด็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ เพื่อจะสื่อสารกับทุกคนว่าเรากำลังทำความเข้าใจและเรียนรู้กระบวนการยุติธรรมของรัฐ วัฒนธรรมการลอยนวลและพ้นผิดของรัฐ ที่ไม่ควรจะดำรงอยู่ในสังคม และรัฐเองควรจะมีบทเรียนจากบาดแผลความทรงจำ ความรู้สึก และความเจ็บปวดของประชาชน
“นิทรรศการลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ เราไม่ได้ต้องการลดทอนจำนวนคนตาย แต่อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงชีวิตของคนที่อยู่ ไม่ได้กระทบแค่ 85 ครอบครัวที่เสียชีวิตในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบเท่านั้น แต่หมายถึงความรู้สึกร่วมของผู้คนใน 3 จังหวัด ทั้งที่มีต่อเหตุการณ์, เจ้าหน้าที่รัฐ, การกระทำของรัฐ, รัฐ แม้กระทั่งคนในพื้นที่ที่มองกันและกันด้วย” วลัยกล่าว
จุดเริ่มแรกมาจากการลงพื้นที่ ในระหว่างการเก็บข้อมูลได้เข้าไปเยี่ยมบ้านและเก็บภาพญาติผู้สูญเสียและครอบครัวจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ เราพูดคุยกับหลายบ้านจนเริ่มถามว่า ถ้าให้ญาตินึกถึงผู้เสียชีวิต เขาจะนึกถึงอะไร ความทรงจำทุกอย่างถูกบรรจุอยู่ในอากาศ, สถานที่, สิ่งของ, ความรู้สึก, เรื่องราวที่เขาเล่า เรียกว่าเรื่องเล่าจากคนหนึ่งเล่าให้อีกคนฟัง จากทีมงานที่ทำงานด้วยกัน สังเคราะห์ผ่านวัตถุ สะท้อนผ่านการจัดแสดง กลายเป็นนิทรรศการที่สื่อสารผ่านความทรงจำและวัตถุ เช่น
‘แก้วน้ำของพ่อ’ ที่ญาติผู้สูญเสียพ่อจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบเล่าว่า ภาพจำของเขากับพ่อ พ่อเป็นคนดี ขยัน ตื่นเช้ามาก แม่จะชงน้ำชาไว้ให้ ก็จะมีแก้วประจำตัว ซึ่งแก้วนี้ไม่ได้สะท้อนแค่ความทรงจำของครอบครัว แต่สะท้อนลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มักจะดื่มชาตอนเช้าและใช้แก้วแบบนี้ จึงไม่ได้เป็นความทรงจำเฉพาะบุคคล แต่ยังเป็นความทรงจำร่วมของพื้นที่ด้วย
‘เรื่องผ้าโสร่ง’ มาจากแม่ที่สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบเก็บผ้าโสร่งของลูกชายไว้ ตลอดช่วงชีวิตของลูกชายเธอมีความทรงจำว่า ลูกชายเป็นเด็กดี และทุกครั้งที่ลูกชายจะไปละหมาด จะอาบน้ำและหยิบผ้าโสร่งผืนนี้ไปใส่ ซึ่งแม่ยังเก็บผ้าโสร่งผืนนั้นไว้จนถึงวันนี้
สำหรับผ้าโสร่งนั้น ในพื้นที่ชายแดนใต้แสดงถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่นี้ว่าแต่งกายอย่างไร เช่นเดียวกันกับชุดรายอ, ชุดโต๊ป, ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ, เบ็ดตกปลา ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบที่ถูกนำมาจัดแสดง
“เรานิทรรศการจัดครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2566 หลังจากนั้นจัดที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ซีจังซั่น, บีซีซี ฮอลล์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), De’ Lapae Art Space Narathiwat และกลับมารำลึกที่ 20 ปีที่จังหวัดนราธิวาส”
วลัยกล่าวอีกว่า ตลอดเวลาที่จัดนิทรรศการ หลังจากกลับมาที่บ้านนราธิวาสปีที่แล้ว เราเชิญผู้คนที่เป็นเจ้าของมาดูนิทรรศการ มีวงคุยกันแบบวงปิด ต่อยอดไปสู่การทำภาพยนตร์สารคดี และเจ้าของวัตถุได้เจอกันอีกครั้งในฐานะการสนทนาทุกข์-สุข ไม่ใช่เดินทางไปศาลเหมือนกับ 18-19 ปีที่แล้ว บทสนทนากลายเป็นว่า เธอเป็นอย่างไร ทำให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อจากเหตุการณ์ได้เชื่อมโยงกัน
นิทรรศการมีความชัดเจน เรามุ่งหวังในการสื่อสารเรื่องตากใบในฐานะความทรงจำที่จะพูดถึงมนุษย์ ไม่ได้มุ่งเน้นการพูดถึงจำนวน เราพูดถึงเรื่องความรู้สึก สิ่งที่เรากำลังสื่อสาร เขาเหล่านี้ผ่านภาวะทุกข์ยากต่างๆ, การต่อสู้, ความเข้มแข็ง, ความหวาดกลัว มาตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี และเส้นทางในระหว่างนั้น 20 ปี รัฐคืนอะไรให้เขาหรือยัง ความยุติธรรม เราไม่ได้พูดถึงการเยียวยาที่เป็นจำนวนเงิน แต่คุณดูแลจิตใจเขาอย่างไร คำขอโทษเดินทางไปถึงไหนแล้ว
วลัยกล่าวอีกด้วยว่า เราพยายามให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกับรัฐ วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเป็นอย่างไร ซึ่งทุกคนในประเทศไทยควรจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่แค่กรณีตากใบ แต่หมายรวมถึงคดีอื่นๆ ในประเทศด้วย นิทรรศการในครั้งนี้เราต้องการรำลึก 20 ปี คืนความยุติธรรมสู่ตากใบ เราอยากตั้งคำถาม ชาวบ้านต่อสู้ หยัดยืนมานานขนาดนี้ เสียงของชาวบ้านสะท้อนไปถึงผู้คนในพื้นที่และคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน เรามีความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์มากขนาดไหน ความเข้าใจต่อบุคคล และรัฐเองมีความเข้าใจต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด
ท้ายที่สุดแล้วเราไม่รู้ว่า 20 ปีคดีตากใบ รัฐจะสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้หรือไม่ และชาวบ้านจะต้องรู้สึกอย่างไร แต่สิ่งเดียวที่เขาพูดกับเรามาตลอดคือ เขาขอแค่ความยุติธรรม