×

ตากใบ 2567: รัฐลอยนวลพ้นผิด

21.10.2024
  • LOADING...
ตากใบ

ก้าวที่พลาดของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแพทองธาร

ความล่าช้าและลักลั่นของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในการตัดสินใจรับผิดชอบต่อกรณีผู้ต้องหาคดี ตากใบ โดยเฉพาะกรณี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่เป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย และบทบาทของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนก็ย่อมถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าฐานคิดเรื่องนี้ไม่ได้วางหลักอยู่ที่ประเด็นสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและความรับผิดรับชอบทางการเมือง แต่กลับเป็นว่าความล่าช้าและไม่จริงจังของหัวหน้าฝ่ายบริหารถูกทำให้เหลือแต่เพียงมิติทางการเมือง น้ำหนักแห่งความรับผิดรับชอบทางการเมืองที่แสดงออกต่อกรณี ตากใบ เหลือแต่เพียงเป็นการกระทำของบุคคล วิธีลัดและง่ายที่สุดคือการให้ผู้ต้องหาลาออกจากสมาชิกพรรคการเมือง และพรรคก็บอกว่าไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป

 

ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองของพรรคการเมืองด้วยวิธีผ่านกฎ กติกา กฎหมาย ต่อความตายของพี่น้องพลเมืองร่วมสังคมไทยเรา เป็นการกระทำที่ตอกย้ำให้เห็นถึงหลักคิด หลักปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 20 ปีผ่านมา รวมทั้งเลือกจะหลีกเลี่ยงเผชิญหน้ากับความจริงผ่านกระบวนยุติธรรม อันเป็นวิธีการเดิมๆ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนแล้วลอยนวลพ้นผิด

 

ผีการก่อการร้ายสากลกับแนวคิดความมั่นคง

ความผิดพลาดของการวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมิติความมั่นคงแบบรัฐ โดยเชื่อมต่อกับการก่อการร้ายสากล นับตั้งแต่ขวบปีแรกจนถึงปัจจุบันของบรรดาอดีตแม่ทัพ นักวิชาการฝ่ายความมั่นคง นักสื่อสารมวลชน กรอบคิดเช่นนี้นำพาพวกเขาให้เชื่อว่าขบวนการติดอาวุธในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อการร้ายสากล และอาจจะมีกลุ่มสนับสนุนจากต่างชาติ มีนักรบต่างชาติเข้ามาร่วมขบวนการต่อสู้ที่ชายแดนใต้/ปาตานี หากทว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่พบหลักฐานใดๆ ในการเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล ไม่ว่าขบวนการเจมาห์ อิสลามิยาห์, อัลกออิดะห์, ไอซิส ฯลฯ

 

การมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผูกโยงกับการก่อการร้ายสากล ทำให้การแก้ปัญหาติดกับมิติศาสนาหรือการก่อตั้งรัฐอิสลาม ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาก่อนเรื่องการก่อการร้ายสากล หรือการเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (9/11) การสมาทานความคิดสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้ข้ามมิติประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ ของผู้คนในพื้นที่ (ความเป็นมลายู) กับลักษณะเฉพาะของรัฐไทย (ความเป็นไทย) ที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ไปสู่ใจกลางความต้องการของพื้นที่และมองเหลือแต่เพียงมิติทางด้านศาสนาเท่านั้น ทำให้เกิดการขยายความคิดเป็นการปะทะกันระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นๆ มองไม่เห็นความหลากหลายในตัวคนมุสลิม/มลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

ซ้ำร้ายวิธีคิดแบบความมั่นคงยังไม่สามารถแยกมิตรแยกศัตรู สับสนปนเป อย่างเช่นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบางหน่วยงานที่เชื่อมโยงนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการ และตีตราว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย โดยได้เพียงแค่ข้อมูลที่เปิดเผยในที่สาธารณะจากสำนักข่าวและสื่อออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

 

วิธีการที่มักง่ายและการทำงานแบบตื้นเขินอย่างยาวนานส่งผลให้ทางเลือกการแก้ปัญหาเป็นไปในลักษณะการกดปราบ ทั้งลดทอนการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการเมืองที่ต้องมุ่งเน้นในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ใช้กลไกรัฐสภาเป็นทางออก ไม่ใช่มองเห็นว่ากลไกรัฐสภากลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ BRN ซึ่งเป็นความผิดพลาดมหาศาลของเหล่านักคิด นักวิชาการฝ่ายความมั่นคง ที่ใช้กรอบคิดความมั่นคงแบบสงครามเย็นมาอธิบายความรุนแรงที่มีพลวัตสูงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนหนึ่งท่านหลับไปตลอดเวลา 20 ปี แล้วเพิ่งฟื้นตื่นมาในปีที่ 20 จึงหยิบฉวยความฝันค้าง เอากรอบคิดในอดีตมาอธิบายปัจจุบันอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้คนในพื้นที่โดยไร้หลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล เป็นการปลุกผีที่มาหลอกคนในตอนกลางวันแสกๆ

 

หน้าตาของผู้ต่อสู้คดีตากใบกับรัฐ

ญาติมิตรและครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ภรรยา/แม่) และลูกของพวกเขา ด้วยสภาพความเป็นจริงพวกเขาแทบไม่คล่องแคล่วในการใช้ภาษาไทย และมิต้องพูดถึงความรู้ทางด้านกฎหมายก็ยิ่งห่างไกลนัก การนำพาตัวเองไปที่ศาลและตามหน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำตามกรอบภาระหน้าที่ของตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาไม่คิดมาก่อน ไม่นับรวมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสูญเสียเวลาหลายปีไปกับเรื่องทั้งหมดนี้

 

ทั้งหมดคือความพยายามของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่เคยมีอำนาจเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกร้องความยุติธรรม นี่คือสภาพความเป็นจริงของผู้คนที่ต้องสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรม

 

ความยุติธรรมในชั้นศาลถือว่าเป็นพื้นที่สุดท้ายของครอบครัวและญาติของผู้สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ ตากใบ การลุกขึ้นมาทวงถามหาความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมาสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังสื่อความหมายว่าเขาเหล่านั้นยังคงเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยสิทธิพลเมืองของประเทศไทยตามกฎหมาย มิได้เลือกใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมายในการเรียกคืนความยุติธรรมแต่อย่างใด

 

ความหวังและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยคือหนทางเดียวที่จะปกป้องไม่ให้คนที่ถูกกระทำเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไม่รู้จบ แต่หากฟากฝั่งรัฐด้อยค่าหนทางที่เขาเลือกโดยการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรทำตามกฎหมายแล้วนั้น ความสงบในพื้นที่ก็ยังคงเป็นความหวังอีกยาวไกลอย่างแน่นอน คำถามคือเราจะเริ่มนับหนึ่งเพื่อความยุติธรรม หรือเราจะนับต่อปีที่ 21 เพื่อตามหาคนผิดที่ลอยนวล

 

การชุมนุมของชาวบ้านที่ตากใบคือสันติวิธี

การอธิบายที่เรียวแคบและลดทอนข้อเท็จจริงของผู้เข้าชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบให้เหลือแต่มิติความมั่นคง โดยมองว่าเป็นการจัดตั้ง มีการระดมคน (Organize) และเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ติดอาวุธ หากทว่าข้อเท็จจริงของผู้เข้าชุมนุมมีหลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม โศกนาฏกรรมตากใบถือว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐและต้องมีคนรับผิดชอบที่มีชาวบ้านเสียชีวิต การไม่แยกแยะ จำแนกวิธีการเรียกร้องสิทธิ ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติ กับการเคลื่อนไหวติดอาวุธ เป็นเนื้อเดียวกัน และมองแบบเหมารวมทั้งหมดว่าต้องเป็นขบวนการเดียวกัน วิธีการคิดและมองเช่นนี้ของหน่วยงานความมั่นคง บวกกับกระแสการก่อการร้ายสากล ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรมราวกับเป็นอริศัตรูของชาติ ทั้งที่ข้อเท็จจริงผู้ชุมนุมพันกว่าคนไม่ได้มีอาวุธหนักและทำให้เจ้าหน้าที่ต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

‘มุมมองใหม่’ ที่นักวิชาการเสนอต่อเหตุการณ์ตากใบนั้น นอกจากจะไม่มีอะไรใหม่ด้วยกรอบคิดความมั่นคงเดิมแล้ว ยังตอกลิ่มการด้อยค่าชีวิตพลเมืองภายใต้รัฐไทยในเหตุการณ์ประท้วงอย่างสันติเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยการอธิบายว่าเหตุการณ์ตากใบต่างกับเหตุการณ์ประท้วงอื่นๆ ด้วย เพราะ ‘ไม่มีการกราดยิง’ การตายของคน 75 ชีวิตนั้นเป็น ‘ความผิดพลาด’ จากการขนย้าย (เท่านั้น?) คำอธิบายเช่นนี้เองที่ส่งเสริมรักษาให้ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อเนื่องจนไม่เห็นหนทางสิ้นสุด

 

ความยุติธรรมคือหนทางสู่ความสมานฉันท์

การเปิดเผยความจริงและความยุติธรรมกรณีตากใบคือโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ ย่อมส่งผลต่อแผนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะเริ่มต้นขึ้นใหม่ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมที่ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) วาระปี 2568-2570

 

แต่ทั้งหมดจะไม่มีประโยชน์ใดๆ หากรัฐบาลยังเลือกที่จะก้าวในกรอบความคิดความมั่นคงแบบเดิม ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐลอยนวลพ้นผิด (Impunity State) ที่อนุญาตให้รัฐผลิตซ้ำด้วยการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง นำไปสู่การพ้นผิดลอยนวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

คำถามจึงมีอยู่ว่า การเปิดเผยความจริงและให้ความยุติธรรมในเหตุการณ์ตากใบ เราจะมองเป็นเรื่องการเมืองหรือความเป็นมนุษย์?

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X