×

ชวนดูสถิติ 30 ปี คนในไต้หวันคิดว่าตัวเองเป็น ‘คนจีน’ หรือ ‘คนไต้หวัน’

28.09.2022
  • LOADING...

วานนี้ (27 กันยายน) ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จัดเสวนาในประเด็น ‘Ukraine, Taiwan: Strait & Stress’ ซึ่งเหล่าวิทยากรได้บรรยายถึงสถานการณ์ในยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจ อย่างเช่น กรณีความตึงเครียดเหนือช่องแคบไต้หวัน หลังการปรากฏตัวของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันคุกรุ่นมากขึ้นกว่าเดิม 

 

กรณีของไต้หวันนั้นถือว่าน่าจับตาอย่างมาก เพราะจีนมองว่ากรณีไต้หวันเป็นเรื่องที่อันตรายและมีความผันผวนสูงขึ้น โดยเวลานี้สหรัฐฯ กำลังพิจารณากฎหมายที่จะยกระดับไต้หวันเป็น Major Non-NATO Ally (MNNA) หรือพันธมิตรสำคัญที่ไม่ใช่กลุ่ม NATO ซึ่งเสี่ยงที่จะสร้างรอยแตกร้าวให้กับความสัมพันธ์ของระหว่างสองดินแดนมากขึ้นด้วย ขณะที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่า ความตึงเครียดที่ซึมลึกขึ้นเรื่อยๆ นั้นจะนำไปสู่การเกิดสงครามใหญ่ในช่องแคบไต้หวันหรือไม่ ท่ามกลางกระแสการเมืองในไต้หวันที่เราเห็นภาพการเรียกร้องเอกราชเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต

 

วันนี้ THE STANDARD จึงขอชวนทุกคนมาดูสถิติที่น่าสนใจจากศูนย์ศึกษาการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ซึ่งได้จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไต้หวันตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ว่าพวกเขามองตัวเองเป็น ‘คนไต้หวัน’ หรือ ‘คนจีน’

 

ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงหลังสงครามเย็น ไต้หวันมีเสรีภาพมากขึ้น ขณะที่พัฒนาการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็แยกจากจีนค่อนข้างชัดเจนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้สังคมไต้หวันเริ่มมีความรู้สึกว่าตนเองมีความแตกต่างจากจีน อัตลักษณ์ของไต้หวันจึงเกิดขึ้น

 

จากกราฟเราจะเห็นเส้นสีน้ำเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชาชนในไต้หวันได้นิยามตัวเองว่าเป็นคนไต้หวันเต็มตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น ขณะที่เส้นสีชมพูซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มองว่าตัวเองเป็นทั้งคนจีนและคนไต้หวันมีแนวโน้มลดลง ส่วนเส้นสีแดงซึ่งแทนกลุ่มคนที่มองว่าตัวเองเป็นคนจีนอย่างเดียวนั้นลดลงมาก โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวจีนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวันช่วงปี 1949 

 

ที่น่าสนใจคือ การนิยามตนเองของประชาชนที่อยู่ในไต้หวันนั้นเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคในไต้หวันด้วย ยกตัวอย่างเช่น พรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ที่นโยบายของพรรคสามารถจุดติดในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

อย่างไรก็ตาม หากมาดูอีกผลสำรวจหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า คนในไต้หวันอยากเป็นเอกราชจากจีนหรือไม่นั้น คำตอบคือ คนส่วนใหญ่ต้องการคงสถานภาพที่เป็นอยู่ไว้เช่นเดิม (Status Quo) โดยผลสำรวจเฉพาะในปี 2022 ระบุว่า 28.6% อยากให้คงสถานภาพไว้ ‘อย่างไม่มีกำหนด’ ส่วน 28.3% ระบุว่า อยากให้คงสถานภาพไว้ ‘แล้วจึงตัดสินใจทีหลัง’ และ 25.2% ระบุว่า อยากให้คงสถานภาพไว้ ‘แล้วแยกเป็นเอกราชในภายหลัง’ ซึ่งประเด็นหลังสุดนี้น่าสนใจมาก เพราะสัดส่วนคนที่อยากให้แยกตัวเป็นเอกราชในอนาคตนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างมากหากดูกราฟในช่วงปี 2018-2022 สอดคล้องกับเทรนด์ความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไต้หวันปัจจุบัน

 

 

หมายเหตุ: ผลการสำรวจนี้สอบถามประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน โดยสอบถามประชาชนตั้งแต่ราว 4,000-34,000 คนตลอดช่วง 30 ปี (1992-2022)

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X