×

ฟังคนในไต้หวันเล่า คิดอย่างไรกับการเยือนของเพโลซี ‘ชิล’ จริงไหม แม้จีนตอบโต้

07.08.2022
  • LOADING...
ไต้หวัน

การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งการจับตาของทั่วโลก ถึงปฏิกิริยาตอบโต้ของจีนต่อการเดินทางดังกล่าว (ซึ่งมี เช่น การซ้อมรบ การแบนการนำเข้าสินค้าไต้หวัน เป็นต้น) และคำถามที่ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเดินไปสู่จุดใด

 

อย่างไรก็ตาม อีกด้านที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ มุมมองของคนในไต้หวันเองว่ามองเรื่องนี้อย่างไร และพวกเขากังวลกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่

 

เพื่อหาคำตอบ THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับชาวไต้หวันและคนไทยที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนสำรวจปฏิกิริยาของชาวไต้หวันผ่านสื่อต่างประเทศอื่นเพิ่มเติม และขอมุมมองจากนักวิชาการไทยให้ช่วยวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้นต่อการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของเพโลซีดังกล่าว

 

หลี่: ผู้สื่อข่าวอิสระและนักเขียนด้านเทคโนโลยีชาวไต้หวัน วัย 27 ปี

  • เราเริ่มต้นพูดคุยกับ ‘หลี่’ ผู้สื่อข่าวอิสระและนักเขียนด้านเทคโนโลยีชาวไต้หวัน วัย 27 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงไทเป เธอระบุว่า ในไต้หวันมีผู้คนที่มีทัศนคติต่อประเด็นจีนและสถานะของไต้หวันที่หลากหลาย แต่เธอรู้สึกว่ากลุ่มคนที่อยากให้ไต้หวันเป็นแกนนำในการรวมเข้ากับจีนนั้นค่อนข้าง ‘หาได้ยาก’

 

  • หากแบ่งผู้คนโดยทั่วๆ ไปตามความเห็นในเรื่องนี้ ก็อาจแบ่งได้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนและต้องการรวมกับจีน ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรตัดขาดกับจีนโดยสิ้นเชิง เพราะในแง่เศรษฐกิจ ไต้หวันอาจยังต้องพึ่งพาจีนอยู่เล็กน้อยเพื่อการเติบโต ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ชอบจีนก็ได้ เธอบอกว่าบางทีคนกลุ่มนี้ก็เหมือน ‘คนที่อยากรักษาสถานภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่’ และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่เธอเรียกว่ากลุ่ม ‘โปรสหรัฐฯ’ ซึ่งต้องการทำการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น และเชื่อว่าจีนจะไม่กล้าโจมตีไต้หวัน หากสหรัฐฯ อยู่ข้างไต้หวัน

 

  • เธอเล่าต่อว่า ในไต้หวันมี ‘ข่าวลือ’ ถึงการมาเยือนของเพโลซีตั้งแต่ราว 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า และทุกคนได้แต่คาดเดา “จนกระทั่ง 1-2 วันก่อนการมาเยือน พวกเราจึงมั่นใจแน่ๆ ว่าเธอจะมา” หลี่ระบุ

 

  • ปฏิกิริยาของรัฐบาลไต้หวันในช่วงก่อนการมาเยือนนั้นเป็นส่วนที่หลี่ระบุว่า ‘แปลกที่สุด’ เพราะรัฐบาลไต้หวันเพียงแต่บอกว่า พวกเขายินดีต้อนรับเพโลซีอย่างแน่นอน “แต่พวกเขาไม่ได้พูดถึงอะไรเกี่ยวกับจีนและความสัมพันธ์ของเรา (ไต้หวัน) กับจีนเลย”

 

  • ทั้งนี้ เธอเองก็ไม่คิดว่าเพโลซีจะเดินทางมาจริง เพราะเธอรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดี เนื่องจากกำลังจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน (ซึ่งคาดกันว่าประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จะได้ครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3) นอกจากนี้ยังมีท่าทีของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ดูไม่ค่อยสนับสนุนการเดินทางของเพโลซี ตลอดจนตารางการเดินทางของเพโลซีที่ถูกเผยออกมาก่อนหน้า ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงไต้หวัน นอกจากนี้เธอก็บอกว่า คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเพโลซีจะ ‘ไม่มา’ เช่นกัน

 

  • แต่เมื่อมันเกิดขึ้นจริง หลี่ระบุความเห็นส่วนตัวว่า เธอคิดว่าไต้หวันเป็นหมากที่กำลังถูกควบคุมและจัดการโดยสหรัฐฯ และจีน โดยเธอมองว่าการมาเยือนของเพโลซีนั้นเป็นเพราะในเดือนพฤศจิกายน สหรัฐฯ กำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมเกิดขึ้น และเพโลซีก็ต้องการผลงานอันโดดเด่นก่อนเกษียณอายุ นอกจากนี้เธอมองว่าเพโลซียังไม่ได้ให้การช่วยเหลือไต้หวัน ‘อย่างเป็นรูปธรรม’ เพียงแต่มีการประชุมร่วมกันเท่านั้น “ดังนั้นฉันไม่คิดว่ามันเป็นการเยือนที่มีความหมายอะไร” เธอระบุ

 

  • นอกจากนี้เธอยังบอกว่าคนในไต้หวันจำนวนมากก็ไม่ได้ติดตามข่าวมากขนาดนั้น และเนื่องจากคนไต้หวัน ‘ชินแล้ว’ กับความขัดแย้งในลักษณะนี้ เมื่อมีบรรดาบุคคลตำแหน่งสูงในระดับนานาชาติเดินทางมา และจีนก็จะไม่พอใจ ตามด้วยการเริ่มขู่ไต้หวัน ดังนั้นเธอจึงบอกว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่รู้สึก ‘เฉยเมย’ ในกรณีที่เกิดขึ้น

 

  • “ถ้าคุณอยู่ในไต้หวันตอนนี้ คุณอาจค่อนข้างตกใจกับสถานการณ์นี้ เพราะผู้คนต่างใช้ชีวิตของพวกเขาโดยแท้จริง ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ และผู้คนก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก” หลี่กล่าว

 

  • อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ต่างออกไปเล็กน้อย เพราะความตึงเครียดถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นประวัติการณ์ และจีนก็มีการกระทำที่แข็งกร้าวกว่าที่เคย ดังนั้นจนถึงขณะนี้ผู้ที่เคยรู้สึก ‘เฉยเมย’ ก็กำลังกังวลกับสถานการณ์อยู่เล็กน้อย เนื่องจากไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และไม่ทราบว่าการฝึกซ้อมทางทหารที่กำลังดำเนินอยู่จะพัฒนาไปสู่สิ่งอื่นหรือไม่ แม้ว่าจะไม่ถึงขั้น ‘ตื่นตกใจ’ ก็ตาม

 

  • เมื่อเราถามต่อไปถึงสาเหตุที่ทำให้เธอมองว่าคนไต้หวันส่วนหนึ่งเฉยเมยกับสถานการณ์นี้ เธอบอกว่าเป็นเพราะหลายสาเหตุประกอบกัน ทั้งการที่ชาวไต้หวันต้องอยู่ในสถานการณ์หรือความขัดแย้งทำนองนี้มามากกว่า 70 ปีแล้ว ผู้คนจำนวนมากไม่คิดว่าจีนจะโจมตีไต้หวันจริงๆ เนื่องจากเราอยู่ในโลกสมัยใหม่และไม่มีใครต้องการสงคราม ดังนั้นคนจำนวนมากจึงไม่คิดว่าจะเกิดสงครามขึ้น นอกจากนี้เธอยังมองว่า เสมือนชาวไต้หวันใช้ชีวิตใน ‘คอมฟอร์ตโซน’ เพราะสถานการณ์ที่ไต้หวันต่างจากในฮ่องกงหรือในยูเครน ที่มีความพยายามควบคุมจากดินแดนที่มีความแข็งแกร่งกว่า แต่ไต้หวันถูกแยกออกมาด้วยช่องแคบไต้หวัน

 

  • เธอยังให้ความเห็นว่า ในไต้หวันมีข่าวต่างประเทศน้อยไป จึงยังขาดมุมมองในระดับโลก ซึ่งเธอบอกว่าอาจเป็นเพราะไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศได้ และหลายๆ ครั้งไต้หวันก็ถูกโดดเดี่ยวจากโลก แม้แต่ในช่วงโรคระบาดใหญ่ก็ตาม

 

  • และเมื่อถามถึงมาตรการตอบโต้ต่างๆ จากทางการจีนที่ออกมา เธอบอกว่า คนไต้หวันบางคนคิดว่าจีนเพียงแค่พยายามจะขู่ไต้หวัน แต่จะไม่ทำสงครามจริง ผู้คนเชื่อว่า นี่เป็นเพียงอากัปกิริยาที่จีนต้องแสดงออก เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งของตน และสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่จีนปล่อยให้เกิดขึ้นและปล่อยผ่านไปไม่ได้

 

  • เธอเองไม่คิดว่าจีนจะได้อะไรจากเรื่องนี้ และการเยือนของเพโลซีสร้างความเจ็บปวดให้กับจีนมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ ส่วนสหรัฐฯ เองน่าจะได้ประโยชน์จากการที่เพโลซีแสดงความสนับสนุน และทำให้รัฐบาลไต้หวันเองต้องการที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ด้วย อย่างไรก็ตาม การที่จีนประกาศระงับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ก็ทำให้เธอเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่เธอก็ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด

 

  • เมื่อถามถึงมุมมองของคนไต้หวันในประเด็นความเป็นไปได้เกี่ยวกับสงคราม หลี่เล่าว่า ในไต้หวันมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ได้แก่ ขั้วที่กังวลเกี่ยวกับสงคราม และขั้วที่ไม่กังวลเลย โดยหลี่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มแรก เธอมองว่าขณะนี้เป็นสัญญาณว่าจีนจะทำอะไรสักอย่าง และจะ ‘เทกแอ็กชัน’ มากกว่าที่เคย และเธอคิดว่าคนไต้หวันควรตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากนี้เธอมองว่าถ้าเทียบการฝึกทหารของไต้หวันแล้วยังเทียบไม่ได้กับการฝึกทหารของจีน ส่วนสหรัฐฯ เองหากมีสงครามก็ไม่น่าจะเข้าร่วมโดยตรง แต่อาจสนับสนุนอาวุธให้ในจำนวนมากมากกว่า

 

แซม: นักธุรกิจชาวไต้หวัน วัย 25 ปี

  • เราพูดคุยต่อกับนักธุรกิจชายชาวไต้หวันวัย 25 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงไทเปเช่นกัน เขายินดีพูดคุยกับเรา แต่ขอให้เราใช้นามสมมติว่า ‘แซม’

 

  • เขาอธิบายว่า คนวัยหนุ่มสาวชาวไต้หวันจำนวนมากในปัจจุบันระบุตนเองว่าเป็น ‘คนไต้หวัน’ และไม่คิดว่าตนเป็น ‘คนจีน’ รวมถึงไม่คิดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วย ขณะที่คนวัยกลางคนส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่าตนเองเป็นคนไต้หวันเช่นกัน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจนิยมเรียกชื่อไต้หวันว่าเป็น ‘สาธารณรัฐจีน’

 

  • ส่วนผู้ที่สูงอายุกว่านั้นเขาบอกว่า บางคนเป็นผู้ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1945 “แน่นอน พวกเขากล่าวว่าพวกเขาคือคนจีน” แซมระบุ และผู้สูงอายุที่เหลือก็คือผู้ที่อยู่อาศัยที่นี่มาแต่ดั้งเดิม หรืออพยพมาจากจีน ญี่ปุ่น หรือที่ใดๆ ในช่วงก่อนหน้านั้นอีก

 

  • เขาระบุว่า ยังมีผู้ที่ต้องการรวมกับจีนอยู่บ้าง มีผู้ที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นเอกราช (ซึ่งเขาบอกว่ารวมถึงคนวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก) มีคนที่ไม่แสดงความเห็นใดๆ แล้วก็มีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการคงสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยแซมเสริมว่า แม้ไต้หวันจะต้องการคงสถานะเดิม แต่เนื่องจากจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเติบโตและมีอำนาจมากขึ้น ทำให้มีบางประเทศที่มีความสัมพันธ์กับทั้งไต้หวันและจีนที่ตัดสินใจลดความสัมพันธ์กับไต้หวัน “ยังมีความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ มากมายในชีวิตประจำวันของเรา แม้ว่าเราจะต้องการอยู่เฉยๆ ก็ตาม” เขาระบุ

 

  • เมื่อถามว่าเขาได้ยินข่าวเรื่องแผนการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี เป็นครั้งแรกเมื่อใด แซมตอบว่าราวครึ่งปีได้ และเขาได้ยินว่าเพราะเพโลซีติดโควิด การเดินทางจึงต้องเลื่อนมา และเขาบอกว่า ก่อนการเดินทาง รัฐบาลไต้หวันมีท่าทีในลักษณะที่ว่าเพื่อนที่เป็นมิตรในระดับสากล ซึ่งมีโอกาสเดียวกัน คุณค่าเดียวกัน และประชาธิปไตยแบบเดียวกันกับไต้หวัน จะเป็นที่ยินดีต้อนรับเสมอ และสำหรับเขาเองเขาก็เห็นว่าเพโลซีจะเป็นที่ยินดีต้อนรับเสมอเช่นกัน เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าผู้ที่มาเยือนยึดถือและให้คุณค่ากับสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพเช่นเดียวกัน “ผมว่าคุณก็เป็นที่ยินดีต้อนรับเสมอ” เขาระบุ

 

  • อย่างไรก็ตาม ในแง่ของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก๊กมินตั๋ง แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเดินทางมา โดยระบุว่า การเดินทางมาจะนำสงครามมาสู่ไต้หวัน แต่เขาบอกว่า เมื่อมีสมาชิกจากฝ่ายนิติบัญญัติของบางประเทศที่มีพรรคการเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตยสูงเดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ ก็มักจะมีคำขู่จากรัฐบาลจีนตามมา “เราเลยคิดว่ามันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” เขากล่าว

 

  • แซมยังระบุว่า ความเห็นของประชาชนหลังทราบข่าวว่าเพโลซีอาจเดินทางมาก็แบ่งเป็น 2 ฟากฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเดินทางเยือน เนื่องจากกังวลการใช้มาตรการตอบโต้และแรงกดดันจากจีน เช่น การแบนการส่งออกอาหารไปยังจีน แต่อีกกลุ่มก็บอกว่ายินดีต้อนรับ และบอกว่านี่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ถึงไต้หวัน และบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้กลัวจีน หรือหากเกิดอะไรขึ้นก็คิดว่าสหรัฐฯ จะมาช่วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่อยากอยู่เฉยๆ และเพียงแค่ดูสถานการณ์ด้วย

 

  • เมื่อถามถึงความคิดของชาวไต้หวันต่อปฏิกิริยาตอบโต้จากจีน แซมยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะในครั้งนี้นโยบายและการปฏิบัติของจีนต่างออกไปจากที่เคยอย่างชัดเจน อย่างเช่น การซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี เขามองว่าจีนจำเป็นต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ เพราะใกล้กับช่วงการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ และการไม่ทำอะไรอาจนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากประชาชน ขณะที่ฝั่งเพโลซีเองเขาก็มองว่าทำเช่นนี้เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมเช่นกัน

 

  • และแม้ชาวไต้หวันจะรู้สึกตื่นตกใจหรือกังวลมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังรู้สึกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกล่าวคล้ายๆ กับหลี่ ผู้สื่อข่าวชาวไต้หวันที่เราพูดคุยด้วยก่อนหน้านี้ ว่า นั่นเป็นเพราะเมื่อมีเจ้าหน้าที่ทางการจากต่างประเทศเยือนไต้หวัน ก็มักจะมีคำขู่จากจีนว่าจะลงโทษไต้หวันมาเสมอ จนคนไต้หวันรู้สึกคุ้นชินอยู่แล้ว และที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการจากจีนจริง แต่เขาก็มองว่ามักจะไม่ได้เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากนัก เขายังเปรียบเทียบกับความตึงเครียดเมื่อครั้งปี 1996 ที่ครั้งนั้นชาวไต้หวันรู้สึกกลัวจีนมากกว่านี้มาก และยังมีเหตุการณ์ที่ราคาที่อยู่อาศัยตกลงด้วย เทียบกับปัจจุบันที่มีผลกระทบน้อยกว่า

 

  • เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้กำลังทหารหรือสงคราม แซมระบุว่า คนหนุ่มสาวมักไม่คิดว่าจะเกิดสงครามขึ้น และเขามองว่าจีนเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อโจมตีไต้หวันด้วยซ้ำ เพราะจีนสามารถใช้การโจมตีทางเศรษฐกิจแทนได้ ดังนั้นเขาจึงมองว่ามาตรการทางทหารจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้ชาวจีนเห็นว่ารัฐบาลจีนได้ทำอะไรแล้ว มากกว่าที่จะเป็นการแสดงให้นานาชาติเห็น ขณะที่คนวัยกลางคนที่เคยทราบเงื่อนไขและสถานการณ์ความตึงเครียดเมื่อปี 1996 มาแล้วอาจมีความกลัวมากกว่า แต่ไม่ได้แสดงออกมาให้เห็น

 

  • ประเด็นสุดท้ายที่เราถามเขาคือ คิดว่าหากวันหนึ่งมีการใช้กำลังทหารเกิดขึ้นกับไต้หวัน สหรัฐฯ จะมาช่วยหรือไม่ เขาบอกว่านี่เป็นคำถามที่ถูกอภิปรายอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยบางคนที่ชอบพรรคก๊กมินตั๋งมากกว่าก็อาจบอกว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะมาช่วยไต้หวัน แต่คนที่หนุนพรรคของ ไช่อิงเหวิน ก็มีแนวโน้มที่ว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยปกป้องไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลในเชิงภูมิศาสตร์ที่ไต้หวันนั้นสามารถเชื่อมต่อไปยังญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย ดังนั้นหากมีสงคราม สหรัฐฯ ก็อาจอยู่เฉยไม่ได้ เพราะอาจกระทบความมั่นคงของสหรัฐฯ เอง เขายังบอกว่าสหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการที่ไต้หวันซื้ออาวุธของสหรัฐฯ ด้วย

 

  • แซมบอกว่า บางทีมีการคิดกันไปด้วยว่าที่สหรัฐฯ ไม่ไปยูเครนโดยตรงนั้นเป็นเพราะอยู่ไกลจากยูเครน และไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่ที่ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็จะไป และเขาเองก็มองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการให้ไต้หวันประกาศตัวเป็นเอกราชด้วย

 

คนไทยในไต้หวัน: แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว Taiwantopics.com’

  • ต่อมาเราพูดคุยกับแอดมินของเพจเฟซบุ๊ก ‘หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว Taiwantopics.com’ ซึ่งเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน เธอระบุว่า เท่าที่เธอได้สัมผัสมา คนไต้หวันอยากแยกเป็นอิสระจากจีนและอยากมีตัวตนในเวทีโลก ส่วนระดับความเข้มข้นนั้นต่างกันไป ตั้งแต่ต้องการท้าทายแข็งกร้าวกับจีนแบบสุดโต่ง หรือมีความละมุนละม่อมและไม่ต้องการมีเรื่อง เพราะยังต้องพึ่งพาและกลัวอำนาจจีน แต่ก็อาจมีเพียงเล็กน้อยที่อยากจะรวมชาติกับจีน และเท่าที่เธออาศัยในไต้หวันมานับ 10 ปี เธอยังไม่เคยเจอใครที่บอกว่าอยากรวมชาติกับจีนอย่างเต็มปาก และถ้ามีก็น่าจะเป็นคนรุ่นเก่ามาก

 

  • กับการมาเยือนของเพโลซี เธอบอกว่า เริ่มเห็นการรายงานข่าวความเป็นไปได้ของการมาเยือนนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม จากนั้นสื่อก็เริ่มนำเสนอว่าเพโลซีเป็นใคร สำคัญทางการเมืองอย่างไร ไปจนถึงมีการถกเรื่องนี้กันอย่างดุเดือด ขณะที่ไม่มีการยืนยันจากรัฐบาลไต้หวันว่าเพโลซีจะมาเยือน

 

  • แอดมินเพจหนีห่าวไต้หวันฯ ยังบอกอีกว่า มีสื่อจำนวนหนึ่งรายงานไปในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลไต้หวันพยายาม ‘โลว์โปรไฟล์’ โดยไม่มีใครกล้าระบุว่าเป็นผู้เชิญเพโลซี หรือเพโลซีเป็นแขกของใคร โดยพูดเพียงว่ายินดีต้อนรับถ้าหากมา “แอดมินเคยถามคนไต้หวันว่ามีคนเชิญมาเหรอ ได้คำตอบว่า ไม่รู้สิ มาเองมั้ง” เธอระบุ

 

  • เธอบอกว่า การมาของเพโลซีมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สื่อฝั่งรัฐบาลมีท่าทีชื่นชมและยินดีที่มีคนจากสหรัฐฯ มา ในทำนองว่าเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าไต้หวันแน่จริงและคนระดับนี้มาเยือน รัฐบาลไต้หวันแน่จริง ไม่เกรงคำขู่จีน ส่วนสื่อตรงข้ามก็ออกมาพูดถึงความได้ไม่คุ้มเสียต่างๆ และสิ่งที่รัฐบาลของ ไช่อิงเหวิน ทำพลาด ส่วนเหตุผลแท้จริงที่เพโลซีมาเยือนไต้หวันนั้นไม่มีใครรู้ และพากันคาดเดาไปต่างๆ นานา โดยฝ่ายค้านมองว่าสหรัฐฯ หาเรื่องให้ไต้หวัน และเพื่อผลประโยชน์บางประการ น่าจะเป็นเกมการเมือง

 

  • อย่างไรก็ตาม เมื่อเพโลซีมาถึง แอดมินเพจหนีห่าวไต้หวันฯ บอกว่า เท่าที่ได้คุยกับเพื่อนชาวไต้หวัน พวกเขากลับมีท่าทีไม่กังวลหรือตื่นตระหนกอะไรมากนัก “คนไต้หวันเองเหมือนค่อนข้างมั่นใจว่าถึงอย่างไรจีนก็ไม่ยิงใส่ไต้หวัน และไม่กล้ายิงใส่เพโลซีด้วย คืนนั้นและเช้าวันถัดมาคนไต้หวันใช้ชีวิตกันปกติมาก จนคนไทยที่อยู่ที่นี่เองยังงงและวิตกจริตแทน”

 

  • เธอยังบอกด้วยว่า สำหรับข่าวบนเฟซบุ๊กกรณีจีนขู่ต่างๆ จะมีคนกดอีโมจิหัวเราะเป็นจำนวนมาก แทบทุกข่าว คนไต้หวันคอยติดตามข่าวทั้งทางโทรทัศน์และทางโซเชียล ไม่มีข่าวเลยว่าคนไต้หวันแห่ซื้อตั๋วบินออกนอกประเทศหรือว่าคนไต้หวันแห่ถอนเงิน “ไม่มีข่าวประเภทนี้ออกมาเลย” เธอย้ำ โดยบอกว่า มีแต่ข่าวการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอะไรขึ้นหากเพโลซีมาจริงและหลังจากเธอไปมากกว่า

 

  • แต่ในแง่ผลกระทบที่เกิดจากมาตรการตอบโต้ของจีน อย่างเช่น กรณีการแบนสินค้าจากไต้หวัน เธอเล่าว่า สื่อต่างๆ ก็ลงข่าวแบบ ‘ชิลๆ’ ถึงการแบนที่เกิดขึ้น “คาดว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจีนจะมาแนวไหน เพราะจีนมีการแบนสินค้าไต้หวันมาเรื่อยๆ โดยตลอด หากมีสถานการณ์ที่ทำให้จีนเกิดความไม่พอใจ” เธอระบุ

 

  • อย่างไรก็ตามเธอบอกว่า มาตรการแบนสินค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเพโลซีเดินทางมา และหนักที่สุดคือกรณีไม่ยอมส่งทรายธรรมชาติมาไต้หวัน ซึ่งผู้ที่ดูจะเดือดร้อนจริงคือภาคส่งออก บริษัทส่งออก รวมไปถึงเกษตรกร ส่วนมาตรการของภาครัฐไต้หวันที่ออกมาแจกเงินอุดหนุนก็ดูชดเชยไม่ได้กับสิ่งที่เสียไป และยังนำมาซึ่งเสียงสะท้อนจากประชาชน ก็ต้องรอดูการแก้ปัญหากันต่อ

 

  • ส่วนกรณีที่จีนซ้อมรบนั้นเธอเล่าว่า สื่อต่างๆ สัมภาษณ์ชาวไต้หวันก็ได้คำตอบว่า “กังวลนิดๆ” แต่เมื่อเกิดการซ้อมจริงในวันแรก ในเมืองย่านธุรกิจและห้างสรรพสินค้าทุกคนยังออกมาจับจ่ายซื้อของ เดินเล่นตามปกติ ส่วนผู้ที่อยู่ในย่านผิงตง (ซึ่งห่างจากจุดที่จีนซ้อมราว 9.5 กิโลเมตร) ผู้คนยังให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าไม่กังวลอะไร และคิดว่าเป็นเพียงการซ้อมเหมือนครั้งก่อนๆ และรัฐบาลไต้หวันเองก็ ‘นิ่งมาก’ ไม่ตอบโต้คำวิจารณ์จากสื่อฝั่งตรงข้าม เพียงแต่ย้ำว่าสถานการณ์ที่จีนซ้อมรบอยู่ในการควบคุม ไต้หวันเตรียมพร้อมรับมือ และห้ามแพร่ข่าวเท็จ

 

สำรวจปฏิกิริยาชาวไต้หวันและกลุ่มการเมืองจากสื่อต่างชาติ

  • THE STANDARD ยังสำรวจปฏิกิริยาของชาวไต้หวันเพิ่มเติมผ่านข่าวจากสื่อต่างประเทศ ภาพข่าว และเนื้อหาข่าวจากสำนักข่าว CCTV ของทางการจีน ซึ่งสำนักข่าว Reuters รวบรวมมาอีกต่อหนึ่ง ระบุว่า มี ‘กลุ่มทางสังคม’ ที่เดินทางมาชุมนุมภายนอกสนามบินในกรุงไทเป ที่เครื่องบินของเพโลซีลงจอดและโรงแรมที่เธอเข้าพักในไต้หวัน พวกเขาส่งเสียงประท้วงโดยกล่าวว่า “เราต้องการความสงบ อย่าสร้างปัญหาให้กับเรา” โดยชูป้ายที่เขียนว่า ‘เพโลซีผู้กระหายสงคราม’ อยู่ในมือ

 

  • แม้เราอาจไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดเป็นใครบ้าง แต่ข้อมูลจาก CCTV ระบุชัดว่า ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ในคลิปข่าวการประท้วงดังกล่าว คือ ชีเจียหลิน ประธานพันธมิตรเพื่อการรวมกันใหม่ของจีน (Alliance for the Reunification of China) ผู้ซึ่งระบุว่าผู้มาประท้วงมากันโดยสมัครใจ และเรียกร้องให้ทางการไต้หวันรักษาสันติภาพข้ามช่องแคบ รวมทั้งยึดมั่นในฉันทามติเมื่อปี 1992 ขณะที่ เฉินจื่อหาว โฆษกของพรรค Chinese Unification Promotion Party (CUPP) ระบุว่า “พวกเราในไต้หวันไม่เห็นด้วยกับการเยือนของเพโลซี เราจะประท้วงเพโลซีอย่างต่อเนื่อง เพื่อบอกให้เธอรู้ว่าเธอไม่ได้รับการต้อนรับในภูมิภาคไต้หวัน”

 

  • ส่วนหนึ่งในเนื้อหาข่าวของสื่อทางการจีนอย่าง CCTV (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีจุดยืนเดียวกับรัฐบาลไต้หวัน) ยังระบุว่า ผู้ประท้วงวิจารณ์ผู้แบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน สำหรับการสมรู้ร่วมคิดกับนักการเมืองอเมริกันบางคนที่ไม่เป็นมิตร และตำหนิพวกเขาในการเพิ่มความตึงเครียดระหว่างแผ่นดินใหญ่และภูมิภาคไต้หวัน

 

  • แต่นอกจากผู้ประท้วงต่อต้าน ก็มีผู้มีชุมนุมสนับสนุนเช่นกัน ภาพข่าวจาก Reuters บ่งชี้ให้เห็นผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งที่ชุมนุมนอกโรงแรมที่พักของเพโลซี โดยมีการถือป้ายที่เขียนว่า ‘ฉันเป็นคนไต้หวัน ฉันยืนหยัดเพื่อเอกราชของไต้หวัน’

 

  • แอ็บบี ทิง ประชาชนวัย 38 ปีรายหนึ่งที่มาชุมนุมระบุว่า “เรามาที่นี่เพื่อเป็นสักขีพยานประวัติศาสตร์ เพราะตั้งแต่ปี 1997 สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเช่นนี้มาที่ไต้หวันเลย เมื่อฉันได้ยินว่าวันนี้เธออาจมาไต้หวัน ฉันตื่นเต้นมากและอยากจะมาดูด้วยตัวเอง เพราะเธอสนับสนุนประชาธิปไตย และอุดมการณ์ของเธอชัดเจนมากและคล้ายกับของเรา และเราคิดว่าไต้หวันเป็นประเทศ”

 

  • ขณะที่ ไซมอน หลิน พนักงานการเงินอายุ 29 ปี กล่าวขอบคุณเพโลซีที่เมินเฉยต่อคำขู่ของจีน และมาไต้หวันเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวัน

 

  • Reuters ยังสะท้อนอีกหลายความเห็นที่หลากหลายของชาวไต้หวัน อาทิ ประชาชนหญิงรายหนึ่งที่ไม่ระบุชื่อให้สัมภาษณ์ว่า เธอไม่คิดว่าเธอควรจะมา สิ่งนี้ทำให้เกิดความคลุมเครือมาก เพราะไต้หวันเป็นดินแดนของจีน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือด้านอื่นๆ สิ่งนี้จะกระทบต่อความคิดเห็นของประชาชน และเธอคิดว่าการมาไต้หวันของเธอจะทำให้เกิดปฏิกิริยามากมายในระดับที่ต่างออกไป

 

  • ส่วน ไอริส หลิว ผู้ปฏิบัติงานในภาคการส่งออกวัย 22 ปี ชี้ว่า ในข่าวเธอเห็นเกษตรกรจำนวนมากระบุถึงการที่พวกเขาถูกแบนการส่งออกสินค้าไปยังจีน และแสดงความโกรธเคืองต่อรัฐบาลไต้หวัน นอกจากนี้จีนยังประกาศแผนซ้อมรบใกล้กับไต้หวัน ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของพวกเราอย่างรุนแรง และยังระบุว่า เธอไม่เห็นข้อดีที่เป็นรูปธรรมจากการมาเยือนของเพโลซี

 

มุมมองนักวิชาการไทย: อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ในมุมมองนักวิชาการอย่างอาจารย์อาร์ม เขาบอกว่า ความเห็นของชาวไต้หวันที่มีต่อจีนนั้นมีหลากหลาย และอาจเป็นไปตามขั้วทางการเมือง (ซึ่งโดยทางการพรรคก๊กมินตั๋งยังคงมีแนวคิดว่าในที่สุดจะต้องรวมกับจีนในอนาคต แต่พรรค DPP อาจมีแนวคิดที่ไปในทิศทางที่อาจประกาศเอกราชในอนาคต) อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่ของชาวไต้หวันก็คงไม่ได้ต้องการรวมไต้หวันกับจีน และส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ต้องการที่จะประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า หากมีการประกาศเอกราชก็คงหมายถึงสงคราม และเมื่อมีการทำโพลก็จะพบว่า เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะคงสถานะที่เป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงการไม่ได้รวมกับจีนและไม่ประกาศเอกราชดังกล่าว นอกจากนี้คนรุ่นก่อนที่เคยหนีจากสงครามกลางเมืองมาก็อาจยังมีความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ แต่คนรุ่นใหม่มีอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันมากขึ้น และไม่ได้ผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ดังเช่นคนรุ่นก่อน เป็นต้น

 

  • อาร์มชี้ว่า การมาเยือนของเพโลซีทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ทำให้จีนซ้อมรบรอบเกาะและมีข้อกังวลตามมาถึงการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น การบินผ่านเส้นน่านฟ้า หรือยิงขีปนาวุธระยะไกล ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต ขณะเดียวกันการซ้อมรบก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิด ‘อุบัติเหตุ’ เช่น การที่เครื่องบินจีนอาจบินไปถึงเขตไต้หวัน ซึ่งไต้หวันก็ต้องส่งเครื่องบินมาประกบ และหากเกิดอุบัติเหตุก็อาจเป็นชนวนไปสู่สงครามใหญ่ได้ นอกจากนี้การที่จีนประกาศยกเลิกการสื่อสารระดับสูงระหว่างผู้นำกองทัพระหว่างฝ่ายจีนและสหรัฐฯ ก็ยิ่งยกระดับความกังวลในการเกิดความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุนี้ มาตรฐานใหม่ดังกล่าวจะทำให้ช่องแคบไต้หวันตึงเครียดขึ้นกว่าในอดีต

 

  • เมื่อถามว่าปฏิกิริยาของจีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้ถือว่า ‘ไปไกลที่สุดเท่าที่จีนทำได้’ หรือยัง อาร์มตอบว่า หากมีการยกระดับปฏิกิริยาเหล่านี้ก็สามารถยกระดับขึ้นได้เรื่อยๆ เช่น การแบนสินค้าเพิ่มขึ้น การซ้อมรบที่ยาวนานขึ้น “การซ้อมรบก็อาจเป็นการส่งสัญญาณด้วยว่าเขาไม่ต้องบุกไต้หวัน เขาเพียงล้อมปิดเกาะไต้หวันก็ส่งผลมหาศาล เพราะอย่างพลังงานก๊าซธรรมชาติ ไต้หวันก็อยู่ได้แค่ 11 วัน เพราะว่าไต้หวันเป็นเกาะ” อาร์มระบุ

 

  • “ถ้ายกระดับสามารถยกระดับได้เรื่อยๆ อยู่แล้วจนถึงจุดที่จะเกิดสงคราม คำถามน่าจะเป็นว่าจะยกระดับถึงจุดไหน เพราะเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็อาจไม่ยอม เพราะว่าถ้าล้อมปิดเกาะ ปิดทางเดินทะเลตรงนั้น จริงๆ ก็กระทบเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นโดยตรง แล้วจะยกระดับถึงจุดไหนที่สหรัฐฯ ก็คงยอมไม่ได้ เพราะก็กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วย แล้วพันธกรณีที่สหรัฐฯ มีในการที่ต้องช่วยให้ไต้หวันปกป้องตนเอง อันนี้ก็คือตามกฎหมายภายในสหรัฐฯ ที่ชื่อ Taiwan Relations Act”

 

  • เมื่อขอให้อาจารย์อาร์มวิเคราะห์ถึงทั้งสาเหตุของการเดินทางของเพโลซี และสาเหตุของการเลือกใช้มาตรการตอบโต้อย่างที่ปรากฏจากฝั่งจีน อาร์มระบุว่า ถ้ามองจากเหตุผลทางการที่เพโลซีบอกก็คือ ต้องการแสดงสัญลักษณ์ว่าสหรัฐฯ จะยืนอยู่ข้างไต้หวันและจะช่วยไต้หวันหากจีนบุกไต้หวัน เธอต้องการแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างดินแดนที่มีเสรีประชาธิปไตย ซึ่งอาจแตกต่างจากกรณียูเครนที่ไบเดนระบุว่า แม้จะเกิดสงครามก็ไม่ได้ส่งทหารมาช่วย และก็มีคำถามต่อกรณีไต้หวันว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นชัดเจนเพียงใด

 

  • ส่วนฝั่งจีนนั้นอาร์มระบุว่า จีนมีมุมมองว่านี่คือการยั่วยุอย่างชัดเจน และเป็นการผิดข้อตกลงที่สหรัฐฯ ให้ไว้ว่าจะเคารพนโยบาย ‘จีนเดียว’ แม้สหรัฐฯ จะระบุว่าการเดินทางนี้ไม่ได้ขัดกับนโยบายจีนเดียวก็ตาม และจีนอาจต้องการส่งสัญญาณความไม่พอใจเพื่อไม่ให้สหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ทำเช่นนี้อีก รวมถึงอาจต้องการแสดงให้ไต้หวันเห็นว่ามีผลที่รุนแรงตามมา จีนมีเครื่องมือมากมายที่ทำให้ไต้หวันเจ็บปวดได้ และแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า ก็ไม่ได้เห็นว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยไต้หวันได้เลยเมื่อมีการยกระดับความตึงเครียดขึ้นมา

 

  • เราถามต่อไปว่า ประเด็นการเมืองภายในของทั้งสหรัฐฯ และจีน จะสามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่ เขาตอบว่าน่าจะเชื่อมโยงได้ โดยในมุมสหรัฐฯ เมื่อมีข่าวเรื่องการเดินทางไปไต้หวันของเพโลซีและมีคำขู่ของจีน ถ้าสหรัฐฯ บอกว่าไม่ไปแล้ว ก็คงจะส่งผลถึงคะแนนนิยมของเพโลซีและพรรคเดโมแครต ขณะที่ฝั่งจีน ซึ่งกำลังจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ สีจิ้นผิง ก็คงไม่สามารถดูอ่อนข้อได้ในเรื่องที่สำคัญนี้

 

  • อย่างไรก็ตามอาร์มมองว่า ทั้งสองฝ่าย (สหรัฐฯ-จีน) ยังไม่ต้องการสงครามในเวลานี้ เพียงแค่มีท่าทีที่ค่อนข้าง ‘แข็ง’ เพื่อตอบสนองต่อกระแสภายในประเทศของทั้งสองฝ่าย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ยกระดับไปสู่สงคราม

 

  • ส่วนกรณีที่มีคนในไต้หวันให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ชาวไต้หวันส่วนหนึ่งยังดูใช้ชีวิตตามปกติ และคิดว่าจีนคงไม่กล้าเปิดปฏิบัติการทางทหารจริง อาร์มระบุถึง 3 เหตุผล ได้แก่ อาจเกิดจากความคุ้นชินอยู่แล้วกับการยกระดับความตึงเครียดด้านการทหาร หรือการใช้คำพูดที่ร้อนแรงของฝั่งจีนในเรื่องนี้, อาจเกิดจากความคิดที่ว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสงคราม ทั้งก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจีนเองก็ยังไม่น่าพร้อมที่จะทำสงครามในเวลานี้ รวมทั้งอาจเกิดจากความคิดที่ว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ร้ายแรงหรือสมเหตุสมผลพอที่จะก่อสงคราม “เพโลซีไปเยือนหนึ่งคนแล้วจะบุกไต้หวัน มันคงไม่สมเหตุสมผล แต่ว่าอย่างที่ผมบอกว่ามันยกโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ และยกระดับความตึงเครียดต่อไปในอนาคต” อาร์มระบุ

 

  • เมื่อถามว่าหากมีปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้น ศักยภาพทางทหารของไต้หวันในการรับมือปฏิบัติการจากฝั่งจีนเป็นอย่างไร และสหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยเหลือไต้หวันอย่างไร หรือไม่ อาร์มเลือกจะตอบคำถามหลังก่อน โดยระบุว่า สหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยเหลือไต้หวันอย่างไรนั้นไม่มีใครรู้ และอาจขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ในแต่ละยุคด้วย เขาอ้างถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า ‘Strategic Ambiguity’ (ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์) ซึ่งกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันระบุว่า สหรัฐฯ จะต้องช่วยให้ไต้หวันคุ้มครองป้องกันตนเองได้ ซึ่งไม่ใช่พันธกรณีว่า ‘ต้องมาช่วย’ ดังนั้นจึงไม่แน่ชัดว่าจะขายอาวุธให้ไต้หวันอย่างเดียวหรือจะมาช่วยไต้หวัน และต่างจากกรณีของ NATO

 

  • อาร์มยังอธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์นี้ แต่เดิมคนเข้าใจว่าเป็นไปเพื่อไม่ให้จีนบุกไต้หวัน แต่ก็ไม่ต้องการให้ไต้หวันประกาศเอกราช ซึ่งก็เท่ากับคงสถานะปัจจุบันไปเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเสียงเรียกร้องในสหรัฐฯ ให้ยุติความคลุมเครือนี้ และให้สหรัฐฯ ประกาศที่จะมาช่วยไต้หวันให้ชัดเจนไปเลย ขณะเดียวกันฝั่งจีนก็เริ่มรู้สึกยอมรับไม่ได้กับการที่จะคงสภาพเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างถาวร จึงทำให้ความตึงเครียดสูงขึ้นทั้งสองฝ่าย

 

  • “ในช่วงวิกฤตการณ์ครั้งที่แล้วเมื่อปี 1996 ขณะนั้นงบประมาณด้านการทหารของจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าไต้หวันแค่เท่าตัว แต่วันนี้งบประมาณด้านการทหารของจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าไต้หวันถึง 23 เท่า จีนแผ่นดินใหญ่มีกองทัพเรือใหญ่กว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว ก็ยิ่งทำให้จีนแผ่นดินใหญ่มีอำนาจต่อรองในเรื่องการทหารสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และโดยทั่วไปไต้หวันคงจะไม่สามารถต่อสู้กับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ในทางการทหาร ก็มีคำถามเพียงว่า สหรัฐฯ จะมาช่วยไหม แต่แม้กระทั่งคำถามว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยไหม ก็มีดีเบตมากมายว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเป็นการรบในพื้นที่ห่างไกล หลายคนก็ไม่ได้มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะชนะได้ 100% แต่ขณะเดียวกันหลายคนก็คิดว่าไม่ได้ง่ายสำหรับจีนเช่นเดียวกัน เพราะว่าไต้หวันเป็นเกาะ การบุกเกาะยากลำบากมากทีเดียว หรือถึงแม้ว่าจีนจะทำได้ จีนก็อาจต้องเสียหายไม่น้อย” อาจารย์อาร์มระบุ และชี้ว่า เหตุผลเหล่านี้ทำให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายของสงครามสำหรับทุกคนจึง ‘สูงมาก’ ดังนั้นเขาจึงคิดว่าทุกคนจะพยายามเลี่ยงสงคราม แต่หากกระแสแรงเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้อยู่แล้วที่ถึงจุดหนึ่งจะมีเงื่อนไขที่พาไปสู่สงครามได้

 

นี่คือความเป็นไปในไต้หวัน และความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน จากคำบอกเล่าและมุมมองของชาวไต้หวันรวมถึงคนไทยที่อยู่ในไต้หวัน ตลอดจนการวิเคราะห์สถานการณ์ผ่านสายตานักวิชาการไทย ซึ่งน่าจะฉายภาพอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ในขณะนี้ให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้มากยิ่งขึ้น

 

ภาพ: Handout / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising