×

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีไต้หวันเดินหน้าต่อ แม้เผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงสุดในรอบ 25 ปี ปักธงก้าวสู่อุตสาหกรรม 5.0

08.04.2024
  • LOADING...
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีไต้หวัน

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปีของไต้หวัน ซึ่งมีความรุนแรงถึง 7.2 ทางฝั่งตะวันออกใกล้กับเมืองฮัวเหลียน เมื่อช่วงเช้าของวันพุธที่ผ่านมา นอกจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมากแล้ว หลายธุรกิจของไต้หวันก็ได้รับผลกระทบไปไม่น้อยเช่นกัน 

 

หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างคือ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ หลังจากที่ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทอย่าง Apple และ NVIDIA ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

แม้จะมีความกังวลเกิดขึ้นว่าภัยธรรมชาติครั้งนี้อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกต้องชะงัก แต่สำหรับ TSMC ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ได้กระทบต่อผลประกอบการของบริษัทมากนัก 

 

TSMC เปิดเผยว่า หลังการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นพบว่า มีอุปกรณ์เพียงส่วนน้อยที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ขณะที่เครื่องผลิตชิปที่สำคัญอย่าง EUV ซึ่งผลิตชิปให้กับสมาร์ทโฟนและชิปที่ใช้กับ AI ไม่ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ

 

ด้าน แดน ฮัตเชสัน รองประธานของ TechInsights บริษัทวิจัยสัญชาติแคนาดา กล่าวว่า “เมื่อมองดูผลกระทบต่อธุรกิจ ถามว่าเหตุการณ์นี้กระทบต่อรายได้ในไตรมาสนี้หรือไม่ ต้องบอกว่าน่าจะไม่มาก แต่มันอาจจะเป็นกังวลสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การผลิตกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง”

 

ขณะที่ NVIDIA ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาชิปสำหรับ AI ที่ผลิตโดย TSMC เชื่อว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าการผลิตชิปจากโรงงานของ TSMC จะชะลอการส่งมอบไปบ้าง 

 

ผลกระทบต่อการลงทุน

 

แม้ว่าความเสียหายต่อธุรกิจอาจไม่ได้มากนัก แต่ผลกระทบในระยะสั้นที่เห็นได้ชัดคือ แรงเทขายที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ดัชนี Taiwan Weighted ลดลง 0.96% หลังเปิดตลาดเมื่อวานนี้ ก่อนจะปิดตลาดติดลบไป 0.63% 

 

รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง กล่าวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น คล้ายกับหลายประเทศที่เคยเผชิญกับแผ่นดินไหวมาก่อนหน้านี้ 

 

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมของตลาดหุ้นไต้หวันตั้งแต่ต้นปี 2024 ที่ผ่านมา หุ้นไต้หวันปรับตัวขึ้นมาเกือบ 14% ถือเป็นตลาดหุ้นหลัก (Major Indices) ที่ปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองเพียง Nikkei 225 ของญี่ปุ่น, BIST 100 ของตุรกี และ FTSE MIB ของอิตาลี ตามข้อมูลของเว็บไซต์ investing.com   

 

Phillip Securities ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อเดือนก่อนว่า ความน่าสนใจของการลงทุนในไต้หวันมาจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ AI โดยข้อมูลจาก ITRI ระบุว่า มูลค่าจากการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือราว 5.6 ล้านล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้น 14.1% จากปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรม AI และการประมวลผลขั้นสูง

 

อิทธิพลของเทคไต้หวัน

 

สำหรับบางธุรกิจหรือบางผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมีสินค้าทดแทนกันได้โดยที่คุณภาพอาจไม่ต่างกันมากนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงักชั่วคราว อาจเป็นการเปิดโอกาสให้กับคู่แข่งเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด แต่สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิปของไต้หวันอาจเป็นตรงกันข้าม 

 

นักวิเคราะห์ของ Barclays ระบุว่า โรงงานผลิตชิปที่มีความซับซ้อนสูงบางแห่งจำเป็นต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง 7 วัน 24 ชั่วโมง และการหยุดชะงักจะทำให้กระบวนการผลิตขัดข้อง กดดันให้ราคาสินค้าในอุตสาหกรรมอาจจะปรับตัวสูงขึ้น 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นปัญหาระยะสั้นต่อผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำ เช่น จีนและเวียดนาม 

 

รายงานระบุว่า สินค้าคงคลังที่ต่ำลงของลูกค้าแต่ละราย อาจเอื้อให้ผู้ผลิตชิปของไต้หวันและเกาหลีใต้สามารถเพิ่มราคาสินค้าของตัวเองได้ 

 

อิทธิพลของผู้ผลิตชิปของไต้หวันถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน เป็นผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้รองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรม 

 

เมื่อปี 2023 สถาบัน Institute for Management Development ได้สำรวจโครงสร้างพื้นฐานของ 64 ประเทศ และจัดทำรายงาน 2023 World Competitiveness Yearbook ซึ่งไต้หวันอยู่ในอันดับ 5 และอันดับ 8 ของประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ที่ดีที่สุด ตามลำดับ 

 

เทคไต้หวันไม่ได้สร้างจากความบังเอิญ

 

ก่อนไต้หวันจะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 อุตสาหกรรมการผลิตในไต้หวันยังเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของไต้หวันคือ ความตั้งใจจริงที่ต้องการยกระดับประเทศ 

 

บทความ Taiwan and the next industrial revolution ของ BBC Future ระบุถึงคำพูดของ เอ็ดวิน หลิว ประธานของสถาบัน Industrial Technology Research Institute (ITRI) ไว้ได้ค่อนข้างน่าสนใจ 

 

หลิวเชื่อว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 คือกุญแจที่ปลดล็อก ‘ความมหัศจรรย์ครั้งใหม่ของไต้หวัน’ 

 

“ผมไม่คิดว่ามันมีทางเลือกอื่น อุตสาหกรรมการผลิตคือองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจของเรา ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไร เราก็จะลำบาก” หลิวกล่าว

 

แทนที่ไต้หวันจะเลือกก้าวตามกระแสบางอย่าง หลิวเชื่อว่าไต้หวันพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่มอะไรบางอย่าง 

 

“เราต้องเปลี่ยนจาก Reactive Position มาสู่ Proactive Position นั่นหมายถึงเราไม่ควรจะรอจนถึงจุดที่เราจำเป็นจะต้องทำแล้วค่อยทำ และเป็นที่มาของการตั้งเป้าหมาย 2030 Technology Strategies and Roadmap”

 

หลิวกล่าวว่า นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดตั้งแต่ระดับของผู้นำ และคาดการณ์ถึงอนาคตของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด หมายถึงการที่ไต้หวันจะศึกษาเรื่องต่างๆ ก่อนที่ตลาดจะต้องการมัน

 

ความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในมุมของหลิวมาจาก 2 ส่วน “หนึ่งในนั้นคือความท้าทายด้านเทคโนโลยี และอีกด้านหนึ่งคือความท้าทายจากผู้คนว่าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่”

 

หลิวบอกว่า สำหรับทุกบริษัทในโลก ถ้าคุณอยากจะนำหน้า คุณต้องคิดนำหน้าและทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุด สำหรับไต้หวันเองเป้าหมายคือการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่เทคโนโลยี 5.0

 

ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีของไต้หวันทุกคนก็มักจะนึกถึงชิป นึกถึงบริษัท TSMC เป็นอันดับแรก และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิปของไต้หวันจะมีอิทธิพลอย่างมากในเวลานี้ แต่ในมุมของ คริสโตเฟอร์ ไซเทรา ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของ Center for European Policy Analysis (CEPA) มองว่า การพึ่งพาแค่อุตสาหกรรมเดียวหรือบริษัทเดียวอาจเป็นความเสี่ยงในอนาคต

 

ฉะนั้นแล้วการก้าวไปอีกขั้นของไต้หวันในด้านเทคโนโลยี เราน่าจะต้องเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าแค่การเป็นฐานการผลิตชิปให้กับโลก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising