Foxconn บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ซึ่งได้ผลิตชิปให้บริษัท IT ยักษ์ใหญ่มาแล้วมากมาย ทั้ง Apple และ Intel หรือแม้แต่การจับมือกับ ปตท. ในบ้านเราเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้านั้น ได้วางแผนจะตั้งโรงงานใหม่ ณ มาเลเซีย
โดยบริษัท Dagang NeXchange Berhad ของมาเลเซีย ได้ประกาศลงนาม MOU กับ Big Innovation Holdings Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Foxconn เพื่อร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปขนาด 12 นิ้ว
คาดว่าโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิต 40,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี 28 นาโนเมตร และ 40 นาโนเมตร เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับไมโครคอนโทรลเลอร์ เซ็นเซอร์ วงจรรวมไดรเวอร์ และชิปที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อ รวมถึง Wi-Fi และ Bluetooth
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แพงชิป! 3 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปรายใหญ่เตรียมปรับขึ้นราคาอีก 5-7% ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จ่อขยับราคาตาม
- Intel ยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหรัฐฯ เลือก ‘มาเลเซีย’ สำหรับลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท
ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ เช่น Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., United Microelectronics Corp และ Semiconductor Manufacturing International Co. ของจีนต่างก็กำลังขยายกำลังการผลิตชิป 28 นาโนเมตรเช่นกัน
การเซ็นสัญญาในครั้งนี้สอดคล้องกับการผลักดันของรัฐบาลมาเลซียในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของ Foxconn ที่จะขยายชื่อเสียงของตนในแขนงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงความทะเยอทะยานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ข้อตกลง MOU ของมาเลเซียเกิดขึ้นหลังจาก Foxconn ประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตชิปในอินเดียกับกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติสังกัดในท้องที่อย่าง Vedanta เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมไปถึงการที่ Foxconn ซื้อโรงงานผลิตชิปในปี 2021 ณ เมืองซินจู๋ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของไต้หวัน เป็นหัวใจสำคัญของกำลังการผลิตชิปในไต้หวันเลยทีเดียว โดยหวังพัฒนาชิปซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับยานยนต์
ที่ตั้งที่แน่นอนของโรงงานและขนาดของการลงทุนยังไม่ได้ประกาศ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตชิปคาดการณ์ทุนของโครงการไว้ที่ 3-5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.03-1.72 แสนล้านบาท
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ผลิตชิปในการเพิ่มกำลังการผลิต โดยบริษัท GlobalFoundries ผู้ผลิตชิปอันดับ 3 ของโลก ทุ่มเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกำลังการผลิตไปที่สิงคโปร์
นอกจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ไทย และมาเลเซีย ก็หวังที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองด้วย เนื่องจากความกังวลต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานทั้งหลาย
อ้างอิง: