×

ตลาดหุ้นไต้หวัน ‘Best Performing’ ของเอเชียปีนี้ ด้านญี่ปุ่นรั้งอันดับ 2 ขณะที่ตลาดหุ้นไทยรั้งอันดับโหล่

02.07.2024
  • LOADING...
ตลาดหุ้นไต้หวัน

สำนักงานสถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า มุมมองเชิงบวกของนักลงทุนที่มีต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้ผลักดันให้ตลาดหุ้นของไต้หวันในครึ่งปีแรกของปี 2024 กลายเป็นตลาดที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดในเอเชีย-แปซิฟิก โดยจนถึงขณะนี้ดัชนีหุ้นถ่วงน้ำหนักด้วยราคาตลาดของไต้หวัน (Taiwan Weighted Index) เพิ่มขึ้น 28% เนื่องจากได้รับแรงหนุนที่ขับเคลื่อนด้วยหุ้นตลอดห่วงโซ่มูลค่า AI (AI Value Chain)

 

ทั้งนี้ ยอดการผลิตของ Heavyweight Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp เพิ่มขึ้น 63% ในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Foxconn ซึ่งมีการซื้อ-ขายในชื่อ Hon Hai Precision Industry ก็เพิ่มขึ้น 105% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

Rahul Ghosh ผู้เชี่ยวชาญด้านพอร์ตโฟลิโอตราสารทุนระดับโลกของบริษัทบริหารสินทรัพย์ T. Rowe Price กล่าวในรายงานแนวโน้มการลงทุนของบริษัทว่า ประสิทธิภาพของตลาดโลกในปีนี้ส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากธีมของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป

 

ขณะเดียวกัน Rahul Ghosh เสริมว่า ศักยภาพและขนาดของวงจรการลงทุนด้าน AI ยังคงขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก และกล่าวว่าผลกระทบของการลงทุนด้าน AI กำลังขยายออกไปยังภาคส่วนต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม วัสดุ และสาธารณูปโภค

 

รายงานระบุด้วยว่า ดัชนีอ้างอิง Nikkei 225 ของญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 2 ในภูมิภาค หลังจากแซงระดับสูงสุดตลอดกาลเมื่อต้นปีนี้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้นประมาณ 18%

 

ทั้งนี้ ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 34 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ โดยทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลก่อนหน้านี้ที่ 38,915.87 จุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1989

 

หลังจากนั้นดัชนี Nikkei ก็พุ่งทะลุเกณฑ์จิตวิทยาที่ 40,000 จุด และในที่สุดก็แตะระดับสูงสุดตลอดกาลใหม่ที่ 40,888.43 จุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม

 

ท่ามกลางบรรดานักวิเคราะห์ที่พูดคุยกับ CNBC ส่วนใหญ่ระบุว่า แม้ไต้หวันอาจเป็นผู้นำตลาดเอเชีย แต่ญี่ปุ่นก็ดูเหมือนจะเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

Rahul Ghosh กล่าวว่า มาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ได้รับการปรับปรุงยังคงส่งผลกระทบที่จับต้องได้ และมีความสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกอย่างญี่ปุ่น 

 

นอกจากนี้ Ben Powell หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน APAC ของ BlackRock Investment Institute ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ และทำให้นโยบายการเงินของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ “ในแบบค่อยเป็นค่อยไป”

 

“ดังนั้นเราจึงมีหุ้นญี่ปุ่นที่มีน้ำหนักเกิน โดยได้แรงหนุนจากโมเมนตัมการปฏิรูปองค์กรที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการที่ดีเยี่ยม และการสนับสนุนการประเมินมูลค่าจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ยังคงเป็นลบ” Powell กล่าว

 

หุ้นไทยรั้งท้ายในเอเชีย

 

ขณะเดียวกันแม้ว่าตลาดเอเชียส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนบวกเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ตลาดหุ้น 3 แห่ง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลับเข้าสู่แดนลบ โดยดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์ไทยถือเป็นดัชนีที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในภูมิภาคด้วยการร่วง 8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ขณะที่ดัชนี Jakarta Composite ลดลง 2.88% ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ร่วงลงประมาณ 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ขณะที่วันนี้ (2 กรกฎาคม) ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อ-ขายในช่วงเช้าที่ระดับ 1,294.64 จุด ลดลง 4.71 จุด หรือคิดเป็นการเปลี่ยนแปลง 0.36% มูลค่าการซื้อ-ขาย 19,307.50 ล้านบาท 

 

รายงานระบุว่า สิ่งที่นักลงทุนต่างจับตามองมากที่สุดก็คือท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในภูมิภาค อีกทั้งโดยทั่วไปแล้วธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียจะตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินโดยพิจารณาจากการเคลื่อนไหวที่คาดการณ์ไว้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2023 Fed ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ‘Dot Plot’ ล่าสุดจากการประชุมของ Fed ในเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% หนึ่งครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2024 ซึ่งผิดไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ Fed บอกเป็นนัยว่าอัตราดอกเบี้ยจะขยับปรับตัวลดลง 0.75% ในปี 2024

 

Dot Plot คือการแสดงภาพการประมาณการอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีตัวเลขอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารที่มองไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม Fed กล่าวว่า ธนาคารกลางได้วางแนวทางเชิงรุกมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปี 2025 ซึ่งหมายรวมถึงการหั่นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จุด ขณะที่ในส่วนของการหั่นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ การสำรวจของ CME FedWatch ระบุว่า 61% ของเทรดเดอร์คาดหวังที่จะให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุม Fed เดือนกันยายน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X