หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 ครั้งใหญ่ที่สุดของไต้หวันในรอบ 25 ปีในช่วงเช้าเมื่อวานนี้ (3 เมษายน) สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกต่างจับตาคืออุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป เมื่อ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited หรือ TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย รวมถึง Apple และ NVIDIA ได้สั่งปิดชั่วคราวและอพยพคนงานออกไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
กระทั่งวันนี้ (4 เมษายน) เริ่มกลับมาดำเนินการเป็นปกติแล้ว แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะแรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความเสียหายให้แก่เซมิคอนดักเตอร์ทั้งชุด ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำสูงในการผลิต
เรียกได้ว่า TSMC รวมถึงไต้หวันมีความสำคัญอย่างมาก โดยเคยมีการประเมินกันไว้ว่าหากขาดชิปจากไต้หวันเพียงแห่งเดียว ก็จะส่งผลให้การผลิตเทคโนโลยีของโลกหยุดชะงักตามไปด้วย
TSMC ไม่ใช่รายเดียวที่สั่งระงับสายการผลิต
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ทันทีที่เกิดเหตุ TSMC ได้อพยพพนักงานบางส่วนออกจากพื้นที่ พร้อมเดินหน้าประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 บริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวัน
โดย TSMC ไม่ใช่รายเดียวที่สั่งระงับสายการผลิตและอพยพพนักงานออกไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย แต่ยังมี United Microelectronics Corporation หรือ UMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายเล็กของไต้หวัน และเป็นคู่แข่งของ TSMC ในระดับท้องถิ่น ได้สั่งหยุดเครื่องจักรในโรงงานบางแห่งและอพยพคนออกจากโรงงานผลิตในศูนย์กลางของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋และไถหนาน
นอกจากบริษัทผู้ผลิตชิปแล้ว บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น ASE Technology Holding Co., Ltd. ก็สั่งปิดสายการผลิตในส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่นำไปใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone รวมถึงในรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยคำสั่งเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก ซึ่งการที่โรงงานได้รับแรงสั่นสะเทือนแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความเสียหายต่อเซมิคอนดักเตอร์ทั้งชุด ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำสูงในการผลิต
นักวิเคราะห์หวั่นกระทบห่วงโซ่อุปทาน Global Tech
การสั่งระงับสายการผลิตส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายรายทั่วโลกแสดงความกังวลว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะส่งผล Disrupt ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีของโลก (Global Tech Supply Chain) หรือไม่ เนื่องจากไต้หวันเป็นแหล่งชิประดับสูงสุดประมาณ 80-90% ที่จำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันขั้นสูง เช่น สมาร์ทโฟนและ AI ขณะที่หุ้นของ TSMC ปรับตัวลดลงประมาณ 1.5% ในช่วงเช้าของการซื้อขาย ขณะที่ UMC ลดลงน้อยกว่า 1%
นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence ระบุอีกว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ไต้หวันอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังถือว่าควบคุมได้
จนถึงขณะนี้ทางไต้หวันกำลังประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหว ซึ่งทำลายอาคารหลายสิบหลังและพบผู้เสียชีวิต ซึ่งไต้หวันถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เพราะตั้งอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น โดยก่อนหน้านี้ในปี 2016 ไต้หวันเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนใต้ของเกาะ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ขณะที่เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นในปี 1999 ซึ่งวัดความรุนแรงได้ถึงขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
สำหรับ TSMC ออกมาระบุล่าสุดว่าบริษัทได้กลับมาเปิดไลน์ผลิตชิปแล้ว 70-80% ภายในเวลา 10 ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยอุปกรณ์ราคาแพงที่สุดของ TSMC คือเครื่องจักรรังสีอัลตราไวโอเลตขั้นสูง (Extreme Ultraviolet) จาก ASML Holding NV ซึ่งใช้ในการผลิตหน่วยประมวลผลสำหรับ iPhone รุ่นล่าสุดให้ Apple และผลิตชิปให้กับ NVIDIA เพื่อใช้ในการฝึกโมเดล AI เช่น ChatGPT ทั้งนี้ บริษัทได้ปรึกษากับพันธมิตรด้านการผลิตแล้วว่าการผลิตจะไม่หยุดชะงัก
ทำไม Tech โลกตกอยู่ในความเสี่ยง?
ไต้หวันถือเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยชั้นนำของโลก โดยมี TSMC เป็นผู้ผลิต ซึ่งกว่า 90% จะผลิตชิปขั้นสูง ซึ่งยังไม่มีที่ไหนทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่า ปัจจุบัน TSMC เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือ Intel Corporation, Qualcomm Incorporated, SK hynix Inc., Micron Technology, NVIDIA Corporation, Broadcom Inc. และ AMD
ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 527.88 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสูงถึง 1,380.79 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2572 วันนี้และอนาคต อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะยิ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก จากหลายปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์และอุปทาน, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสภาวะทางเศรษฐกิจ, การเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต (IoT), การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทรนด์พลังงานหรือการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น
Jan-Peter Kleinhans ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ของ Stiftung Neue Verantwortung ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงเบอร์ลิน เรียกไต้หวันว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นจุดเสี่ยงและจุดสำคัญที่สุดของประเทศ
“หากทั่วโลกขาดชิปจากไต้หวันเพียงประเทศเดียว ก็จะส่งผลให้การผลิตเทคโนโลยีโลกหยุดชะงักตามไปด้วย”
นอกจากนี้ยังสะเทือนไปถึง AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ ซึ่งเมื่อไม่นาน Sam Altman จาก OpenAI ไปจนถึง Jensen Huang จาก NVIDIA ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการขาดแคลนชิปมาโดยตลอด เนื่องจากทั้งหมดมาจาก TSMC ดังนั้นการหยุดชะงักชั่วคราวหรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเช่นกัน เพราะยังต้องเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และพลังงานของไต้หวันที่จะส่งผลต่อการส่งมอบชิปรุ่นล่าสุดด้วย
ไต้หวันยืนอยู่บนความท้าทายทั้งมิติภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์
แม้ว่า TSMC จะออกมาระบุว่าสามารถควบคุมการผลิตต่อไปได้ แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็สร้างความกังวลต่อห่วงโซ่อุปทานไม่น้อย เนื่องจากต้องยอมรับว่าชิปครึ่งหนึ่งที่คนทั่วโลกใช้เป็นชิปที่ TSMC เป็นผู้ผลิต ซึ่งการผลิตชิปไม่ง่ายและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง
สำหรับ TSMC ใช้เวลาหลายทศวรรษจนสามารถสร้างโรงงานผลิตชิปในประเทศป้อนบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึงไทย โดยมีวิศวกรเชี่ยวชาญจนทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากจนสามารถแซงหน้าคู่แข่งอย่าง Intel และ Samsung Electronics ได้
ท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้ TSMC กระจายความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ TSMC จึงกำลังสร้างโรงงานชิปในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แต่ไลน์การผลิตเหล่านั้นจะยังไม่ใช่สำหรับชิปขั้นสูงแบบที่อยู่ในไต้หวัน
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-04-03/tsmc-evacuates-production-lines-after-major-taiwan-quake
- https://www.reuters.com/markets/asia/taiwan-quake-hit-some-chip-output-cause-asia-supply-chain-disruptions-analysts-2024-04-03/
- https://www.straitstimes.com/business/how-taiwan-quake-puts-world-s-most-advanced-chips-at-risk
- https://www.linkedin.com/pulse/top-semiconductor-chip-manufacturers-world-list-piyush-gupta–uahxc