×

ยิ่งใหญ่ในรอบ 10 ปี 5 ปรากฏการณ์ไทยในงานหนังสือไต้หวัน 2024

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2024
  • LOADING...
งานหนังสือไต้หวัน

ช่วงระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ THE STANDARD ได้รับเชิญจาก Taipei Book Fair Foundation เป็นหน่วยงานที่จัดงานหนังสือและส่งเสริมกิจกรรมด้านหนังสือของไต้หวัน ให้มาร่วมงาน Taipei International Book Exhibition (TIBE) 2024 หรือเรียกว่างาน ‘หนังสือนานาชาติไทเป 2024’ ที่ไต้หวัน ภายใต้การประสานงานจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

 

สำหรับงานหนังสือที่ไต้หวัน ถือเป็นงานเทศกาลหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นจุดศูนย์กลางการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือ และการจัดแสดงผลงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกภาษาจีน 

 

 

 

ยังได้รับเกียรติจาก ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระมาเปิดงานและเลือกซื้อหนังสือด้วย ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญของผู้นำและรัฐบาลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้

 

อย่างไรก็ตาม งานหนังสือที่นี่หลายคนอาจนึกภาพง่ายๆ ว่าคล้ายกับงานหนังสือของบ้านเราที่จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันออกไปนั่นคือ คนที่จะมางานนี้ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตู ไม่ใช่เข้าฟรีแม้จะมาเลือกหาซื้อหนังสือก็ตาม เพราะมีลักษณะเป็นงานนิทรรศการที่จัดให้ความรู้ด้วย เหมือนเป็นบัตรผ่านประตูเพื่อเข้ามาชมงานที่ผู้จัดแต่ละสำนักพิมพ์มีความตั้งใจสร้างสรรค์งานออกมา นับเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยของสื่อที่มาเห็นบรรยากาศนี้เช่นกัน

 

เพื่อให้คนไทยได้รับทราบข่าวสารที่สำคัญ ในโอกาสที่ประเทศไทยเดินทางมาออกบูธที่นี่ จัดแสดงหนังสือและมีกิจกรรมจากทั้งนักเขียน นักวาดต่างๆ ณ ‘Thai Pavilion’ ซึ่งเป็นโซนจัดแสดงผลงานของไทย จึงขอนำเสนอผ่าน 5 ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจดังนี้

 

 

1. จัดเต็มทุกภาคส่วน: งานนี้ถือเป็นงานหนังสือนานาชาติที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเต็มรูปแบบ

 

ซึ่งครั้งนี้ประเทศไทยโดย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีหน่วยงานชื่อ THACCA-Thailand Creative Culture Agency ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ 

ทำให้การเข้าร่วมจัดแสดงหนังสือของไทยในปีนี้ออกมาเต็มรูปแบบอย่างยิ่งใหญ่และจัดเต็ม โดยมีหน่วยงานสำคัญคือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการหลักให้งานสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยให้การสนับสนุน PUBAT มาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา

 

 

2. Thai Pavilion ใหญ่อันดับ 2: การจัดแสดงผลงานที่ไต้หวันครั้งนี้ มีหนังสือจำนวนกว่า 143 เล่ม จากนักเขียนอิสระกว่า 43 คน และสำนักพิมพ์ 24 แห่ง และยังมีอีกกว่า 350 เล่มที่กระจายไปตามบูธอื่นๆ ด้วย

 

หนังสือทั้งหมดได้รับการแปลเรื่องย่อเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนแล้ว เพื่อนำเสนอในแคตตาล็อกซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ พร้อมเชิญสื่อมวลชน นักเขียน นักวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาร่วมจัดกิจกรรมและพบปะแฟนคลับด้วย 

 

สำหรับบูธของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 10 คูหา 90 ตารางเมตร ภายใต้ธีม Borderless (ไร้พรมแดน) ซึ่งได้รับความสนใจจากโรงเรียนในไต้หวันที่ติดต่อขอพานักเรียนมาทัศนศึกษาแล้วอย่างน้อย 2 โรงเรียน

 

ขณะที่ในปีนี้ เนเธอร์แลนด์จะเป็น ‘Guest of Honor’ เพราะไต้หวันและเนเธอร์แลนด์จะฉลองครบรอบ 400 ปีความสัมพันธ์ระหว่างกัน 

 

ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มาร่วมออกบูธด้วย และถือว่ามีการจัดแสดงผลงานและกิจกรรมใหญ่เป็นอันดับ 2 จากทุกประเทศด้วย

 

 

3. จับคู่ธุรกิจหนังสือครั้งแรก: การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะจัดพิทชิงนำเสนอเนื้อหาหนังสือกับโปรดิวเซอร์ไต้หวัน เพื่อนำเสนอเนื้อหาของหนังสือไทยไปดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ โดยมีบริษัทผู้ผลิตสนใจเข้าร่วมฟังมากถึง 24 รายแล้ว

 

สิ่งที่ไม่คุ้นเคยและนับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกคือ การจัด Business Matching ระหว่างสำนักพิมพ์ไทยกับไต้หวัน โดยมีสำนักพิมพ์ไต้หวันมารอพบสำนักพิมพ์ไทยกว่า 30 สำนักพิมพ์ คาดมีมูลค่าหลายล้านบาท และสามารถที่จะต่อยอดในอนาคตร่วมกันได้

 

 

ที่ผ่านมาในเชิงธุรกิจมักจะเห็นการจับคู่ทางธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมอื่น แต่ในวงการหนังสือนับว่าเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดี ถึงแม้ว่ามูลค่าลิขสิทธิ์จะไม่ได้เม็ดเงินก้อนใหญ่เมื่อเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมอื่น แต่นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ผลงานของนักเขียน นักวาดคนไทย จะได้ออกไปสู่สายตาชาวโลก

 

 

 

4. นิยายวายฮอตมาก: สำหรับประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันของชาวไต้หวัน ถึงความเปิดกว้างที่มีต่อสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เราก็ยังขาดการยอมรับอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย 

 

ในการจัดกิจกรรมที่ไต้หวัน มีเวทีกลางที่ได้นักเขียนซีไรต์ไทย 3 คน คือ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด 2023 จากเรื่อง ‘ด้วยรักและผุพัง’, วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ ปี 2015 และ 2018 จาก ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของความทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ และ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุดในปี 2017 จากเรื่อง ‘สิงโตนอกคอก’ ภายใต้หัวข้อ ‘ด้วยรักและผุพัง: ความรักและความเจ็บปวดในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากฉากทัศน์วรรณกรรมร่วมสมัยไทย’

 

การเสวนานี้พูดคุยถึงความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของนิยายวายไทยที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติและการยอมรับของสังคมในเรื่องการสมรสของเพศเดียวกัน และยังมีอิทธิพลต่อความพยายามตรากฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งกำลังจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยในเร็ววันนี้

 

 

ขณะเดียวกัน นิยายวาย หรือนิยาย Y ที่ตัวละครหลักมีเพศสภาพเดียวกัน คือชายรักชาย และหญิงรักหญิง ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากที่นี่ โดยเฉพาะประเภทที่เรียกกันว่า BL (Boy Love) สะท้อนผ่านแฟนคลับของนักเขียนที่ชื่อ จิตติณัฏฐ์ งามหนัก หรือ JittiRain เป็นนักเขียนแนววายของไทยที่โด่งดัง หลายคนอาจเคยอ่านหรือเคยดูซีรีส์ ผลงานของเธอที่ถูกนำไปสร้างคือ เพราะเราคู่กัน, บทกวีของปีแสง, ทฤษฎีจีบเธอ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จนติดใจชาวต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและไต้หวัน มีนักอ่านมาต่อคิวรอพูดคุยขอลายเซ็นนานกว่า 2 ชั่วโมง และหลายคนยังยอมจ่ายเงินเพื่อบินมางานแฟนมีตของนักแสดง ที่กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่อยอดเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

 

ขณะเดียวกันยังมีการเสวนาถึงโอกาสของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่คนไต้หวันให้ความสนใจผ่านงานเขียน และยังสนใจไปถึงพลวัตความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยด้วย นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 

 

 

5. ไทยเป็น ‘Guest of Honor’ ปี 2026: จากการผลักดันจัดเต็มของทุกหน่วยงาน ทำให้หนังสือไทยมีโอกาสเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก และพาให้อุตสาหกรรมหนังสือไทยก้าวสู่โลกแห่งหนังสือนานาชาติอีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น จากการหารือของ DITP กับ Taipei Book Fair Foundation กำลังผลักดันให้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) ของงาน Taipei International Book Exhibition 2026 ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอวัฒนธรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ของประเทศ นอกเหนือจากการจัดแสดงผลงานหนังสือด้วย

 

นี่ถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในโลกงานหนังสือนานาชาติในรอบ 10 ปี ข้อมูลจาก THACCA ได้เผยแพร่ไว้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X