วันนี้ (23 เมษายน) ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้าง โดยมี รศ. ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท., กฤษฎา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ และ นพดล ใจซื่อ อุปนายกวิชาการสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล หลังเกิดความสับสนเกี่ยวกับมาตรฐานเหล็ก T จากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม
รศ. ดร.สมิตร ชี้แจงว่า เหล็กข้ออ้อยตามมาตรฐาน มอก.24-2559 มี 3 ชั้นคุณภาพหลักคือ SD30, SD40 และ SD50 ส่วนเครื่องหมาย ‘T’ ที่ปรากฏบนเหล็กนั้น ไม่ได้บ่งบอกถึงชั้นคุณภาพ แต่หมายถึงกรรมวิธีการผลิตแบบอบชุบทางความร้อน (Quenching and Tempering)
โดยเหล็ก T จะถูกทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็วด้วยการพ่นละอองน้ำหลังขึ้นรูป แล้วนำไปอบอีกครั้ง ทำให้ผิวเหล็กด้านนอกมีความแข็งแรงสูง ส่วนเหล็กที่ไม่มีเครื่องหมาย T (Non-T) จะปล่อยให้เย็นตัวลงเองตามธรรมชาติ และอาจมีการเพิ่มสารเคมีเพื่อเสริมความแข็งแรง
“กรรมวิธีการผลิตนี้ทำให้เหล็ก T มีต้นทุนต่ำกว่า เพราะไม่ต้องเพิ่มสารเคมี ซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงการวิศวกรรมมากว่า 20 ปีแล้ว” รศ. ดร.สมิตร กล่าว พร้อมเสริมว่า ในการประมูลงานก่อสร้าง ผู้รับเหมามักจะสอบถามผู้ว่าจ้างก่อนว่าจะยินยอมให้ใช้เหล็ก T หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะยินยอมเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าก่อสร้าง
สำหรับกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเหล็กก่อนใช้งานนั้น รศ. ดร.สมิตร อธิบายว่า เมื่อเหล็กถูกส่งมาถึงหน้างาน จะมีการสุ่มตัวอย่างเพื่อนำไปทดสอบมาตรฐานเสมอ เช่น หากส่งมา 300 เส้น จะสุ่มทดสอบ 3 เส้น หากส่ง 400 เส้น จะสุ่ม 4 เส้น
การทดสอบประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การทดสอบแรงดึง (Tensile Strength) เพื่อหาค่ากำลังรับแรงสูงสุด, การทดสอบความยืด (Elongation) และการทดสอบการดัดโค้ง (Bend Test) เพื่อดูว่าเหล็กเปราะแตกหรือไม่ โดยจะส่งไปทดสอบที่สถาบันเหล็ก มหาวิทยาลัยที่มีคณะวิศวกรรมโยธา แขวงทางหลวง หรือกรมโยธาธิการ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ หากเหล็กตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐาน เหล็กทั้งกองนั้นจะไม่สามารถนำไปใช้งานได้
“ที่ผ่านมาไม่ค่อยพบเหล็กที่ทดสอบไม่ผ่านเรื่องคุณสมบัติทางกล แต่กลับพบปัญหาเหล็กน้ำหนักเบา (ไม่เต็มขนาด) มากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าไม่ผ่านมาตรฐานเช่นกัน” รศ. ดร.สมิตร กล่าว
นอกจากนี้ รศ. ดร.สมิตร ยังให้ข้อสังเกตว่า เหล็กที่มีกำลังสูง เช่น SD50 และ SD50T จะมีความแข็งแรงมากแต่ก็มีความเปราะมากกว่า ทำให้ความสามารถในการดัดโค้งน้อยลง ดังนั้น หากต้องการดัดเหล็กเป็นรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะการทำเหล็กปลอก วิศวกรส่วนใหญ่จะเลือกใช้เหล็ก SD40 หรือ SD40T ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า
“สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก T หรือ Non-T หากมีคุณสมบัติตรงตามชั้นคุณภาพ SD40 หรือ SD50 ก็สามารถใช้งานได้ทัดเทียมกัน สามารถใช้ก่อสร้างอาคารสูงได้ และใช้ได้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็กทุกประเภท” รศ. ดร.สมิตร ยืนยัน
ส่วนของกรณีอาคาร สตง. ถล่ม รศ. ดร.สมิตร ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ไม่เชื่อว่าเหล็กจะเป็นสาเหตุหลักของการถล่ม แต่ยังไม่สามารถระบุปัจจัยที่แท้จริงได้
ด้าน กฤษฎา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการว่า ขณะนี้มีความสับสนและมีความกังวลในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากมีบางหน่วยงานราชการออกหนังสือเวียนภายในลักษณะแนะนำไม่ให้ใช้เหล็ก T ทำให้ผู้รับเหมาที่สต็อกเหล็ก T ไว้แล้วได้รับผลกระทบ ไม่สามารถนำเหล็กไปใช้งานหรือจำหน่ายต่อได้ เกิดปัญหาสินค้าค้างสต็อก หากมีการจำกัดการใช้เหล็ก T จริง จะส่งผลให้ราคาเหล็ก Non-T สูงขึ้น เกิดภาวะเหล็กขาดตลาด และทำให้การก่อสร้างล่าช้าลง
กฤษฎายอมรับว่า เหล็กบางส่วนที่นำมาจากอาคาร สตง. ที่ถล่มนั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่ผ่านมาตรฐานจริง แต่โดยทั่วไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของเหล็กในท้องตลาดได้มาตรฐานตามที่กำหนด