วันนี้ (15 สิงหาคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัวและการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองขาดออกซิเจนชั่วคราว จะมีลักษณะอาการเฉพาะคือหมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นชั่วขณะในระยะเวลาอันสั้น และสามารถฟื้นคืนสติได้เอง จะแสดงออกทางอาการหลากหลาย เช่น เรียกไม่รู้สึกตัว, ล้มลงกับพื้น, ทรงตัวไม่อยู่, อาจมีอาการเกร็งที่มือ เท้า, ตาค้างชั่วขณะ และเหงื่อออกที่ใบหน้า ซึ่งผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ตอนหมดสติไม่ได้ โดยจะมีระยะเวลาการหมดสติตั้งแต่ 30 วินาที – 5 นาที ขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานเดิมของผู้ป่วย ในบางรายอาจจะมีอาการนำมาก่อนเกิดอาการวูบหมดสติ เช่น รู้สึกหวิวๆ, มึนศีรษะ, โคลงเคลง, ตาพร่าหรือเห็นแสงแวบวับ, ปลายมือปลายเท้าเย็น และคลื่นไส้ อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่อันตรายมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานบนที่สูงหรือผู้ที่ต้องขับรถ หากมีอาการวูบบ่อยๆ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุ
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของภาวะวูบหมดสติเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- สาเหตุจากหัวใจ เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบตามหลังสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น หลังไอ, จาม, เบ่ง, ยืนนานๆ ในที่แออัด, อากาศร้อน หรือกลัวการเจาะเลือด
- เกิดจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน
- เกิดจากยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมาก ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือแม้แต่ยาเบาหวาน
โดยสิ่งที่เป็นอันตรายที่ควรต้องระวังคือ หลังจากผู้ป่วยตื่นขึ้นมาอาจมีอาการบาดเจ็บได้ การรักษาควรจะต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ถ้าหากวูบหมดสติตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการ เช่น ปากเบี้ยว, ลิ้นแข็ง, พูดไม่ชัด, ชา หรือร่างกายครึ่งซีกอ่อนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติจากภาวะทางสมอง อาการของหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตกได้ ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น และควรรีบมาพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้