×

ตัวเลขส่งออกทองของสวิส ชี้แรงซื้อ ‘Buy the Dip’ ของชาวจีนและอินเดียแกร่ง

07.09.2022
  • LOADING...
ทองคำ

World Gold Council แบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา ทองคำ ออกได้เป็น 4 ปัจจัย ได้แก่ ความมั่งคั่งและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะสัมพันธ์กับอุปสงค์ทองคำกายภาพ, ความเสี่ยงของตลาดและความไม่แน่นอน ซึ่งจะส่งผลกับอุปสงค์การลงทุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย, ต้นทุนการถือครอง-นโยบายการเงิน Fed-อัตราดอกเบี้ย-อัตราผลตอบแทนพันธบัตร-สกุลเงินดอลลาร์ และสุดท้ายคือ โมเมนตัมและสถานะในตลาด ทั้งในกองทุน ETF ทองคำ และตลาดอนุพันธ์

 

ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดจะส่งผลต่ออุปสงค์ทองคำ หรือความต้องการใช้ทองคำกายภาพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ไม่แพ้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะที่ประเทศจีนและประเทศอินเดียยังคงเป็น 2 ประเทศที่ใช้ทองคำมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบ 60% ของอุปสงค์ทองคำจากผู้บริโภคทั่วโลก

 

ส่งออกทองคำ

 

แม้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ความต้องการทองคำในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนจะปรับตัวลดลง 30.97% สู่ระดับ 140.90 ตันจากระดับ 226.77 ตันในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าวจีนดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด

 

ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อปริมาณความต้องการทองคำ อย่างไรก็ดี เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการทองคำในช่วงไตรมาส 3 ของจีน สะท้อนจากข้อมูลส่งออกทองคำของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการสกัดและการขนส่งทองคำที่ใหญ่ที่สุด และบ่งชี้แนวโน้มเกี่ยวกับตลาดทองคำโลก

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศุลกากรสวิส ระบุว่า การส่งออกทองคำของสวิสไปยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80.1 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ธันวาคม 2016 เพิ่มขึ้นจาก 32.5 ตันในเดือนมิถุนายน และที่สำคัญคือ เป็นยอดรวมรายเดือนของการนำเข้าทองคำของจีนจากสวิสสูงสุดเป็นอันดับสอง เมื่อย้อนกลับไปถึงปี 2016 เชื่อได้ว่าปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อแรงซื้อของชาวจีน คือราคาทองคำในเดือนกรกฎาคมที่ร่วงลงกว่า 2.26% เนื่องจากผู้บริโภครายย่อยในตลาดจีนมักจะซื้อน้อยลงเมื่อราคาสูงขึ้น และซื้อมากขึ้นเมื่อราคาลดลง

 

ส่งออกทองคำ

 

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม สวิสได้ส่งออกทองคำ 15.8 ตันไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคทองคำแท่งรายใหญ่อีกรายหนึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.7 ตันในเดือนมิถุนายน แม้จะคิดเป็นปริมาณเพียงครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ยรายเดือนในปีที่แล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงแรงซื้อ Buy the Dip ของชาวอินเดียเช่นกัน

 

ปริมาณการนำเข้าของจีนและอินเดียเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาของความต้องการทองคำ ซึ่งหากแรงซื้อจากจีนและอินเดียกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำ และจะจำกัดความเสี่ยงด้านต่ำของราคาทองคำได้ แต่หากความต้องการทองคำจากจีนและอินเดียสูงกว่าที่คาด ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน 

 

อ้างอิง: 

  • Reuters
  • WGC
  • Bloomberg
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising