โค้งสุดท้ายของ ‘Swiftnomics’ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Taylor Swift นักร้องชื่อดัง หลังทัวร์คอนเสิร์ตรอบสุดท้าย คาดโกยรายได้ทะลุ 2.2 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะแฟนเพลงในอเมริกาก็จ่ายเงินเข้าชมคอนเสิร์ตเฉลี่ย 1,300 ดอลลาร์ ราว 44,226 บาทต่อคน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Taylor Swift ศิลปินและนักแต่งเพลงชื่อดังที่รัฐบาลหลายประเทศต่างต้องการตัว เพราะนอกจากจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในวงการเพลง และเมื่อมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไหน ก็จะดึงดูดแฟนเพลงทั่วโลก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการดึงดูดนักท่องเที่ยว การสร้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว และสินค้าแฟชั่น หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘Swiftnomics’ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Taylor Swift นั้นเอง
ถึงวันนี้ Taylor Swift ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านไปแล้ว และได้ขึ้นแสดง คอนเสิร์ต ‘The Eras Tour’ รอบสุดท้ายในคืนวันอาทิตย์ที่ BC Place Stadium ในเมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย หลังจากทัวร์คอนเสิร์ตมา 152 รอบใน 51 เมือง จนกลายเป็นทัวร์คอนเสิร์ตที่มียอดรายได้สูงสุด โดยคาดว่ามีรายได้รวมกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปีของเธอจริงๆ Taylor Swift! The Eras Tour ขึ้นแท่นคอนเสิร์ตแรกของโลกที่ทำรายได้ทะลุพันล้านดอลลาร์…
- ‘คอนเนกชัน ความสดใส และเวลา’ อ่าน 7 เรื่องราวผ่านตัวตนที่ซ่อนอยู่ใน Taylor Swift…
- หนังคอนเสิร์ต Taylor Swift เป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำรายได้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้…
สมาคมการท่องเที่ยวแห่งสหรัฐอเมริกา (US Travel Association) รายงานว่า แฟนเพลงในอเมริกาใช้จ่ายเงินรับชมคอนเสิร์ตเฉลี่ยประมาณ 1,300 ดอลลาร์ ราว 44,226 บาทต่อคน ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าเดินทาง ที่พัก อาหาร และซื้อสินค้าที่ระลึก ถือว่าใกล้เคียงกับที่แฟนฟุตบอลใช้จ่ายเพื่อชมการแข่งขันซูเปอร์โบวล์
ทั้งนี้ การแข่งขันซูเปอร์โบวล์เป็นเพียงการแข่งขันนัดเดียว มีระยะเวลาโปรโมตและทำการตลาดเพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่ทัวร์คอนเสิร์ตของ Taylor Swift เดินทางไปทั้งหมด 23 เมือง และจัดการแสดงถึง 62 รอบ ในระยะเวลา 5 เดือน
เมื่อมาดูถึงการประเมินของบริษัทสำรวจ QuestionPro ที่ระบุไว้ว่า กลุ่มแฟนเพลงของ Taylor Swift หรือที่เรียกว่า Swifties ในอเมริกาใช้จ่ายรวมประมาณ 5 พันล้าน ดอลลาร์ แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวณค่าใช้จ่ายโดยตรง เช่น ค่าบัตรคอนเสิร์ตหรือของที่ระลึก ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น การจับจ่ายของผู้ที่ไม่ได้เข้าชมคอนเสิร์ตที่เข้ามาซื้อสินค้าใกล้สถานที่จัดงาน โดยตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
เรียกได้ว่าพลังการใช้จ่ายของแฟนเพลงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกว่า ‘Taylor Swift Effect’ หรือปรากฏการณ์ด้านการบริการ ในช่วงที่มีการจัดแสดงคอนเสิร์ต ในเมืองนั้นจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ใจกลางเมืองคึกคักขึ้น และอัตราการจองที่พักเพิ่มขึ้นไปด้วย รวมถึงสินค้าก็ขายได้มากขึ้น ส่งผลให้รายได้ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สอดคล้องกับศูนย์ California Center for Jobs and the Economy รายงานว่า การจัดงานคอนเสิร์ตดังกล่าวช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ที่เห็นได้ชัดคือเมืองพิตต์สเบิร์ก ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดคอนเสิร์ต 2 รอบ มีอัตราเข้าพักในโรงแรมช่วงสุดสัปดาห์สูงที่สุดนับตั้งแต่โควิดระบาด
เช่นเดียวกับการจัดคอนเสิร์ตของ Taylor Swift ในลอสแอนเจลิส ที่จัดต่อเนื่อง 6 รอบ ก็ช่วยเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ 3,300 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ในท้องถิ่นได้กว่า 160 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก่อนที่จะมีการจัดคอนเสิร์ต ภาพรวมการจ้างงานของอุตสาหกรรมโรงแรมในลอสแอนเจลิสยังต่ำกว่าระดับสูงสุดก่อนโควิดช่วงอยู่ ประมาณ 15%
พร้อมกันนี้ยังเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทบริการเรียกรถ เช่น Lyft โดยบริษัทรายงานว่า ในวันที่จัดคอนเสิร์ตมีการเรียกรถเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.2% เพราะผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม องค์กร Greater New Orleans, Inc. ประเมินว่า คอนเสิร์ตดังกล่าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งหมดของการจัดงานไปประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่มาจากร้านอาหาร โรงแรม และค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว อื่นๆ
อ้างอิง: