เมื่อพูดถึงประเทศสวีเดน หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์อีเกีย, รถวอลโว, เครื่องบินรบกริพเพนที่ทัพฟ้าไทยใช้งานอยู่ หรือแม้แต่นักฟุตบอลระดับโลกอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านแล้ว สวีเดนยังเป็นประเทศแบบอย่างและผู้นำด้านพลังงานสะอาดด้วย โดยในปีนี้พวกเขากำลังจะพิชิตเป้าหมายสำคัญในด้านพลังงานหมุนเวียนก่อนกำหนดถึง 10 ปี!
เป้าหมายนั้นคือ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ซึ่งเพิ่มทั้งทางเลือกและลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลได้ในขณะเดียวกัน
ปัจจุบันพลังงานทั้งหมดที่ประเทศสวีเดนบริโภคมาจากพลังงานหมุนเวียนเกินครึ่ง หรือ 54% ด้วยข้อได้เปรียบจากทรัพยากรแหล่งน้ำและชีวมวล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนมากที่สุดของประเทศ โดยแบ่งเป็นพลังงานน้ำ (Hydropower) และพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ (คิดเป็น 80%) ส่วนแหล่งพลังงานรองลงมาคือ ชีวพลังงาน (Bioenergy) ซึ่งใช้เป็นแหล่งให้ความอบอุ่น
แต่รัฐบาลคาดหวังว่า นอกจากพลังงานน้ำและชีวพลังงานแล้ว พวกเขาจะเพิ่มทางเลือกจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์มากขึ้น
ความสำเร็จต่างๆ ข้างต้นไม่ใช่ได้มาในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน แต่มาจากการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของรัฐบาล
ย้อนกลับไปในปี 2012 สวีเดนและนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในแถบสแกนดิเนเวียได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 28.4 TW (เทราวัตต์) ภายในปี 2020
แต่แค่นั้นยังไม่พอ ในเวลาต่อมา สวีเดนได้ขยายเป้าหมายของตัวเองในการผลิตพลังงานเพิ่มอีก 18 TW ภายในปี 2030
แม้จะเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ไกล ทว่า พวกเขาก็มีโอกาสไปถึงจุดหมายนั้นในปีนี้เลย
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่สวีเดนทำได้ตามเป้าก่อนกำหนดหลายปี เพราะก่อนหน้านี้สวีเดนเคยกำหนดเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้สัดส่วน 50% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดภายในปี 2020 แต่สวีเดนก็ทำได้ตั้งแต่ปี 2012 หรือเร็วกว่ากำหนด 8 ปี
อะไรช่วยขับเคลื่อนให้สวีเดนไปถึงเป้าหมายใหม่เร็วกว่ากำหนด
หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญคือ ‘กังหันลม’
สวีเดนบริโภคพลังงานราว 150 TWh (เทราวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี แต่ก่อนหน้านี้ผลิตได้จากแหล่งพลังงานลมประมาณ 16 TWh หรือคิดเป็นเพียง 11% ซึ่งรัฐบาลมองว่ายังน้อยเกินไป
ดังนั้น สวีเดนจึงวางยุทธศาสตร์เดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้นด้วยการติดตั้งกังหันลมเพิ่มเติม โดยในปี 2015 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีสัดส่วนคิดเป็น 10% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2012 และ 2010 ที่ 5% และ 2% ตามลำดับ
และภายในสิ้นปีนี้ สวีเดนตั้งเป้าติดตั้งกังหันลมให้ได้ทั้งสิ้น 3,681 เครื่อง ด้วยกำลังไฟฟ้า 7,506 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคาดว่าแต่ละปีจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ากำลัง 19.8 TWh
ซึ่งถ้าสวีเดนทำได้จริง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สวีเดนจะบรรลุเป้าหมายของปี 2030 ได้ตั้งแต่ในสิ้นปีนี้
มาร์คัส เซลิน นักวิเคราะห์แห่งสำนักงานพลังงานของสวีเดน กล่าวกับ World Economic Forum ว่า หลังจากที่มีการกำหนดเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้น รัฐบาลก็ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยจะมีการติดตั้งกังหันลมจำนวนมากให้แล้วเสร็จในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
เขาพูดเสริมว่า ปัจจุบันโครงการพลังงานหมุนเวียน 15.2 TWh อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นพลังงานจากลมถึง 11.6 TWh
เป้าหมายด้านพลังงาน
แน่นอนว่าการบริโภคพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเกินครึ่ง ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของสวีเดน เพราะสวีเดนคิดใหญ่กว่านั้น โดยตั้งเป้าไปที่การผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้ง 100% ภายในปี 2040 ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงตอนนั้น สวีเดนจะไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
และเมื่อดูจากผลงานความสำเร็จที่ผ่านๆ มา พวกเขาอาจบรรลุเป้าหมายได้ก่อนกำหนดในปี 2040 ด้วยซ้ำ ซึ่งเวลาจะให้คำตอบ
เป้าหมายลดโลกร้อน
ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับประเทศน่าอยู่ ประชากรมีคุณภาพชีวีตที่ดี สวีเดนซึ่งมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน มักติดอันดับต้นๆ เสมอ ปัจจุบันสวีเดนเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นตัวการของปัญหามลพิษในระดับที่ต่ำมาก ข้อมูลจากทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ชาวอเมริกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ชาวสวีเดนปล่อยถึง 4 เท่า
แต่สวีเดนก็ไม่หยุดอยู่แค่นี้ พวกเขากำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ภายในปี 2045 ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ตั้งเป้าให้ประเทศสมาชิกใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 20% ภายในปี 2020 ภายใต้เงื่อนไขความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือความตกลงปารีส ซึ่งคาดว่า ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะทำได้ตามข้อผูกมัดของ EU ขณะที่สวีเดนนั้นลอยตัวไปนานแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: