สวีเดนและฟินแลนด์ขยับเข้าใกล้การเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เหลือเพียงแค่รอการอนุมัติรับรองจากสภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่อาจกินระยะเวลายาวนาน
ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือลงนามในพิธีสารรับสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกในวันอังคารที่ผ่านมา (5 กรกฎาคม) หลังจากตุรกียอมยกเลิกการใช้อำนาจยับยั้ง (Veto) การรับสองประเทศนอร์ดิกเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เมื่อสัปดาห์ก่อน
การลงนามในพิธีสารทำให้ทั้งสองประเทศมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ NATO มากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ในฐานะหุ้นส่วนใกล้ชิด สวีเดนและฟินแลนด์สามารถเข้าร่วมการประชุมของ NATO ในกรณีที่การประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ส่งผลกระทบกับประเทศ ขณะที่ในฐานะผู้ได้รับเชิญเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ สวีเดนและฟินแลนด์จะสามารถเข้าร่วมการประชุมของ NATO ได้ทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่มีสิทธิ์ออกเสียงก็ตาม
ภายหลังการลงนาม เอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก และ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ยืนถ่ายภาพร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนและฟินแลนด์ที่ถือพิธีสารที่ลงนามแล้วโชว์เหล่าสื่อมวลชน ก่อนที่เสียงปรบมือจะดังขึ้นอย่างกึกก้อง
“ขอบคุณสำหรับการสนับสนุน กระบวนการให้สัตยาบันโดยแต่ละชาติสมาชิกเริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ บัดนี้” แอน ลินเด รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน โพสต์ข้อความบน Twitter
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้คือ กระบวนการให้สัตยาบันโดยรัฐสภาของสมาชิก NATO แต่ละประเทศ ซึ่งสวีเดนและฟินแลนด์จะต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากทั้ง 30 ชาติสมาชิก
ทั้งนี้แม้ตุรกียอมเปิดทางให้ NATO รับสวีเดนและฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการประชุมสุดยอดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ กรุงมาดริด แต่คาดว่าการให้สัตยาบันโดยรัฐสภาของตุรกีน่าจะยังคงเป็นอุปสรรคไม่ให้สองประเทศเข้าเป็นสมาชิกได้โดยง่าย
โดยประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เตือนว่าตุรกียังคงสามารถขัดขวางกระบวนการให้สัตยาบันได้ หากสวีเดนและฟินแลนด์ไม่ทำตามข้อเรียกร้องในการส่งตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มชาวเคิร์ดนอกกฎหมาย หรือเครือข่ายของผู้นำศาสนา ซึ่งตุรกีเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016
การเข้าร่วม NATO ของสวีเดนและฟินแลนด์ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปในรอบหลายทศวรรษ และจะทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนักอยู่แล้วจากนานาประเทศ ภายหลังการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประณามการตัดสินใจของ NATO หลังเชิญทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ ชี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนความทะเยอทะยานของ NATO ที่ต้องการจะรวบรวมสมาชิกและสั่งสมอำนาจให้มากยิ่งขึ้นในประชาคมโลก
“กับสวีเดนและฟินแลนด์ เราต่างไม่ได้มีปัญหาระหว่างกัน เหมือนกับที่เรามีปัญหากับยูเครน ถ้าพวกเขาต้องการจะเข้าเป็นพันธมิตร NATO ก็เชิญเลย
“แต่พวกเขาต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนหน้านี้ที่ไม่มีปัญหากัน เพราะมันไม่ได้มีภัยคุกคามใดๆ เกิดขึ้นมาก่อน แต่ในปัจจุบันนี้ต่างออกไป หากมีการเคลื่อนกำลังทางทหารหรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางการทหารเข้ามายังพื้นที่ เราก็จำเป็นต้องตอบโต้ในรูปแบบเดียวกัน สร้างภัยคุกคามในลักษณะเดียวกัน แบบเดียวกันกับที่ดินแดนหรือประเทศเหล่านั้นสร้างภัยคุกคามต่อเรา” ผู้นำรัสเซียกล่าว
ภาพ: Dursun Aydemir / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: