วันนี้ (4 มีนาคม) กิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณชั้น 2 ประตู 5 อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อชี้แจงมาตรการการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ราชกิจจานุเบกษา กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย
ในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว THE STANDARD ตามที่หน่วยงานข้างต้นได้เปิดแถลงข่าว เราพบว่าที่นี่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยร่วมกับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก
ทั้งนี้ในส่วนของการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหูจำนวน 5 จุด ที่บริเวณจุดตัดอาคารเทียบเครื่องบิน D จำนวน 2 จุด และบริเวณทางเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองจำนวน 3 จุด และในส่วนของการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาออก มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหูจำนวน 4 จุด ได้แก่
1.จุดตรวจค้นร่างกายและสัมภาระผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โซน 3
2.จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออก โซน 3 ช่องทาง Fast Track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร แถว T)
3.จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออก โซน 2 ช่องทาง Fast Track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร แถว W)
4.จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออก โซน 1 (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร แถว A)
สำหรับการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการจัดหลุมจอดไว้รองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไว้ที่หลุมจอดประชิดอาคาร C, E, F และ G เป็นการเฉพาะอีกด้วย และจะมีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิเมื่อผู้โดยสารเดินทางมาถึงสนามบิน หากมีไข้เกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก มีการเดินทางไป เดินทางมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรคโควิด-19 ถ้าผู้โดยสารเข้าลักษณะทั้ง 3 อย่างข้างต้น และแพทย์ที่ด่านควบคุมโรคมีความเห็นให้ดำเนินการเข้าพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรช่องทางเฉพาะเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลดำเนินการวินิจฉัยตรวจหาเชื้อทางห้องแล็บ
กิตติพงศ์เปิดเผยด้วยว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมิได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยในสุขอนามัยของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการทุกคน โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาความสะอาดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดตามจุดต่างๆ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาด เช่น ภายในห้องน้ำ รถเข็นกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เคาน์เตอร์ให้บริการสายการบิน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ รวมถึงเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง ลิฟต์ ทางเดินเลื่อน ราวบันได พื้นที่พักคอย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ณ บริเวณทางออกประตูเทียบเครื่องบินขาเข้าทุกประตูและพื้นที่อื่นๆ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก
ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้ยกระดับเปลี่ยนศูนย์อำนวยความสะดวกให้บริการผู้โดยสารเป็น Emergency Operation Center เพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงนี้ ณ ห้อง CIP 5 ชั้น 3 อาคารผู้โดยสาร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2132 9950
โดยภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่สายการบิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ นั่งประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร รวมถึงเพื่อช่วยดูแลประสานงานในการส่งผู้โดยสารคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ
ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานเพิ่มเติมเพื่อยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มากขึ้น
ด้าน พ.ต.อ. เชิงรณ ริมผดี รองโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุถึงกรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางไปทำงานผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุดมีผู้ที่เดินทางเข้าไทยมาแล้ว 180 คน นับตั้งแต่วันที่ 2-4 มีนาคม พบมีไข้ 19 คน และทางเจ้าหน้าที่ได้พาไปกักตัวเฝ้าระวังโรคแล้ว ซึ่งการที่กลุ่มคนไทยที่ทำงานผิดกฎหมายเข้ามายังประเทศไทยนั้นถือว่าไม่มีความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย และไม่สามารถที่จะดำเนินคดีได้ เพราะเป็นกฎหมายคนละประเทศ แต่ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทยจะมีการทำประวัติทั้งหมดไว้ ส่วนในอนาคตหากกลุ่มดังกล่าวจะเดินทางออกนอกประเทศไทยไปยังเกาหลีใต้อีกนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของฝั่งเกาหลีใต้ว่าจะอนุญาตให้เข้าประเทศหรือไม่ ซึ่งล่าสุดทางเกาหลีใต้ได้นิรโทษกรรมกลุ่มคนไทยที่ทำงานผิดกฎหมายที่เดินทางกลับไทยจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้
ส่วนกรณีที่ว่ามีกลุ่มคนไทยที่ทำงานผิดกฎหมายเดินทางเข้าไทยมาแล้วหลายพันคนนั้น พ.ต.อ. เชิงรณ ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2563 มีคนไทยที่ถูกส่งตัวกลับทั้งหมด 2,022 คน จากทั้ง 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าทั้ง 2,022 คนนั้นจะเป็นกลุ่มที่ทำงานผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะอาจจะมีกลุ่มที่ถูกปฏิเสธเข้าประเทศร่วมด้วย
ด้านกลุ่มคนไทยที่เดินทางไปทำงานผิดกฎหมายแล้วตรวจไม่พบไข้สูงนั้น ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะประสานไปยังกรมควบคุมโรคในการทำประวัติที่พักอาศัยในการกักตัวเฝ้าระวังโรค 14 วันตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดตามที่แจ้งในการเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการดำเนินคดีทั้งจำและปรับ
ส่วนการคัดกรองกลุ่มคนไทยที่ทำงานผิดกฎหมายในต่างแดน เมื่อมีการแจ้งเจตนาเดินทางกลับไทย ทางเจ้าหน้าที่สายการบินต้นทางจะควบคุมโซนที่นั่งและเก็บพาสปอร์ต รวมถึงจะแจ้งยอดมายังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทย และเมื่อมาถึงก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับตั้งแต่ประตูเครื่องบินในการไปตรวจคัดกรอง ส่วนชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวคนอื่นก็จะต้องกักตัวยังที่พักที่แจ้งกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 14 วันเช่นกัน