×

ปลัด มท. เผย ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบแล้วกว่า 1.49 แสนราย ยอดหนี้กว่า 11,097 ล้านบาท ย้ำไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% แม้ปิดรับลงทะเบียน 29 ก.พ.

โดย THE STANDARD TEAM
29.02.2024
  • LOADING...
หนี้นอกระบบ

วานนี้ (28 กุมภาพันธ์) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 90 โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียน พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 149,833 ราย มูลหนี้รวม 11,097.302 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 123,874 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 25,959 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 121,688 ราย

 

กทม. ลงทะเบียนแก้หนี้เยอะสุด

 

พื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

 

  1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,257 ราย เจ้าหนี้ 8,788 ราย มูลหนี้ 1,011.944 ล้านบาท
  2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 6,010 ราย เจ้าหนี้ 5,750 ราย มูลหนี้ 413.291 ล้านบาท
  3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,494 ราย เจ้าหนี้ 4,487 ราย มูลหนี้ 364.302 ล้านบาท
  4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 5,179 ราย เจ้าหนี้ 4,310 ราย มูลหนี้ 456.289 ล้านบาท
  5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 4,256 ราย เจ้าหนี้ 3,178 ราย มูลหนี้ 406.492 ล้านบาท

 

ขณะที่พื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

 

  1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 246 ราย เจ้าหนี้ 246 ราย มูลหนี้ 14.924 ล้านบาท
  2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 355 ราย เจ้าหนี้ 273 ราย มูลหนี้ 24.553 ล้านบาท
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 399 ราย เจ้าหนี้ 314 ราย มูลหนี้ 18.796 ล้านบาท
  4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 472 ราย เจ้าหนี้ 347 ราย มูลหนี้ 20.755 ล้านบาท
  5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 484 ราย เจ้าหนี้ 396 ราย มูลหนี้ 28.028 ล้านบาท

 

สุทธิพงษ์กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 27,870 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 17,848 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,545.028 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,783.867 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 761.160 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม

 

โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,346 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 491 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 284.479 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 50.810 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 233.668 ล้านบาท

 

สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 294 คดี ใน 40 จังหวัด

 

ไกล่เกลี่ยให้ครบ 100%

 

สุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเร่งดำเนินการเชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% โดยบูรณาการร่วมกับอัยการ ตำรวจ สถาบันการเงินของรัฐ ในการไกล่เกลี่ยตกลงกันโดยใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด และขอให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการตามนโยบายของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

 

ในส่วนของข้อมูลเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้กรมการปกครองบูรณาการข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการสืบหาเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ทวงหนี้แบบข่มขู่และใช้ความรุนแรง แต่หากเกิดกรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที ถึงแม้ว่าเราจะปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้เกิดความต่อเนื่อง

 

ปิดรับลงทะเบียน 29 ก.พ. นี้

 

ขอให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ประชาสัมพันธ์ช่องทางสายด่วน 1567 ของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนทั้งเรื่องหนี้นอกระบบหรือเรื่องอื่นๆ สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกระทรวงมหาดไทยได้ในทุกเรื่อง

สุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้คงเหลือเวลาอีกเพียง 1 วันที่พี่น้องประชาชนยังสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนวันสุดท้ายคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะปิดการลงทะเบียนของศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบภายในเวลา 16.30 น. (เวลาราชการ) และช่องทางออนไลน์ https://debt.dopa.go.th ภายในเวลา 00.00 น. ของวันดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X