การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคาม ได้ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยข้อกล่าวหา ‘ไม่สุจริตใจในการบริหารประเทศ’ เอื้อพวกพ้อง ไร้ความสามารถ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย และอาจนำไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศไทย
สุทินชี้ว่า รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ โดยเฉพาะการใช้นโยบายประชารัฐเอื้อทุนใหญ่ ภาคเอกชน แต่กลับทอดทิ้งเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งนำไปสู่ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’
“เรากำลังเข้าวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง รัฐบาล พล.อ. ประยุกต์ กำลังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ถดถอย และเสื่อมที่สุด ลามไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นคนทำ โดยมีสารตั้งต้นคือ ‘นโยบายประชารัฐ’
“ประชารัฐเป็นแนวคิดที่ดี ในต่างประเทศทำกันสำเร็จ แต่ของประเทศไทย เมื่อทำจริงๆ แล้ว กลายเป็นไม่ได้ทำประชารัฐ แต่เป็น ‘เอกรัฐ’ นั่นคือการนำเอกชนมาควบรวมกับรัฐบาล แล้วตัดประชาชนออกไป เปิดประตูให้บริษัทเอกชนและเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ๆ เข้ามานั่งบริหารและกำหนดประเทศ เอื้อทุนใหญ่”
สุทินกล่าวต่อว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทอดทิ้งพี่น้องประชาชนภาคเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะเกษตกร และธุรกิจ SMEs ทั้งๆ สมัยที่ตนเคยเป็นคณะรัฐบาล และพาประเทศกลับมาจากวิกฤตเมื่อปี 2540 ได้ ก็เป็นเพราะการกระตุ้นภาค SMEs และ OTOP
“ความผิดพลาดของท่านประยุทธ์ คือไม่ดูแลเศรษฐกิจฐานรากเลย เมื่อไม่ดูแลก็ทรุดหนัก อัดมาตรการอย่างไรมันก็ไม่ดีขึ้น ไปกระตุ้นการบริโภค ทั้งๆ ที่เขาไม่มีเงินจะบริโภค ราคาสินค้าเกษตรยังไม่โงหัว ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของท่านคือการทอดทิ้งเกษตรกรฐานราก และอุตสาหกรรมระดับล่างของไทย”
“ท่านไม่ยอมรับความจริง พูดเหมือนว่าเศรษฐกิจดี ไม่มีอะไรเสียหาย มาถูกทาง ทั้งๆ ที่การยอมรับความจริงคือการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ให้ความหวังประชาชน ยิ่งฟังท่านประยุทธ์, ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) และท่านอุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) พูดเมื่อวานนี้ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าเราคงอยู่กันคนละประเทศ
“การที่ท่านบอกว่าเศรษฐกิจวันนี้ยังดี ฐานรากมั่นคง โดยเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของ GDP กับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ว่ามีการขยายตัวของ GDP ต่ำกว่าของประเทศของเรา มันไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรง เนื่องจากประเทศดังกล่าวเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีการขยายตัวเต็มที่”
สุทินยังได้ยกข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนมหาเศรษฐีไทยจำนวนมาก มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่ประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลงเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างดี
“ถามว่าความเหลื่อมล้ำวันนี้จะเป็นต่อไปอีกนานไหม ก็ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาของท่าน ถ้าท่านแก้ได้วันนี้ก็จบ ยิ่งทุนใหญ่มีทุนมากก็ยิ่งไล่กินทุนเล็กได้ ถ้าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเพิกเฉย ไม่ทำอะไรเลย รายเล็กรายย่อยก็จะตายกันหมด
“สาเหตุที่ท่านไม่ยอมปฏิรูปก็เป็นเพราะรู้ดีว่า ปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยเมื่อไร ท่านและเพื่อนท่านซึ่งเป็นทุนใหญ่คือผู้ประสบภัยจากการปฏิรูป ท่านจึงหนีเรื่องนี้”
ส่วนประเด็นหนี้สินครัวเรือน สุทินระบุว่า กรณีที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนไทยในปี 2563 อาจจะพุ่งแตะถึง 80% ต่อ GDP นั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และจะทำให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในดันดับที่สองของประเทศที่มีหนี้สินครัวเรือนสูงสุดของโลกด้วยซ้ำ
“ท่านนายกมีปมด้อยเพราะเข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจ เมื่อยึดอำนาจในปี 2557 แล้ว ผลที่ตามมาคือการเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะ EU ซึ่ง GDP ของไทยมาจากต่างประเทศถึง 70% ที่เหลืออีก 30% เกิดขึ้นภายในประเทศ เมื่อยึดอำนาจ สัดส่วน 70% ดังกล่าวก็หายไปทันที เพราะส่งออกไม่ได้เนื่องจากประเทศคู่ค้าปฏิเสธการทำการค้า นั่นจึงทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบลงต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
“การที่เศรษฐกิจตกต่ำในวันนี้ ท่านอ้างสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็ง แต่กลับลืมพูดถึงตัวท่านเอง”
ขณะที่ประเด็นค่าเงินบาทแข็งนั้น สุทินระบุว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นอิสระไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาล แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ ดังนั้นก็ควรจะพูดคุยปัญหากับแบงก์ชาติโดยตรง หากไม่เป็นผลก็สามารถยื่นเรื่องแก้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมาที่สภาได้เช่นกัน เพราะตนและพรรคฝ่ายค้านก็ยินดีจะช่วยดำเนินการแก้ไขให้ หากเห็นตรงกันแล้วว่า การบริหารงานของหน่วยงานดังกล่าวส่งผลเสียกับประเทศ
“ขอให้ท่านเสียสละให้กับบ้านเมือง ยุบสภาไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่ความผิดของสภา ลาออกเท่านั้น” สุทินกล่าวทิ้งท้ายในการอภิปราย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์