วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อสอบปากคำให้การนัดแรกคดี หลังถูกฟ้องในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีอนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีจัดซื้อจัดจ้างโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง พร้อมจำเลยรวม 6 คน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง
สุเทพเปิดเผยก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงข้อกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว หลังถูกสังคมมองว่ามีความผิด ถูก ป.ป.ช. ฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งความจริงคดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่การไต่สวนยาวนานถึง 6 ปี และอัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้องพร้อมส่งสำนวนคืนให้กับ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง
สำหรับการไต่ศาลนัดแรกจะยื่นคำให้การเป็นเอกสารโดยย่อ จำนวน 31 หน้า เพื่อแสดงให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดี และคิดว่าหลังจากวันนี้คดีจะไม่ยืดเยื้อแล้ว โดยอาจจะใช้เวลา 1-3 เดือน คาดว่าน่าจะจบภายในปีนี้ และวันนี้ก็รู้สึกสบายใจขึ้น เพราะทุกข์ทรมานมาหลายปี จะได้ยุติเสียที
สุเทพยังเปิดเผยแนวทางการต่อสู้ โดยยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด เพราะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีไม่มีเรื่องการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการในยุคนั้นที่จะจัดซื้อจัดจ้างโดยแบ่งเป็นภาค ซึ่งตนเองก็เห็นว่าเป็นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีที่สุด โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น เสนอมาตนเองก็ให้ความเห็นชอบ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้ขอตั้งงบประมาณ หลังจากนั้นต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งงบประมาณแทนที่จะทำเป็น 9 โครงการ แต่กลับทำเป็นสัญญาเดียว และต่อมาเมื่อ พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. แย้งว่าสัญญาดังกล่าวทำไม่ได้ เพราะเข้าข่ายแบ่งซื้อแบ่งจ้างผิดกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ออกแล้ว จึงเสนอว่าวิธีการที่ตนเองเห็นชอบขณะนั้นต้องยกเลิกเปลี่ยนมาเป็นสัญญาเดียว ซึ่งจากการตรวจสอบ พ.ร.บ.งบประมาณ พบว่าทำเป็นสัญญาเดียว จึงมีการอนุมัติตามที่ขอมา จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขัน 5 ราย ผู้ชนะการประมูลเสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท และต่อมา พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. คนต่อมา ได้ทำเรื่องเสนอและยืนยันดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้เซ็นลงนามตามเสนอมา
จากนั้นตนเองก็พ้นจากตำแหน่ง และต่อมามีการขยายเวลาก่อสร้างอีก 270 วัน และต่อมา ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเรื่องนี้มาโจมตีหวังผลทางการเมืองช่วย พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ หาเสียงในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนเองก็ได้ยื่นฟ้องธาริต จนนำไปสู่การตัดสินจำคุก และธาริตก็นำเรื่องนี้ไปยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. แต่ทาง ป.ป.ช. ไม่รับฟังพยานบุคคลที่รู้ข้อเท็จจริง เช่น เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งตนจะนำบุคคลเหล่านี้มาซักค้านในการต่อสู้คดีนี้ด้วย เพราะอำนาจศาลฎีกาสามารถเรียกพยานบุคคลและเอกสารมาให้ปากคำได้ ส่วนหากชนะคดีจะฟ้องกลับ ป.ป.ช. หรือไม่นั้น อยากให้รอดูตอนจบ รับรองพวกเราจะชอบใจ