×

สุเทพ ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย แก้ ม.112 บอกกังวลใจความเห็นต่าง อาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
04.11.2021
  • LOADING...
สุเทพ เทือกสุบรรณ

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านรายการ ‘คุยกับลุง’ EP.4 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)’ โดยมีเนื้อหาระบุว่า วันนี้ตนขอมาสนทนาในเรื่องที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นที่พูดจากันถี่ๆ บ่อยๆ คือเรื่องของการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นในสาธารณะ ทั้งผู้ที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ และผู้ที่ไม่เห็นด้วย 

 

สุเทพกล่าวว่า วันนี้ตนไม่ได้มาชวนพี่น้องประชาชนให้ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ พวกเราประชาชนคิดอย่างไร ยังไม่ต้องไปวิจารณ์ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะยังไม่เห็นว่าร่างกฎหมายที่เขาจะเสนอแก้ไขนั้นมีเนื้อหาสาระมีข้อความอย่างไร เขาจะแก้ส่วนไหนของมาตรา 112 หรือเขาจะแก้ทั้งหมดเลย เรารอไว้ก่อน รอไว้ให้เห็นร่างที่เขาเสนอมาก่อน แล้วเราค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์ 

 

ในชั้นนี้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฎหมายอาญา มาตรา 112 มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร เป้าหมายวัตถุประสงค์ที่เขาตรากฎหมายฉบับนี้เอาไว้เพื่ออะไร มีที่มาอย่างไร 

 

สุเทพกล่าวต่อไปว่า อยากให้พี่น้องประชาชนได้ดูตัวกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้แบบนี้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี เนื้อหาสาระมีแค่นี้ เพราะฉะนั้นยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ตรงไหน หรือเขาจะเขียนขึ้นใหม่อย่างไร เราถึงต้องติดตามดูกันตอนหลัง

 

สุเทพกล่าวต่ออีกว่า การตรากฎหมายขึ้นในประเทศเป็นไปตามหลักการปกครองของบ้านเมือง เดิมทีประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจอธิปไตย อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของพระมหากษัตริย์ ทรงใช้พระราชอำนาจในการปกครองประเทศ เพื่อประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรทั้งหลาย  

 

แต่ว่าในปี 2475 เราได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ว่าจะต้องใช้อำนาจนั้นกันอย่างไรก็มีข้อที่จะต้องบัญญัติเอาไว้ในทางกฎหมาย เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ปกครองโดยมีตัวบทกฎหมายเป็นหลักยึด เรียกว่าเป็นการปกครองตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

 

ในเรื่องนี้ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว อุดมการณ์การปกครองของประเทศไทย เรายึดถือว่าเราจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข องค์กรอื่นๆ ที่จะใช้อำนาจก็ต้องมีกรอบ มีกติกาเขียนเอาไว้ ทั้งหมดอยู่ในรัฐธรรมนูญ และฉบับที่ผมถือคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน

 

แต่ว่าตั้งแต่ฉบับแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เราก็ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกมาจนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน บัญญัติว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติว่าอย่างนี้ ว่าประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นราชอาณาจักร เพราะเป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดิน บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 บททั่วไปแห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้  

 

ในมาตรา 2 ชัดเลย ที่ว่าเป็นราชอาณาจักรนั้น คือประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเรียกว่าราชอาณาจักร ทุกแห่งในโลกยังมีประเทศที่ปกครองที่เป็นราชอาณาจักรมากมาย หลายสิบประเทศทั่วโลก  

 

ส่วนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านี้ อำนาจในประเทศไทย ตรากฎหมาย อำนาจในการบริหารประเทศ และอำนาจในการพิจารณาคดีความทั้งหลาย บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 3 บัญญัติเอาไว้ว่า อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ และมีบัญญัติเรื่องหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเอาไว้ว่าจะต้องทำหน้าที่นั้น จะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมคือต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไรต้องปฏิบัติตามนั้น

 

สุเทพกล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะคือ บทบัญญัติในหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ จะยกมาให้พี่น้องประชาชนได้เห็นบทบัญญัติในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสากลที่เขาทำกันทุกประเทศ เขาจะต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องประมุขของประเทศที่ดำรงฐานะอยู่ในฐานะสูงสุด เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือจะเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขก็ตาม ต้องมีกฎหมายแบบนี้ นี่ก็คือที่มาของกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

สุเทพกล่าวต่ออีกว่า เราตรากฎหมายอาญา มาตรา 112 ขึ้น เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ไม่ให้ผู้ใดละเมิด จริงๆ แล้วเราไม่ได้ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเรา เรามีกฎหมายอาญา มาตรา 133 ปกป้องประมุขของรัฐอื่น ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ข้อความเหมือนกันเลย สาระในกฎหมายที่บัญญัติไว้มีข้อความเหมือนกัน มาตรา 133 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางคุกจำโทษตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พี่น้องประชาชนเห็นไหม เรามีกฎหมายอาญาปกป้องทั้งพระประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ของเรา และเราให้เกียรติปกป้องประมุขของประเทศอื่น

 

“ลองนึกดูว่าถ้าเราไม่เขียนปกป้องประมุขของประเทศอื่นไว้ หากมีคนไทยคนไหนเครื่องร้อนขึ้นมา ไปหมิ่นประมาท ไปดูหมิ่น หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุขประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระราชาธิบดี หรือประธานาธิบดี ถ้าเกิดมีคนไทยทำอย่างนั้นขึ้นมา เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ประชาชนเขาก็คงไม่ยอมว่าทำไมคนไทยถึงไปล่วงละเมิดดูหมิ่นประมุขของประเทศเขา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นสงครามได้ เป็นเรื่องใหญ่ได้” สุเทพกล่าว

 

สุเทพกล่าวต่อด้วยว่า สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา เรื่องการปกป้องประมุขของประเทศจึงเป็นหลักสากล ประเทศอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้น พี่น้องประชาชนไปสหรัฐอเมริกา อยู่ดีๆ จะไปยืนด่าประธานาธิบดี หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อประธานาธิบดีของเขา ก็จะถูกกฎหมายของเขาดำเนินการลงโทษจำคุก นี่เป็นเรื่องที่เป็นปกติสากล ทีนี้ในประเทศของเรา เพราะคนไทยมีความกตัญญูรู้คุณต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเพณี การปกครองของประเทศ เราจึงได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาตราอื่นรองรับในกฎในกติกาของรัฐธรรมนูญ 

 

“พี่น้องประชาชนต้องติดตามว่า มาตรา 112 ที่มีบทบัญญัติห้ามไม่ผู้ใดไปหมิ่นประมาท หรือไปดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าเห็นแค่นี้ เข้าใจตรงนี้ เราก็จะได้ติดตามได้ว่า แล้วคนที่เขาตั้งใจจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้เขาคิดอะไร เขาต้องการทำอะไร เพื่อเป้าหมายอะไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยที่คนไทยจะต้องมาทะเลาะกันในเรื่องนี้ แต่ว่าที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อก่อนมันไม่เคยมีใครคิดที่จะไปดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือจะไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนไทยก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่มีใครเดือดร้อนที่กฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติเอาไว้ว่าไม่ให้หมิ่นประมาท หรือไม่ให้แสดงออกความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะไม่มีคนไทยคนไหนเขาคิดทำอย่างนั้น แล้วทุกคนก็คิดว่าที่ตรากฎหมายแบบนี้ไม่กระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่อนาคตของใครเลย แต่วันนี้พอจะมีคนมาแก้ไขก็เลยต้องไปดูว่าทำเพื่ออะไร” สุเทพกล่าว

 

สุเทพยังกล่าวต่อไปอีกว่า ตนกังวลใจลึกๆ ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ วันนี้มี 3 ฝ่ายในประเทศ ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายที่ 3 ไม่รู้จะคิดอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาคิดจะแก้ไข หรือเรื่องที่เขาไม่ต้องการจะแก้ไข เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ตนถึงได้มาชวนพี่น้องประชาชนพูดคุยกันว่า เราต้องให้ความสนใจกัน ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เราเป็นเจ้าของประเทศนี้ สิ่งที่มีคนคิด สิ่งที่มีคนต้องการกระทำ และมีคนไม่เห็นด้วย จะมีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยทั้งหมด จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยของเราโดยรวม เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย วันนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้ว จึงชวนพี่น้องมาช่วยกันติดตามศึกษา และเราต้องร่วมกันตัดสินใจ พี่น้องประชาชนคนไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ โดยเลือก ส.ส. เลือกวุฒิสมาชิกเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ ในทางออกกฎหมายแก้กฎหมายแทนพวกเรา เมื่อกฎหมายนั้นจะต้องมีผลต่อประเทศโดยรวม เราจึงจำเป็นต้องสนใจ จะได้รู้ว่าตัวแทนที่เราเลือกไปไปทำงานอย่างเราต้องการหรือตรงกับใจเราหรือเปล่า วันนี้จึงได้มาคุยกันในเรื่องเนื้อหาสาระที่มาที่ไปของกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อจะได้ติดตามสถานการณ์ได้ทัน และเมื่อต้องแสดงความเห็นเมื่อถึงวันนั้นจะได้แสดงความคิดเห็นได้ถูกต้อง

 

สุเทพกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นมากที่สุดคือความสงบสุขของบ้านเมือง ความผาสุกของพี่น้องประชาชน เราไม่ต้องการมีความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศอีก ในทางประชาธิปไตยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยคนในประเทศมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้ แต่ว่าต้องตัดสินกันด้วยเหตุผล คนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินว่าความถูกต้องความมีเหตุมีผลที่แท้จริงเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็คือพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กฎมายอาญา มาตรา 112 มานั่งดูแล้วติดตามว่า เราอ่านกฎหมายฉบับนี้แล้ว เรารู้แล้วนะว่าเขาห้ามไม่ให้ไปหมิ่นประมาท ไม่ไปดูหมิ่น ไม่ให้ไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการถวายพระเกียรติยศ ถวายสักการะในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งเหมือนประชาชนในประเทศอื่นทั้งหลายที่เขาให้ความเคารพยกย่องประมุขของประเทศเขา เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราถึงจะรู้ได้ว่าเราจะคิดเห็นอย่างไรกับการที่มีคนต้องการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะได้มาพินิจ พิจารณา พิเคราะห์ว่าตรงใจเราหรือเปล่า ถูกใจเราหรือเปล่า หรือเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวมหรือเปล่า

 

“ผมสารภาพเลยว่าผมยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้เหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับประเทศไทยของเรา อยากเอาความคิดตรงนี้มาจุดประกายความคิดในใจของพี่น้องประชาชนว่าผมคิดถูกหรือเปล่าที่คิดอย่างนี้ พี่น้องประชาชนที่เป็นคนไทยแบบผมคิดเห็นแบบผมกันหรือเปล่า วันหลังเราจะมาคุยกันถึงเนื้อหาสาระในร่างแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคการเมืองพรรคต่างๆ เขากำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา” สุเทพกล่าวในท้ายที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X