ยุคนี้วิธีรักษาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องทำง่ายขึ้นเยอะ ส่วนหนึ่งคงเพราะองค์กรขนาดใหญ่ที่เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักดีว่า การป่าวประกาศให้คนหันมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวไม่ทรงพลังพอ จึงหาวิธีที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ‘รักษ์โลก’ ได้ในทุกมิติ
ล่าสุด ข้าวตราฉัตร เปิดตัว ‘ถุงข้าวลดโลกร้อน’ พร้อมประกาศความร่วมมือยกระดับการพัฒนาถุงข้าวตราฉัตร ที่นอกจากรีไซเคิลได้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ถุงข้าวลดโลกร้อนคืออะไร ต่างจากถุงข้าวปกติที่เราใช้อยู่ทุกวันอย่างไร และถ้าเราทุกคนเปลี่ยนมาสนับสนุนถุงข้าวลดโลกร้อนจะช่วยสิ่งแวดล้อมในมิติใดบ้าง THE STANDARD ชวนคุณหาคำตอบไปพร้อมกัน
หลังเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกลุ่มธุรกิจข้าวตราฉัตร ผนึกสองผู้เชี่ยวชาญด้านแพ็กเกจจิ้ง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) (ผู้นำด้านแมตทีเรียลส์ ไซแอนซ์ ระดับโลก) และ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ใน เอสซีจีพี (SCGP) ผู้ผลิตแพ็กเกจจิ้งพลาสติกชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ชั้นนำของประเทศไทย มุ่งมั่นพัฒนาถุงข้าวรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานถุงข้าวสารเป็นถุงข้าวรักษ์โลก ด้วยนวัตกรรม INNATE™ และเทคนิคดาวน์ เกจจิ้ง (Down Gauging-บางลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น) ถือเป็นแบรนด์แรกของไทยที่ได้นำนวัตกรรมระดับโลกมาใช้ในการผลิตถุง เพื่อรีไซเคิลแบบครบวงจร
‘ถุงข้าวรักษ์โลก’ หนึ่งในยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจข้าวตราฉัตร กล่าวถึงยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 ประการ กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือข้าวตราฉัตร ได้นำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ภายในองค์กร เกิดเป็นปณิธานทั้ง 3 ข้อ
- มุ่งมั่นที่จะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีปัญหา หรือไม่จำเป็นภายในองค์กร
- เปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไป สู่รูปแบบที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้ ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
(จากซ้ายไปขวา) ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, ฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจข้าวตราฉัตร และ ภราดร จุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจีพี (SCGP)
ฐิติยังกล่าวเสริมว่า “เราตั้งเป้าที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2568 จึงเป็นที่มาของการเดินหน้ายกระดับมาตรฐานถุงข้าวสารเป็นถุงข้าวรักษ์โลก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ถุงข้าวตราฉัตรสามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ โดยตั้งเป้าพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต ให้ถุงข้าวตราฉัตรมีประสิทธิภาพสูงและแข็งแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการลดใช้ปริมาณพลาสติกและพลังงานในขั้นตอนก่อนผลิต ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน”
ถุงข้าวสารที่บางลง จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
นี่เป็นประเด็นที่หลายคนอาจตั้งข้อสงสัย ซึ่งเรื่องนี้ ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตถุงข้าวสารให้บางลง จากเดิม 110 ไมครอน เหลือ 90 ไมครอน ด้วยนวัตกรรม INNATE™ ซึ่งเป็นโซลูชันใหม่ของ Dow ที่ช่วยให้ถุงข้าวบางลงแต่มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ใช้ปริมาณวัสดุน้อยลงกว่า และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการลดการใช้เม็ดพลาสติกสำหรับการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 18% นอกจากนี้ยังช่วยลดพลังงานในกระบวนการบรรจุ ด้วยการใช้อุณหภูมิที่ต่ำลงในการปิดปากถุงข้าว
นวัตกรรมเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน INNATE™ สำหรับผลิตแพ็กเกจจิ้งยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รีไซเคิลได้ง่าย
ฉัตรชัย เผยเป้าหมายในเรื่องนี้ไว้ว่า “ช่วงเริ่มต้นคาดว่าจะลดปริมาณการใช้พลาสติกได้กว่า 300 ตันต่อปี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 600 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 600 ไร่ และเป็นการส่งเสริมการรีไซเคิล เนื่องจากเป็นถุงฟิล์มหลายชั้น ที่ผลิตจากพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดเดียวที่รีไซเคิลได้ง่าย สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ในการต้านโลกร้อนด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการลดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล”
แน่นอนว่านวัตกรรม INNATE™ จะยังสามารถผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดเติม (ถุงรีฟิล) รวมทั้งถุงทรงตั้งสำหรับของแห้งและของเหลว ถุงใส่ข้าวสาร ถุงใส่อาหารสัตว์ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ต้องรองรับสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆ ได้อีกด้วย
แนวคิดที่ดี นวัตกรรมที่พร้อม และยังต้องตอบโจทย์ด้วยดีไซน์แพ็กเกจจิ้งที่น่าใช้
ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการส่งต่อผลิตภัณฑ์และแนวคิดที่ดีให้ถึงมือผู้บริโภค คือการออกแบบที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ไม้สุดท้ายจึงถูกส่งต่อให้กับ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด องค์กรที่เชี่ยวชาญงานออกแบบสินค้าและบริการ ภราดร จุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจีพี (SCGP) กล่าวว่า “จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น เอสซีจีพีจึงให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังได้นำแนวทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านการออกแบบสินค้าและบริการ เน้นการออกแบบและผลิตสินค้าให้เจ้าของสินค้า (Brand Owner) และผู้บริโภคได้รับความสะดวก ใช้งานง่าย ใช้ทรัพยากรน้อยแต่คงทนแข็งแรง สามารถนำมาใช้ซ้ำและนำกลับมารีไซเคิลได้”
สิ่งที่เอสซีจีพีทำมาตลอดคือการปรับปรุงการผลิตและการดำเนินการให้เกิด Circular Economy ตลอดทั้ง Supply Chain เช่น การลดการใช้น้ำและพลังงานในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การขับเคลื่อน Circular Economy จากภายในองค์กรไปสู่สังคมภายนอก ทุกกระบวนการผลิตและออกแบบ เอสซีจีพีจึงเน้นย้ำให้ทุกส่วนเห็นคุณค่าและขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ช่วยกันทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
‘ถังวนถุง’ ในโครงการ มือวิเศษ x วน โดย PPP Plastics
คุณเองก็ช่วยโลกได้
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อต้นน้ำสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% ผู้บริโภคเองก็คงต้องทำหน้าที่ปลายน้ำในการ ‘ส่งคืน’ ถุงข้าวกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ด้วยการนำ ‘ถุงข้าวตราฉัตร’ ทิ้งลงในถังรีไซเคิลตามปกติ หรือนำมาบริจาคที่ ‘ถังวนถุง’ ในโครงการ มือวิเศษ x วน โดย PPP Plastics ที่ห้างสรรพสินค้า เช่น มาบุญครอง, เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, เทสโก้ โลตัส และปั๊มน้ำมันบางจาก
หรือส่งทางไปรณีย์ที่ ‘โครงการ วน’ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 โดยถุงข้าวตราฉัตรที่ประชาชนนำมามอบให้ ‘ถังวนถุง’ จะมีมูลค่ากิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงินบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
เช็กจุดตั้ง ‘ถังวนถุง’ ใกล้บ้านได้ที่ shorturl.at/wBGKV