×

‘โลกรวน’ ทำเฮอริเคนรุนแรงขึ้นจริงหรือ?

29.09.2022
  • LOADING...
โลกรวน

สัปดาห์นี้ สหรัฐอเมริกาและคิวบาต่างต้องเผชิญกับเฮอริเคนเอียนที่มีความอันตรายอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเฮอริเคนลูกนี้เป็นเฮอริเคนระดับ 4 ที่มีความเร็วลมกว่า 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออีกเพียงนิดเดียวก็จะไต่ขึ้นสู่เฮอริเคนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงสูงสุดตามมาตรวัดเฮอริเคน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และคลื่นใหญ่ซัดถล่มฝั่ง บ้านเรือนพังเสียหายหลายหลัง ขณะมีรายงานว่าบางพื้นที่ของรัฐฟลอริดาเกิดน้ำท่วมฉับพลันสูงเกือบถึงหลังคาบ้าน

 

ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคนต้องรีบอพยพไปยังที่ปลอดภัย ขณะวานนี้บ้านเรือนและธุรกิจกว่า 1.8 ล้านแห่งในสหรัฐฯ ขาดแคลนไฟฟ้าใช้ อีกทั้งยังเกิดเหตุเรือของผู้อพยพชาวคิวบากว่า 20 ชีวิตล่มนอกชายฝั่งฟลอริดา ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่ามีผู้รอดชีวิตแล้ว 7 คน แต่อีกหลายสิบชีวิตที่เหลือนั้นยังไม่อาจทราบชะตากรรมได้

 

ท่ามกลางสถานการณ์ของภัยธรรมชาติที่ดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นจนน่าวิตก ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ภาวะโลกรวนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาตินั้น มีผลต่อความรุนแรงของเฮอริเคนที่หลายประเทศต้องเผชิญด้วยหรือไม่ วันนี้ THE STANDARD จึงขอหยิบยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาไขข้อข้องใจของใครหลายๆ คนว่า โลกร้อน-โลกรวน มีอิทธิพลกับความรุนแรงของเฮอริเคนหรือไม่ อย่างไร

 

ก่อนอื่นนั้น เราขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ กันก่อนว่าเฮอริเคนคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เฮอริเคนเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

  • เฮอริเคนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยหลักๆ 2 อย่างด้วยกัน คือน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิอุ่นเกิน 26 องศาเซลเซียส และอากาศชื้น

 

  • น้ำทะเลอุ่นจะระเหยขึ้นไปรวมตัวกับคลื่นอากาศที่ถูกพัดพามาจากทางแอฟริกา โดยอากาศจะเริ่มลอยตัวและหมุนเป็นเกลียว ซึ่งขณะที่เฮอริเคนหมุนนั้นก็จะหอบเอาความชื้นในทะเลและไอน้ำเข้าไปด้วยหลายแสนตัน ทำให้ยิ่งเฮอริเคนเคลื่อนตัวเหนือน้ำทะเลอุ่นมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีกำลังแรงขึ้นเท่านั้น

 

โลกรวนทำเฮอริเคนรุนแรงขึ้นจริงหรือไม่?

 

  • แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการฟันธงชัดเจนว่า โลกรวนมีส่วนทำให้เฮอริเคนเอียนที่กำลังถล่มฟลอริดาเกิดความรุนแรงเช่นนี้หรือไม่ แต่หากดูจากข้อมูลของเฮอริเคนในอดีตที่ผ่านมานั้น นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าโลกรวนกับความรุนแรงของเฮอริเคนมีส่วนที่สัมพันธ์กันอย่างแน่นอน

 

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกทำให้เฮอริเคนดูดรับความชื้นจากทะเลมากขึ้น เกิดลมแรงขึ้น ส่งผลให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยในภาพรวม

 

  • นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า โลกรวนทำให้เฮอริเคนเคลื่อนตัวช้าลงด้วย ซึ่งแปลว่าเฮอริเคนจะสร้างความเสียหายต่อ 1 พื้นที่ได้หนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ของลมแรงที่จะสร้างความเสียหายนานขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่หนักหนาสาหัส ลองนึกภาพตามดูก็ได้ว่า ระหว่างการที่เรารดน้ำต้นไม้โดยส่ายสายยางอย่างรวดเร็วให้น้ำกระจายไปทั่วๆ กับการลากสายยางอย่างช้าๆ แบบไหนจะทำให้น้ำเจิ่งนองที่พื้นได้มากกว่ากัน

 

  • ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลด้วยว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทรบนโลกของเราได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินจากปรากฏการณ์เรือนกระจกเอาไว้ถึง 90% ทำให้อุณหภูมิบริเวณผิวน้ำสูงขึ้น ซึ่งความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้จะกระตุ้นความรุนแรงของพายุและกระแสลมด้วย

 

  • ข้อมูลจาก NASA เปิดเผยว่า เฮอริเคนแอตแลนติกเหนือมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความถี่ของการเกิดเฮอริเคนรุนแรงสูงระดับ 4 และ 5 ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกันตั้งแต่ช่วงปี 1980 พร้อมระบุว่ายิ่งอากาศอุ่นขึ้นเท่าไร ความรุนแรงและปริมาณน้ำฝนจากเฮอริเคนก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย เพราะอากาศที่อุ่นขึ้นจะทำให้น้ำระเหยมากขึ้นและอุ้มความชื้นไว้สูง ทำให้ปริมาณน้ำฝนจากเฮอริเคนมากขึ้นนั่นเอง

 

  • ข้อมูลจากวารสาร Nature Communications ระบุว่า ช่วงฤดูเฮอริเคนแอตแลนติกในปี 2020 ภาวะโลกรวนทำให้ปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงในเฮอริเคนเพิ่มขึ้น 8-11%

 

  • ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเฉลี่ยที่ 1.1 องศาเซลเซียส ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ประมาณการว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแตะที่ 2 องศาเซลเซียสเมื่อไร ความเร็วลมของเฮอริเคนอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% เลยทีเดียว

 

  • ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ NOAA ยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการเกิดเฮอริเคนที่มีความรุนแรงระดับ 4 และ 5 อาจเพิ่มขึ้นราว 10% ในศตวรรษนี้ โดยหากดูจากสถิติของปี 1851 จนถึงปัจจุบัน มีเฮอริเคนไม่ถึง 1 ใน 5 จากจำนวนทั้งหมดที่มีความรุนแรงไต่มาถึงระดับนี้

 

นอกจากในแง่ความรุนแรงแล้ว ยังมีผลกระทบอื่นๆ ที่น่ากังวลอีกหรือไม่? 

 

  • โลกรวนค่อยๆ ทำให้ฤดูการเกิดเฮอริเคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพายุได้ยาวนานขึ้นกว่าเดิมในแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าเฮอริเคนจะพัดขึ้นฝั่งในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย

 

  • สำหรับในสหรัฐฯ รัฐฟลอริดาเป็นพื้นที่ที่เจอกับเฮอริเคนมากที่สุด โดยนับตั้งแต่ปี 1851 ฟลอริดาโดนเฮอริเคนพัดถล่มแล้วถึง 120 ลูก

 

  • แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฟลอริดาเจอเฮอริเคนหลายลูกที่มีความรุนแรงสูง และพัดขึ้นฝั่งไปทางเหนือมากขึ้นจากในอดีต ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิอากาศและมหาสมุทรที่สูงขึ้น

 

  • อัลลิสัน วิง (Allison Wing) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านชั้นบรรยากาศโลกจาก Florida State University กล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับหลายเมืองในเขตละติจูดกลาง ได้แก่ นิวยอร์ก บอสตัน ปักกิ่ง และโตเกียว ซึ่งไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับมือกับพายุประเภทดังกล่าว

 

  • โดยปกติแล้ว อเมริกาเหนือจะเจอกับเฮอริเคนในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน โดยช่วงพีคสุดจะเป็นเดือนกันยายน เนื่องจากอากาศในฤดูร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น

 

  • แต่ในช่วงหลังมานี้ เฮอริเคนได้พัดเข้าฝั่งสหรัฐฯ เร็วขึ้นกว่าช่วงปี 1900 เป็นเวลาราว 3 สัปดาห์ หรือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

 

  • เทรนด์นี้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2013 อ่าวเบงกอลในเอเชียนั้นก็เจอไซโคลนที่ก่อตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ หรือในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนมรสุมฤดูร้อน

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดชี้ให้เห็นตรงกันว่า ภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ได้ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดรุนแรงขึ้นและอยู่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม หากมนุษย์ทุกคนบนโลกไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็คงมีสักวันหนึ่งที่ธรรมชาติจะเอาคืนพวกเราอย่างสาสมแน่นอน

 

ภาพ: NASA via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising