×

ทำไมนักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องประเทศร่ำรวยจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากภาวะโลกรวนให้ชาติยากจน

26.09.2022
  • LOADING...
Fridays for Future

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่ม Fridays for Future ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใส่ใจกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้รวมตัวประท้วงในกว่า 450 พื้นที่ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่พวกเขาเรียกร้องคือ การขอให้ประเทศที่ร่ำรวยจ่ายเงินให้กับประเทศยากจน เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกรวน

 

การประท้วงระลอกล่าสุดนี้เกิดขึ้นก่อนที่การประชุม COP27 จะเปิดฉากขึ้นในอีกเพียง 6 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาจะเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวในที่ประชุมด้วย ซึ่ง THE STANDARD จะพาไปทำความเข้าใจว่าเหตุใดผู้ที่สนใจสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจึงออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เช่นนี้ 

 

‘น้ำท่วมปากีสถาน’ จุดกระแสเรียกร้องประเทศร่ำรวยจ่ายเงินชดเชย

  • แม้การผลักดันให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากภาวะโลกรวนให้กับประเทศยากจนจะมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเรียกร้องนั้นเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ปากีสถานเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ที่ทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมหายอยู่ใต้บาดาล

 

  • หลายฝ่ายมองว่า ปากีสถานต้องรับกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เพราะเหตุน้ำท่วมรุนแรงเช่นนี้เป็นผลพวงจากภาวะโลกรวนที่ทำให้ฝนตกหนักรุนแรงผิดปกติ รวมถึงทำให้ธารน้ำแข็งละลายจนเกิดเหตุน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง ทั้งที่ถ้าดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ฉะนั้นประเทศที่ร่ำรวยจึงควรต้องออกมารับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ในฐานะชาติที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนมาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของตัวเอง

 

  • ในปัจจุบันนักสิ่งแวดล้อมได้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการจ่ายเงินชดเชยนี้ โดยเรียกว่าเป็น ‘การชำระเงินเพื่อชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย’ (Loss and Damage) แต่ก็มีนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ต้องการดันเพดานของกรอบการชดเชยให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยเรียกว่าเป็น ‘การชดใช้ด้านโลกรวน’ (Climate Reparations)

 

  • นอกจากศัพท์แสงที่ดูมีความแข็งกร้าวมากกว่าเดิมแล้วนั้น ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็เข้มข้นขึ้นด้วย โดยนักสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกหนี้สินสำหรับประเทศยากจนที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการชำระหนี้ต่างประเทศ มากกว่าจะเน้นไปที่การเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ทุ่มเงินทุนเพื่อช่วยประเทศยากจนยกระดับความแข็งแกร่งในการรับมือกับภาวะโลกรวน

 

  • มีรา กานี นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากเบลเยียม เผยมุมมองว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่มีแค่ประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการล่าอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การกวาดโกยทรัพยากร ความมั่งคั่ง และแรงงาน ของบรรดาประเทศมหาอำนาจ โดยเธอกล่าวว่า “วิกฤตโลกรวนคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของระบบการกดขี่ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด และเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิล่าอาณานิคม”

 

  • นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ยังได้พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหลายชาติในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนสูงสุด กลับเป็นชาติที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อภาวะโลกรวนน้อยที่สุด ยกตัวอย่างกันชัดๆ คือ ปากีสถานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% สวนทางกับกลุ่มประเทศ G20 ที่ปล่อยก๊าซรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80%

 

  • โดยขณะนี้มีชาวปากีสถานกว่า 1,600 คนที่เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ ประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน ส่วนตัวเลขความเสียหายพุ่งแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

การลดผลกระทบและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศอาจไม่พออีกต่อไป

  • ในปัจจุบันแนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นจะเน้นหลักๆ อยู่ที่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ

 

  1. การลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Mitigation) ซึ่งจะเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  2. การปรับตัว (Adaptation) ซึ่งเป็นการออกขั้นตอนต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้

 

  • อย่างไรก็ตาม โลกของเราได้เดินทางมาถึงจุดที่ทั้งสองมาตรการข้างต้นนั้นไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งวิกฤตการณ์ได้อีกต่อไป นานาชาติจึงได้หารือกันเพื่อหาหนทางอื่นๆ ในการจัดการกับผลกระทบจากภาวะโลกรวนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังเงินต่ำ

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่การเรียกร้องให้จ่ายค่าเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่มากกว่าการระดมทุนเพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปใช้รับมือกับภัยพิบัติ แต่จะเน้นแสวงหาเงินชดเชยสำหรับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศสุดขั้วที่หลายประเทศไม่สามารถแม้แต่จะรับมือหรือป้องกันได้

 

  • อย่างไรก็ตาม หนทางในการเรียกร้องเงินชดเชยดังกล่าวนั้นไม่ง่าย เพราะแม้แต่เป้าหมายที่เบากว่านี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยก่อนหน้านี้หลายประเทศร่ำรวยเคยตกลงกันว่าจะมอบเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2020 เพื่อนำไปใช้ในการปรับตัว แต่ก็ทำไม่ได้ตามสัญญา นอกจากนี้เงินทุนส่วนใหญ่ก็ยังมาในรูปแบบเงินกู้ด้วย

 

  • ไมรา ฮายัต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษาสันติภาพแห่งมหาวิทยาลัยน็อทร์ดามในรัฐอินเดียนา กล่าวว่า เป้าหมายของข้อเรียกร้องใหม่นี้คือ การทำให้กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (Global North) รับผิดชอบต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน โดยระบุว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการปล่อย GHG ต่ำ ต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวย แถมยังเป็นในรูปแบบเงินกู้ ซึ่งมีเงื่อนไขการชำระคืนที่ยากลำบาก

 

  • แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่ใช่ว่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะกล่าวโทษแต่ประเทศร่ำรวยเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างในกรณีของปากีสถานนั้นพวกเขากล่าวว่า รัฐบาลและผู้วางนโยบายของปากีสถานก็ควรมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย

 

  • แม้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีส่วนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้นก็จริง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายที่ไม่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ทั้งในแง่ของพื้นที่การตั้งถิ่นฐานของประชาชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างไม่เหมาะสม ตลอดจนนโยบายอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดมาอย่างรัดกุม

 

  • นอกจากนี้แม้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปากีสถานจะน้อยนิดหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมานั้น ปากีสถานเองก็มีอัตราการปล่อยก๊าซที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมมองว่า ปากีสถานเองก็ควรแสวงหาทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าด้วยเช่นกัน

 

ความหวังจากเดนมาร์ก

  • สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเดนมาร์กเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ชาติแรกที่ประกาศจะมอบเงิน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวนให้กับประเทศยากจน โดยจะมอบเงินให้กับเขตซาเฮล ซึ่งตั้งอยู่ที่ในทวีปแอฟริกาเหนือ และประเทศกลุ่มเปราะบางแห่งอื่นๆ ซึ่งจุดประกายความหวังเล็กๆ ว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะพิจารณาใช้มาตรการเดียวกับเดนมาร์กที่เป็นผู้ริเริ่ม

 

  • เงินจำนวนดังกล่าวจะทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนสำหรับวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงนำเงินที่ได้มาใช้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม 

 

  • นอกจากนี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล และนำเงินที่ได้นั้นไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน รวมถึงผู้คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น

 

  • ในปัจจุบันอังกฤษได้อนุมัติให้มีการเก็บภาษีลาภลอย 25% จากผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ ขณะที่สหภาพยุโรปวางแผนที่จะระดมเงินกว่า 1.4 แสนล้านยูโรผ่านการเก็บภาษีในลักษณะเดียวกัน เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้บริโภคจากราคาพลังงานที่ทะยานขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศ แต่กูเตอร์เรสได้เรียกร้องในภาพที่ใหญ่กว่าคือ เงินที่ได้จากการเก็บภาษีควรถูกนำไปมอบให้กับประเทศที่เปราะบางต่อสภาพอากาศด้วย ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีประเทศใดรับนำเอาข้อเรียกร้องของกูเตอร์เรสไปใช้จริงหรือไม่

 

ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้

  • สำหรับในประเทศไทยนั้น ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์ จาก Climate Watch Thailand เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ Slow Onset Events หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งสะสมมาเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบการตกของฝน 

 

  • โดย ดร.วนัน กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าห่วงว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดคือผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตร เพราะกิจกรรมการเกษตรที่ต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศนั้นกลับไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย ขณะที่ภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมหรือฝนแล้งก็ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีเงินทุนมากพอที่จะแก้ไขปัญหา หรือเตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

  • ด้วยเหตุนี้หากการผลักดันข้อเรียกร้องดังกล่าวประสบความสำเร็จ ไทยเองก็จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ด้วย 

 

  • ดร.วนัน ทิ้งท้ายว่า การสร้างความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน-โลกรวน ถือเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กับเรื่องของเงินทุน เพราะเราไม่สามารถนำชุดความเชื่อในอดีตมาใช้คาดการณ์อนาคตได้อย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันเราต้องคำนวณสมการความเสี่ยงใหม่ โดยนำเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากชาติต่างๆ เข้ามาประเมินด้วย เพื่อให้การคาดการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในอนาคตครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบแนวทางรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพ: Esra Taskin / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X