×

‘ความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่’ ความเสี่ยงใหม่ที่โลกไม่ควรมองข้าม

13.09.2022
  • LOADING...
ความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ประเด็นความเสี่ยงจากรายงานความเสี่ยงโลกเชื่อมโยงกับความยั่งยืนและธุรกิจอย่างแยกขาดไม่ได้ เช่น หลายเรื่องผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือมนุษย์เอง ไปจนถึงเรื่องความล้มเหลวในความปลอดภัยด้านไซเบอร์ วิกฤตหนี้ หรือแม้แต่การแตกหักในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • แต่มีความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่ไม่คุ้นมาก่อนจากรายงานความเสี่ยงโลก ที่ถูกระบุว่าอาจเป็น ‘จุดบอด’ เพราะถูกมองข้ามได้ง่าย แม้กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 0-2 ปีจากนี้ คือ ‘ความสิ้นหวังเมื่อเผชิญความจริงของคนรุ่นใหม่’ (Youth Disillusionment)
  • จากความเสี่ยงที่ดูเป็นเรื่องใหม่จากรายงานความเสี่ยงโลก เมื่อดูไปดูมาแล้วความสิ้นหวังเมื่อเผชิญความจริงในหลายๆ ด้านของคนรุ่นใหม่ที่กล่าวมา อาจไม่เป็นเพียงความเสี่ยงในระยะสั้น แต่พร้อมจะปะทุหรือส่งผลไปในด้านอื่นๆ หากพวกเขายังไม่ได้ถูกรับฟังหรือนับรวมว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญไม่ว่าจะกับรัฐ ธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม

กว่า 10 ปีแล้วที่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปีจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) สำรวจความเห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากทั้งฝั่งธุรกิจ ประชาสังคม และรัฐ นับพันคน ให้จัดลำดับความเสี่ยงที่ส่งผลต่อชีวิตคนทั่วโลก พวกเขาระบุหัวข้อความเสี่ยงหลายสิบเรื่องจากมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) ในแต่ละปี เพื่อบอกโลกว่าความเสี่ยงที่เราเผชิญอยู่หรือกำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้ กลาง หรือไกล มีอะไรบ้าง โอกาสที่เรื่องเหล่านั้นจะเกิดขึ้น และความ ‘แรง’ ของผลกระทบที่จะตามมา

 

ประเด็นความเสี่ยงจากรายงานความเสี่ยงโลกเชื่อมโยงกับความยั่งยืนและธุรกิจอย่างแยกขาดไม่ได้ เช่น หลายเรื่องผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างความล้มเหลวในการรับมือในเรื่องนี้ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือมนุษย์เอง ไปจนถึงเรื่องความล้มเหลวในความปลอดภัยด้านไซเบอร์ วิกฤตหนี้ หรือแม้แต่การแตกหักในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างที่เราเห็นในหลายภูมิภาคทั่วโลกตอนนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทั้งภาคธุรกิจ รัฐ และภาคประชาสังคม ล้วนใช้ประโยชน์จากรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อเข้าใจ ‘ภูมิทัศน์’ ของความเปลี่ยนแปลง และวางแผนรองรับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิด 

 

ก่อนโรคโควิดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราทุกคน ความเสี่ยงสูงสุด 10 ลำดับที่คาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อโลกในรอบ 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นภายใต้มิติด้านสิ่งแวดล้อมนำโด่ง เช่น ความล้มเหลวในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของโรคโควิด เรื่องที่เป็นมิติทางสังคมอย่างความถดถอยของการร่วมมือกันในสังคม วิกฤตการดำรงชีวิตและโรคระบาด ก็ค่อยๆ เขยิบมามีบทบาทในลำดับต้นๆ และตามมาด้วยมิติเศรษฐกิจอย่างวิกฤตหนี้ และมิติภูมิรัฐศาสตร์ คือ การเผชิญหน้ากันในด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ เช่น สถานการณ์ในยูเครน หรือระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 ผู้เขียนสะดุดตากับความเสี่ยงด้านหนึ่งที่ไม่คุ้นมาก่อนจากรายงานความเสี่ยงโลก ที่ถูกระบุว่า อาจเป็น ‘จุดบอด’ เพราะถูกมองข้ามได้ง่าย แม้กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 0-2 ปีจากนี้ คือ ‘ความสิ้นหวังเมื่อเผชิญความจริงของคนรุ่นใหม่’ (Youth Disillusionment) คนวัยประมาณ 15-24 ปี หรือเจน Z รู้สึกหมดหวังในการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายอย่างหวนคืนมาไม่ได้ ปัญหาขนาดมหึมาทั้งหลายส่งผลทั้งต่ออนาคตของพวกเขา และเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น 

 

แม้จะอายุไม่เท่าไร แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เยาวชนในยุคปัจจุบันผ่านวิกฤตของโลกมาแล้วถึง 2 รอบ คือ วิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2008 ที่ใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว และการเข้าสู่การระบาดของโรคโควิด ที่ถือเป็นวิกฤตรุนแรงด้านสุขภาพขนาดใหญ่ที่โลกไม่ได้เผชิญมาหลายร้อยปี โควิดกระแทกชีวิตพวกเขาเหมือนการล้มของโดมิโน 

 

หากเยาวชนเหล่านี้ยังอยู่ในวัยที่กำลังศึกษาต่อ การเข้าห้องเรียนของพวกเขาไม่เหมือนเดิม แม้โลกจะหมุนไปทางการศึกษาแบบออนไลน์ แต่เยาวชนร้อยละ 30 เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงในพื้นที่ยากจนหลายแห่งทั่วโลกที่ต้องละจากการเรียนมาทำหน้าที่ในบ้าน ดูแลน้องหรือช่วยงานในภาคเกษตร การหยุดเรียนจากการล็อกดาวน์ และการเรียนที่ไม่สม่ำเสมอล้วนส่งผลต่อผลการเรียนและเพิ่มอัตราการออกจากโรงเรียน (Drop-out) การไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงโควิดนอกจากเยาวชนจะมีความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ขาดทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และขาดการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) แล้ว สำหรับเด็กจำนวนมากโรงเรียนอาจถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นที่ที่จะได้รับอาหารที่เหมาะสมแห่งเดียวที่พวกเขามี เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน เยาวชนจำนวนมากจึงประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นหรือขาดสารอาหาร

 

หากพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วชีวิตก็ไม่ง่าย อัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2008 เพราะปัญหาเศรษฐกิจและการปรับไปสู่การทำงานด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ที่ทำให้ตำแหน่งงานของคนถูกแทนที่ รวมถึงความนิยมในระบบเศรษฐกิจที่เน้นการทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Gig Economy) ทำให้คนรุ่นใหม่ทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำและเป็นงานระยะสั้น เมื่อโควิดเข้ามาแล้วทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าเดิม เยาวชนมักเป็นคนกลุ่มแรกที่เสียตำแหน่งงาน เพราะพวกเขาถึงร้อยละ 80 ทำงานในภาคบริการและการผลิตที่ถือเป็นวงแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการที่พวกเขามักทำงานในฐานะพนักงานชั่วคราวหรือตามสัญญาจ้าง ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการเพียงพอหรือขาดความคุ้มครองเมื่อว่างงาน

 

ด้วยความอัดอั้นและรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ เราจึงมักเห็นคนรุ่นใหม่ส่งเสียงของพวกเขาผ่านการลงถนนประท้วงหรือแสดงความคิดเห็นในช่องทางออนไลน์ เพื่อแสดงความโกรธและผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก เหตุการณ์อาหรับสปริง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในบ้านเรา พวกเขากังวลกับปัญหาการเมือง ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าทุกเจเนอเรชัน ผิดหวังกับธรรมาภิบาล ชิงชังกับการคอร์รัปชัน และเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การส่งเสียงของพวกเขาสะท้อนถึงการไม่ได้รับการรับฟัง ขาดการมีส่วนร่วม และได้รับความอยุติธรรมในด้านต่างๆ นอกจากการแสดงความโกรธเกรี้ยวผ่านช่องทางข้างต้นแล้ว พวกเขากำลังเลือกย้ายถิ่นฐานไปหาโอกาสที่ดีกว่า โดยมีการคาดการณ์ว่าคนรุ่นใหม่ถึง 31 ล้านคนจะย้ายประเทศ และส่งผลให้เกิดภาวะสมองไหลครั้งใหญ่ของโลก

 

ความสิ้นหวังในหลายมิติทำให้ 7 ใน 10 ของเยาวชนรายงานว่า สุขภาพจิตของตนเองเข้าขั้น ‘แย่’ เพราะผลกระทบจากโรคโควิด ส่วนในประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมาเยาวชนของเราร้อยละ 32 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และร้อยละ 22 ที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ความรุนแรงของโควิดทำให้เด็กๆ และเยาวชนกว่า 10 ล้านคนกำพร้า เพราะสูญเสียพ่อ-แม่หรือผู้ดูแลไปด้วยโรค เมื่อขาดผู้ปกครองพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะยากจน ขาดความปลอดภัยในชีวิต และอาจส่งผลให้ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานก่อนวัยอันควร

 

จากความเสี่ยงที่ดูเป็นเรื่องใหม่จากรายงานความเสี่ยงโลก เมื่อดูไปดูมาแล้ว ความสิ้นหวังเมื่อเผชิญความจริงในหลายๆ ด้านของคนรุ่นใหม่ที่กล่าวมาอาจไม่เป็นเพียงความเสี่ยงในระยะสั้น แต่พร้อมจะปะทุหรือส่งผลไปในด้านอื่นๆ หากพวกเขายังไม่ได้ถูกรับฟังหรือนับรวมว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญไม่ว่าจะกับรัฐ ธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม

 

ถ้าความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) คือ วิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองต้องการของยุคปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลัง ในการตอบสนองความต้องการของพวกเขาแล้ว แต่โลกที่กำลังดำเนินไปโดยก่อปัญหานานัปการที่กำลังทั้งตัดกำลัง โอกาส และการมีชีวิตไปสู่วันข้างหน้าของคนรุ่นหลังตั้งแต่ ณ ปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ จึงดูเหมือนทิศทางที่โลกกำลังไปไม่ค่อยจะใกล้เคียงกับ ‘ความยั่งยืน’ เท่าไรนัก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising