×

น้ำท่วมประเทศพัง ปากีสถานรับกรรมที่ไม่ได้ก่อ

16.09.2022
  • LOADING...
ปากีสถาน

ฤดูมรสุมที่ฝนตกรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในปากีสถาน ทำให้พื้นที่ราว 1 ใน 3 ของประเทศถูกน้ำท่วม บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย และประชาชนมากกว่า 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ 

 

เป็นเครื่องเตือนใจคนทั้งโลกว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายได้มากเพียงใด และตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการหาบทสรุปข้อโต้แย้งระดับนานาชาติว่า ประเทศร่ำรวยต้องชดใช้ค่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตนเองมีส่วนสำคัญก่อขึ้นหรือไม่

  • ความเสียหายโดยภาพรวม

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2010 ปากีสถานเคยเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 1,700 คน ในตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ แต่สถานการณ์วันนี้เริ่มส่อแววว่าจะเลวร้ายกว่าในอดีต เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมแล้วไปแล้วมากกว่า 1,325 คน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กกว่า 450 คน และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 

 

ส่วนบ้านเรือนได้รับความเสียหายถึง 1.6 ล้านหลังคาเรือน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะแคว้นสินธ์และบาลูจิสถาน ในแคว้นสินธ์ที่มียอดการผลิตอาหารคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของทั้งประเทศ พืชผลเสียหายหนักถึง 90% ทั้งยังไม่สามารถเพาะปลูกใหม่ได้จนกว่าจะถึงฤดูกาลถัดไป หรือเลวร้ายที่สุด เกษตรกรอาจต้องใช้เวลา 3-4 ปีสำหรับฟื้นฟูไร่นาของพวกเขา

 

ปากีสถานไม่เพียงสูญเสียรายได้มหาศาลจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร แต่ต้องหาทางรับมือประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารด้วยการนำเข้าธัญพืช ผัก และอาหารจากต่างชาติ รวมถึงประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วในประเทศ ทั้งเรื่องของอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 27% ค่าเงินของประเทศอ่อนตัวหนัก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

 

ข้อมูลเศรษฐกิจเผยให้เห็นว่า ปัจจุบันปากีสถานเหลือทุนสำรองต่างประเทศพอที่จะใช้สำหรับนำเข้าสินค้าจำเป็นได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือปากีสถานมูลค่ารวม 1.17 พันล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติก็กำลังระดมเงินช่วยเหลือกว่า 160 ล้านดอลลาร์ด้วยอีกทาง

 

ด้านความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น สภาพความทุกข์ยากมีให้เห็นทุกหย่อมหญ้า หลายคนตั้งเพิงชั่วคราวอยู่ริมถนนหรือในอาคารร้าง โดยขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซ้ำยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ 

 

ขณะที่ปัญหาด้านสุขอนามัยก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน นอกจากโรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วมขัง แพทย์ยังออกมาเตือนว่า ปากีสถานมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ที่มากับน้ำ เพราะตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโรคท้องร่วงและมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ประชาชนหลายคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ จึงจำเป็นต้องดื่มน้ำที่ท่วมขังเพื่อประทังชีพแทน จนร่างกายติดเชื้อและป่วยในที่สุด

 

ฮินา รับบานี คาห์ร (Hina Rabbani Khar) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ชี้ว่า สถานการณ์ในตอนนี้เป็น “วิกฤตการณ์ในระดับวันสิ้นโลก” พร้อมระบุว่า คนยากจนที่แทบไม่มีส่วนทำให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น กลับต้องรับผลกระทบหนักที่สุด

  • ภัยธรรมชาติรอบด้าน 

จากรายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก ปี 2021 (Global Climate Risk Index 2021) โดย Germanwatch ปากีสถานติดอันดับ 8 ประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อภาวะโลกรวน สัญญาณเตือนหายนะการเกิดอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี ที่ปากีสถานต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงถึง 53 องศาเซลเซียส ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง 

 

คลื่นความร้อนและภัยแล้ง ไม่เพียงแค่ทำให้น้ำระเหยขึ้นไปสะสมบนชั้นบรรยากาศมากขึ้น และกลายเป็นฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลทำให้ฤดูมรสุมรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน 

 

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก COMSATS University Islamabad กล่าวว่า ดีเปรสชันในทะเลอาหรับทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของปากีสถานช่วงต้นเดือนมิถุนายน ลักษณะที่ผิดปกติเหล่านี้รุนแรงขึ้นเมื่อลมมรสุมมาถึงก่อนเวลาอันควรตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน โดยปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในช่วงมรสุมเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 3 เท่า และในแคว้นสินธ์ ที่อยู่ติดกับทะเลอาหรับ ได้รับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 8 เท่า 

 

นอกจากการที่ตั้งของประเทศปากีสถานจะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน และฤดูมรสุมแล้ว ปากีสถานยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้เปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก นั่นคือธารน้ำแข็งบริเวณที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ที่บางครั้งเรียกกันว่า ‘ขั้วโลกที่สาม’ เพราะมีน้ำแข็งปกคลุมใหญ่รองจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ 

 

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก COMSATS University Islamabad ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งละลายไหลไปตามแม่น้ำสาขาต่างๆ ก่อนไปบรรจบรวมกันสุดท้ายในแม่น้ำสินธุ แม่น้ำใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ที่ไหลไปตามความยาวของประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ ประกอบกับชาวปากีสถานส่วนใหญ่มักตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ พวกเขาจึงเสี่ยงเผชิญกับกระแสน้ำท่วมฉับพลัน หรือตลิ่งถล่มได้ง่าย

 

นอกจากนี้ ธารน้ำแข็งที่ละลายยังก่อให้เกิดเป็นทะเลสาบมากกว่า 3,000 แห่ง โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยว่า ทะเลสาบประมาณ 33 แห่งมีความเสี่ยงจะล้นทะลักออกมา เฉพาะในปีนี้ปากีสถานเจอกับเหตุน้ำท่วมจากทะเลสาบน้ำแข็งมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศเลวร้ายลงไปอีก เช่น ในภูมิภาคกิลกิต บัลติสถาน (Gilgit-Baltistan) ทางตอนเหนือของประเทศ ที่ในปีนี้เจอกับเหตุน้ำท่วมจากทะเลสาบน้ำแข็งไปถึง 16 ครั้ง มากกว่าปีที่แล้วที่เกิดขึ้นเพียง 5-6 ครั้งเท่านั้น

 

  • ผลกระทบจากปัญหาที่ไม่ได้ก่อ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสิ่งนี้เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ประเทศร่ำรวยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมากเพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของตนเอง และวันนี้พาโลกเดินข้ามไปสู่จุดที่ยากจะหวนกลับ

 

ข้อมูลจาก Union of Concerned Scientists กลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 1750-2020 สหรัฐอเมริกาปล่อยคาร์บอนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และอุตสาหกรรมปูนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 24.5% รองลงมาเป็นจีน 13.9% และรัสเซีย 6.8% ลำดับถัดไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศยุโรปที่มีถึง 6 ประเทศด้วยกัน ภาพที่ปรากฏออกมาจึงชี้ชัดว่า ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด

 

เชอร์รี เรห์มาน (Sherry Rehman) รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยเป็นต้นเหตุที่ก่อมลพิษหนักจนทำให้สถานการณ์โลกรวนย่ำแย่ลงถึงขั้นวิกฤต พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการที่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รวมถึงการจ่ายค่าเสียหายเพื่อชดใช้ให้กับประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ 

 

เพราะหากมาดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาโลกรวน ทั้งคลื่นความร้อน เหตุน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง และล่าสุดคือมรสุมที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จนหลายพื้นที่ของปากีสถานในตอนนี้มีสภาพเหมือนกับเป็นทะเล ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น 

  • ประเทศร่ำรวยต้องชดใช้?

คำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน กลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นในการเจรจาหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศยากจนได้เรียกร้องให้ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ของโลกจ่ายค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่เป็นผลมาจากการปล่อยคาร์บอนของพวกเขา ขณะที่ประเทศร่ำรวยก็พยายามหลบเลี่ยงเสมอมา อาจเพราะเกรงว่าจะถูกตีความได้ว่าเป็นการยอมรับความผิด และมีผลผูกพันทางกฎหมายตามมาได้  

 

งานวิจัยของวิทยาลัยดาร์ตมัธที่ตีพิมพ์ในวารสาร Climatic Change ประเมินว่า ประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 อันดับแรกของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย บราซิล และอินเดีย ตั้งแต่ปี 1990-2014 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอื่นๆ รวม 6 ล้านล้านดอลลาร์ จากภาวะโลกร้อน หรือเทียบได้กับ 11% ของ GDP ทั่วโลก 

 

คริสโตเฟอร์ คัลลาฮาน (Christopher Callahan) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เราสามารถแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการปล่อยมลพิษในอดีตของประเทศหนึ่ง ส่งผลอย่างไรต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอีกประเทศหนึ่งให้ออกมาเป็นตัวเลขทางสถิติได้ ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและจีนมักพยายามบ่ายเบี่ยงว่า การกระทำของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ผลการวิจัยข้างต้นจะเป็นหลักฐานให้พวกเขาหมดข้อแก้ตัวว่า ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอีกต่อไป นอกจากนี้ ทุกประเทศในโลกจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การปรับตัวจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล ประเทศที่มีรายได้ต่ำจึงกำลังเผชิญอุปสรรคในการป้องกันตนเอง  

 

การวิจัยโดย IMF และอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในทศวรรษหน้าทั่วโลกจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับตัวสูงถึง 0.25% ของ GDP ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำและประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 50 แห่ง อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP และสำหรับหมู่เกาะที่ต้องเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อน และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อาจใช้เงินมากถึง 20% ของ GDP เลยทีเดียว 

 

ที่ผ่านมาในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP15 เมื่อปี 2009 ประเทศร่ำรวยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงินจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางภายในปี 2020 เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัว และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ปี 2019 กลับมีการส่งมอบเงินให้ได้ประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

แม้การประชุม COP26 ปีที่แล้ว ประเทศร่ำรวยขอแก้ตัวใหม่หลังจากที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายเดิมที่สัญญาไว้ว่าจะลงขันกันให้ได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งมองว่าเงินส่วนนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่พวกเขากำลังประสบอยู่แล้ว จึงเสนอให้จัดตั้งกองทุนแยกต่างหากสำหรับชดเชยความสูญเสียและความเสียหายโดยเฉพาะ

 

การประชุม COP27 ที่จะถูกจัดขึ้นในอียิปต์ เดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากการหารือเรื่องภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก คาดว่าการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นสำคัญที่ถกกันอย่างเข้มข้น เพราะในอนาคตเราจะเห็นประเทศต่างๆ เผชิญความยากลำบากต่อการรับมือกับภาวะโลกรวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็มีส่วนสำคัญต่อความอยู่รอด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X