วันนี้ (4 ก.ย. 2562) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงกระทู้ถามสดของกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ กรณีการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งรัฐบาลยึดถือน้อมนำยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนจากเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่กับความปลอดภัยของประชาชน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง และต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม สำคัญที่สุดคือต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก กำลังพลที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่จะต้องได้รับการอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่ตระหนักรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“รัฐบาลจะดูแลให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง หากเจ้าหน้าที่ละเมิดจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดทั้งทางอาญาและวินัย “
ทั้งนี้ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการติดตามซักถามเจ้าหน้าที่ทุกคน ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาใหม่นั้น ญาติผู้เสียชีวิตสามารถดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายได้ ขณะที่เรื่องการเยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาครอบครัวของอับดุลเลาะ จำนวน 5 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับความเป็นไปได้ในการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการลดระดับการใช้กฎหมายลงจาก พ.ร.ก. เป็น พ.ร.บ. แล้ว 8 อำเภอ และจะเสนอเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทั้งนี้ ยืนยันว่า การดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับให้มีเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของคนในพื้นที่ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์