×

Sea (ประเทศไทย) เปิดผลสำรวจแรงงานไทย 45% ขาดทักษะด้านดิจิทัล เสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

26.10.2021
  • LOADING...
แรงงานไทย

Sea (ประเทศไทย) เผยผลวิจัยด้านแรงงาน พบแรงงานไทยขาดทักษะดิจิทัล 45% หรือราว 17 ล้านคน และมีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ แนะไทยทุกภาคส่วนเร่งปรับตัวสอดรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันภาพรวมเศรษฐกิจก่อนเผชิญความเสี่ยงสังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2030 

 

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet Penetration) ในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 96.5% ในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริการดิจิทัลยิ่งเป็นที่ต้องการในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น จนเกิดความคุ้นเคยมากพอสมควร และมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ต่อไปในอนาคต 

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความครอบคลุม สะดวก และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวม 

 

อ้างอิงรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 พบว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 38 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยด้าน Technology (อันดับที่ 22) เป็นจุดแข็ง และมีปัจจัยด้าน Knowledge (อันดับที่ 42) และด้าน Future Readiness (อันดับที่ 44) เป็นจุดที่ต้องเร่งพัฒนา ดังนั้น Sea (ประเทศไทย) จึงให้ความสำคัญกับการเสริมทักษะสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยหลากหลายกลุ่มในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล นำไปสู่การริเริ่มโครงการมากมายที่มุ่งสร้างแรงงานดิจิทัลที่พร้อมด้วยทักษะในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ 

 

“การเสริมสร้างทักษะเหล่านี้ไม่เพียงแต่จำเป็นต่อบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมโดยรวมที่มีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคตจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการพัฒนาแรงงานดิจิทัลจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยเตรียมพร้อมให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

มณีรัตน์กล่าวเพิ่มว่า เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปมี 2 เทรนด์หลักคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ (Digital Adoption) โดยเทรนด์สังคมสูงวัยนั้นจัดเป็นความเสี่ยงที่สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยพอสมควร 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกคาดหมายว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ในปี 2573 ซึ่งหมายความว่ากำลังซื้อในประเทศจะลดลงตามรายได้ต่อหัวประชากร และจะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนจำนวนแรงงาน เพราะแรงงานจำนวนมากเกษียณออกจากระบบ อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้จะทำให้เกิดคลื่นความสนใจ และการจับจ่ายใช้สอยเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น Healthtech, Medtech 

 

เทรนด์หลักถัดมาคือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ (Digital Adoption) ซึ่งมองเป็นปัจจัยสนับสนุนทางภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 62% ของคนไทยต้องการใช้เครื่องมือทางดิจิทัล (Digital Tools) มากขึ้นเนื่องจากคุ้นชินต่อความสะดวกสบายที่เคยได้รับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจเองจะมีการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การเชื่อมออฟไลน์สู่ออนไลน์แบบไร้รอยต่อ (Seamless OTO) การสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ Hybrid Workplace  

 

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร FutureTales Lab by MQDC กล่าวเสริมในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตยุคดิจิทัลในมุมอนาคตศาสตร์ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งตัวเร่งจากโควิด ส่งผลให้มนุษย์ต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการเรียนรู้ การทํางาน และการใช้ชีวิต ซึ่งกลุ่มคนวัยทำงานรวมไปถึงกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเสริมทักษะด้านดิจิทัล และในสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้น 

 

“เราเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาทิ การทำงานแบบ Hybrid ที่เน้นผลิตภาพและความยืดหยุ่น การทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีขั้นสูงให้ผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนไปถึงการเรียนรู้และการทำงานในโลกเสมือนจริง (Metaverse) จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอนาคตการทำงานในสาขาต่างๆ และวิชาชีพที่เน้นด้านความรู้แนวใหม่อย่างมาก”

 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อต้นปี 2563 ระบุว่า แรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทัล 55% ซึ่งหมายความว่า 45% ของจำนวนแรงงานไทย หรือคิดเป็น 17 ล้านคน ขาดทักษะในเรื่องดิจิทัล และมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งหากรวมกับการได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว ประเมินว่าอาจจะมีแรงงานจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบ และขาดโอกาสในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด 

 

ดังนั้น รัฐและเอกชนควรหันมาร่วมมือกันผลักดันการเพิ่มทักษะนี้เป็นความรู้พื้นฐาน เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เตรียมพร้อมและพัฒนาความรู้ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

 

ดร.การดีกล่าวว่า การเดินหน้าสู่ Digital Nation จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการและผู้คนทั่วไป เพื่อร่วมกันสร้างการตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการปรับตัวและการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล 

 

รวมทั้งร่วมกันสร้างโครงการเพื่อนำเสนอความรู้ด้านดิจิทัล และปรับระบบการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สร้างความรู้และทักษะต่างๆ ที่ทันโลก นำไปสู่การขับเคลื่อนดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เริ่มต้นหมุนได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้าง Digital Nation ในอุดมคติ ที่มี Digital Inclusion สูง สามารถกระจายโอกาสจากการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ให้คนทุกกลุ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising