นักลงทุนสถาบันและรายย่อยมองตรงกันว่า ‘ทองคำ’ จะเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องความมั่งคั่งได้มากที่สุด ท่ามกลางความเสี่ยงสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จากปมวิกฤตเพดานหนี้
นอกจากนี้อีกผลสำรวจที่น่าสนใจคือ นักลงทุนยังมองว่า ‘บิทคอยน์’ น่าจะเป็นหลุมหลบภัยที่ดีกว่าดอลลาร์สหรัฐ เยน หรือฟรังก์สวิส
Bloomberg ได้ดำเนินการสำรวจนักลงทุนสถาบัน (Professional Investors) และนักลงทุนรายย่อย (Retail Investors) 637 คน ระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านคำถามที่ว่า คุณจะซื้อสินทรัพย์ใดหากหนี้สาธารณะสหรัฐฯ แตะเพดาน โดยผลสำรวจพบว่า ทองคำเป็นตัวเลือกอันดับ 1 โดยมีนักลงทุนสถาบันถึง 51.7% และนักลงทุนรายย่อย 45.7% จะเลือกซื้อหากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ยังคงเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากแม้ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด นักวิเคราะห์ยังมองว่า ถึงอย่างไรผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะได้รับการชำระเงินในที่สุดแม้ว่าจะล่าช้าก็ตาม
นอกจากนี้จากเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ จะเห็นว่า ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ปรับตัวสูงขึ้น แม้ครั้งที่สหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับเครดิตโดย S&P ก็ตาม
สำหรับสินทรัพย์อันดับ 3 ที่นักลงทุนรายย่อยและสถาบันเลือกลงทุนคือ บิทคอยน์ รองลงมาคือ สกุลเงินดั้งเดิม ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ เยนญี่ปุ่น และฟรังก์สวิส
ความเสี่ยงสหรัฐฯ ผิดนัดชำระสูงกว่าครั้งไหนๆ
โดยประมาณ 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยังกล่าวว่า ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระครั้งนี้ใหญ่กว่าเมื่อปี 2011 ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาดและการปรับลดอันดับเครดิตของ S&P
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ เจสัน บลูม หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้และนักกลยุทธ์ ETF จาก Invesco ซึ่งกล่าวว่า ความเสี่ยงครั้งนี้สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากมีการแบ่งขั้วของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสภาคองเกรส หมายความว่ามีความเสี่ยงที่ทั้งสองฝั่งอาจไม่ได้ข้อตกลงร่วมกันได้ทันเวลา
นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะพุ่งขึ้นร้อนแรงหากการต่อสู้ปมเพดานหนี้จบลงโดยสหรัฐฯ ไม่ผิดนัด
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยประมาณ 60% คาดว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะปรับลดลงในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้
ขณะเดียวกันระดับหนี้สาธารณะที่ทะลุเพดานได้ผลักดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุสั้น ซึ่งถูกมองว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป
อ้างอิง: