ไพร่หมื่นล้าน ทายาทไทยซัมมิท นักธุรกิจดัง คนบ้าพลัง และนายทุนล้มเจ้า คือสิ่งที่จะปรากฏขึ้นหากเอาชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเสิร์ชในกูเกิล
ชื่อของธนาธรเริ่มโด่งดังและถูกพูดถึงกว้างขวางมากขึ้น หลังเขาจับมือกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ จัดตั้งพรรคการเมือง ‘พรรคอนาคตใหม่’ เพื่อเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้งที่หลายคนคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ธนาธรในวัยเข้า 40 ปี หลบคิวสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์กว่า 28 เจ้า รับนัดรายการ THE STANDARD Daily สัมภาษณ์พิเศษผ่าน Facebook Live
ผู้ชายบุคลิกดี ตัวสูงโปร่ง แต่งตัวสุภาพ แต่ดูสบายๆ เดินเข้ามาที่ออฟฟิศ THE STANDARD คนเดียวพร้อมกระเป๋าเอกสารและแก้วกาแฟ โดยไม่มีทีมงาน ไม่มีบอดี้การ์ด หรือผู้ติดตามใดๆ
การใส่ร้ายป้ายสีกันคือการเมืองแบบเก่า ไม่สร้างสรรค์ สิ่งที่เราต้องการคือการเมืองที่สร้างสรรค์ พูดถึงเรื่องอนาคตด้วยกันว่าเราจะไปแบบไหน
ความเหน็ดเหนื่อยทะลุออกจากใบหน้าอันหล่อเหลาของเขาจนทีมงานรู้สึกได้ และเขายอมรับว่าการตัดสินใจเดินสู่เส้นทางการเมืองทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปสิ้นเชิง
ในช่วงเวลาที่ทุกคนคาดหวังกับเขาไว้สูง ขณะเดียวกัน งานที่บริษัทก็ยังอยู่ระหว่างการถ่ายโอน ทำให้ช่วงนี้เขาต้องรับภาระหนัก เขาเสียใจที่ตอนนี้ยังเข้ามาลุยงานในพรรคอนาคตใหม่ได้ไม่เต็มตัว แต่ตอนนี้กำลังใจดีมาก และพร้อมเต็มที่ในการสู้ศึกการเมือง ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นศึกที่ยาวนานยืดเยื้อกินเวลามากกว่า 10 ปี
ธนาธรออกตัวว่าปกติไม่ชอบออกกล้อง และยังไม่คุ้นชินกับการถูกสัมภาษณ์ออกสื่อแบบสดๆ
แต่เมื่อถึงเวลา ธนาธรนั่งลงค่อยๆ ตอบทีละคำถามอย่างสุขุม นิ่งเรียบ แต่เข้มข้น เปลี่ยนรายการของเราเป็นพื้นที่ของเขา และเปลี่ยนคำถามแทงใจเป็นโอกาสปราศรัยชี้แจง
ทำความรู้จัก เอก ธนาธร กับข้อกล่าวหาสารพัด
ธนาธรคือใคร
คำถามนี้ดีครับ ถ้าให้ผมนิยามตัวเอง (นิ่งคิด) ผมเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ผมเป็นคนที่รักการท่องเที่ยวและการผจญภัย ผมเป็นคนที่สนใจปัญหาสังคม และผมเป็นคนที่รักครอบครัว
แต่บางข้อที่คุณนิยามตัวเองมันไปคล้ายกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
อาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะถ้าเราไปดูรูปแบบการสะสมทุนหรือรูปแบบการเติบโตทางธุรกิจ ระหว่างคุณทักษิณกับผมต่างกันโดยสิ้นเชิง
คุณทักษิณเติบโตมากับธุรกิจสัมปทาน แต่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผมบริหารองค์กรอยู่เป็นธุรกิจที่เปิดเสรี ใครก็เข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ และใครที่อยู่ในธุรกิจเดียวกับผมก็จะทราบว่าคู่แข่งของผมคือบริษัทจากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป รวมถึงอินเดียและเวียดนาม คู่แข่งเรามีเยอะแยะทั่วโลก
เพราะฉะนั้นเวลาผมเดินเข้าสำนักงาน ทุกวันผมหายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ผมหายใจเข้าออกเป็นเรื่องการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร เพราะมันคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้
พอชื่อของคุณโด่งดังขึ้นมา สื่อมวลชนให้ความสนใจ มีคนขุดคุ้ยเรื่องราวของคุณเยอะแยะ แต่ทำไมช่วงสิบกว่าวันที่ผ่านมาคุณไม่ตอบโต้เลย
(ถอนหายใจ) ผมไม่ได้อยากเล่นการเมืองแบบนี้ ผมคิดว่าการใส่ร้ายป้ายสีกันคือการเมืองแบบเก่า ไม่สร้างสรรค์ สิ่งที่เราต้องการคือการเมืองที่สร้างสรรค์ พูดถึงเรื่องอนาคตด้วยกันว่าเราจะไปแบบไหน
คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนใจดีหรือเป็นคนโหด
ผมว่าผมใจดีนะ (หัวเราะ)
ที่ถามแบบนี้เพราะจากประวัติของคุณตอนเข้ามาบริหารธุรกิจ คุณต้องตัดสินใจไล่คนออก ปิดบางโรงงาน มีพนักงานได้รับผลกระทบหลายร้อยคน
ถ้าพูดถึงประเด็นนี้ ผมอยากจะพูดถึงประเด็นที่มีคนมากล่าวหาผมนิดหนึ่ง
เมื่อหลายวันที่ผ่านมามีอาจารย์ที่ผมติดตามอยู่ท่านหนึ่งก็คือ อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากล่าวหาว่าบริษัทของผมมีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หรือปฏิบัติต่อสหภาพฯ อย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อหลายปีก่อน บริษัท ไทยซัมมิท อีสเทิร์นซีบอร์ดฯ ซึ่งอยู่ในเครือของผมเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน ผลประกอบการก็ยังไม่ดี
สิ่งที่สหภาพฯ เรียกร้องคือต้องได้โบนัสเท่ากับสำนักงานใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าต้องเติบโตตามบริษัท และจริงๆ ก็ให้โบนัสไม่เลวก็คือ 4 เดือน แต่ในปีนั้นสหภาพฯ เห็นต่างกัน
เมื่อตกลงกันไม่ได้ บริษัทก็ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ในการปิดบริษัทก่อน เพราะเรารู้ว่าถ้าปล่อยให้เกิดการสไตรก์ขึ้นมา อุตสาหกรรมทั้งบริษัทจะหยุดหมดเลย
กรรมการผู้จัดการของบริษัทในเวลานั้นจึงตัดสินใจดำเนินการตามกฎหมาย พนักงานคนไหนเห็นด้วยกับบริษัทรับโบนัส 4 เดือนก็เอาเข้ามา
และพอบริษัทพัฒนาขึ้น บริษัท ไทยซัมมิท อีสเทิร์นซีบอร์ดฯ ก็มีผลประกอบการดีขึ้น ปัจจุบันโบนัสที่เคยจ่ายสูงสุดคือ 7 เดือน
อาจารย์ใจยังพูดถึงประเด็นเรื่องการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมของซัมมิท ต้องเรียนว่าอาจารย์ใจอาจจะเข้าใจผิด เพราะกลุ่มบริษัทซัมมิทกับกลุ่มบริษัทไทย ซัมมิท คนละผู้ถือหุ้น คนละผู้บริหาร และคนละสหภาพแรงงาน
ผมมั่นใจว่าตลอดการทำงานที่ผ่านมาของผม 17 ปี ผมปฏิบัติกับพนักงานของผมอย่างเป็นธรรม มีการเพิ่มสวัสดิการทุกปี เรื่องนี้ผมชี้แจงได้ และไปถามสหภาพฯ ผมดูก็ได้
ผมไม่ทราบว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของคุณอาผมเป็นอย่างไร แต่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของผมคือการอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น การอยากเห็นอนาคตที่สดใสของคนไทยรุ่นต่อไป ผมคิดว่าผมยืนตรงนี้ชัด
คุณจะลบภาพนอมินีคุณทักษิณออกได้อย่างไร
โอเค ผมขออธิบายแบบนี้
หนึ่ง ผมเจอคุณทักษิณตัวเป็นๆ ครั้งสุดท้ายและได้ถ่ายรูปด้วยกันเมื่อ 18 ปีก่อน มีอยู่วันหนึ่งคุณทักษิณไปเยี่ยมคุณพ่อผม ซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง น่าจะประมาณ 1-2 เดือนก่อนท่านเสีย ตอนนั้นผมน่าจะอายุประมาณ 23-24 ปี หลังจากนั้นก็ไม่มีการพูดคุยกันอีกเลย และหลังประกาศตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา คุณทักษิณก็ไม่เคยติดต่อมา
สอง ผมเจอคุณอา (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ปีละครั้งตามงานศาสนาของครอบครัว เจอกันแต่ละครั้งก็เป็นการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน แทบจะน้อยมากที่คุยการเมืองกันอย่างจริงจัง ผมจำได้ว่าที่คุยการเมืองกันอย่างจริงจังครั้งสุดท้ายเมื่อสมัยที่คุณอาผมเป็นรัฐมนตรี และผมก็คัดค้านท่อก๊าซอยู่ แล้วเราก็เถียงกันหนักมาก ครั้งนั้นคือครั้งสุดท้ายที่คุยเรื่องการเมืองกับคุณอา ซึ่งมากกว่า 20 ปีที่แล้ว
ผมไม่ทราบว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของคุณอาผมเป็นอย่างไร แต่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของผมคือการอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น การอยากเห็นอนาคตที่สดใสของคนไทยรุ่นต่อไป ผมคิดว่าผมยืนตรงนี้ชัด
ชี้แจงข้อกล่าวหานายทุนล้มสถาบัน?
(สูดลมหายใจ) คืออย่างนี้ครับ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2553 มันมีศูนย์ปฏิบัติการชื่อ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่ง พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในขณะนั้น) นำผังหนึ่งขึ้นมาฉาย ผังนั้นชื่อว่า ‘ผังล้มเจ้า’
ผังนี้พูดง่ายๆ ว่ามีคุณทักษิณอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีตัวละครเยอะแยะไปหมดเพื่อที่จะทำให้ทุกคนเชื่อว่ามีขบวนการล้มเจ้า ก็เลยทำผังนี้ขึ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ก็ไปติดอยู่ในผังนี้ด้วย
ข้อกล่าวหาคือมี 3 เส้นที่โยงถึงผม คือคุณอาผม (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) คุณโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร และนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน
เรื่องคุณอา ผมได้กล่าวไปแล้ว
ส่วนคุณโอ๊ค เป็นเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ตั้งแต่เรียนจบไปก็ไม่เคยพูดจาอะไรด้วยกันสักคำ
ถ้าเราเลือกเส้นทางนี้ หมายความว่าเราทิ้งทั้งชีวิต สิ่งที่เราเคยเป็นอยู่จะเป็นไม่ได้เลย แต่จะเป็นได้อย่างเดียวคือนักการเมือง
ส่วนเรื่อง ฟ้าเดียวกัน ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปหลายที่แล้วว่าเริ่มจากผมกับเพื่อนอีกคนที่เห็นว่าในเมืองไทยควรจะมีนิตยสารที่พูดถึงการเคลื่อนไหวของสังคม พูดถึงเรื่องทฤษฎีทางสังคมใหม่ๆ เพราะผมคิดว่าหลังจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อหลายสิบปีก่อนหายตายจากไป มันก็มีคนพยายามทำ แต่มันไม่ยั่งยืน
ผมกับเพื่อนเลยตั้งสำนักพิมพ์ด้วยกันโดยลงทุนคนละ 2 แสนบาท หลังจากนั้นสำนักพิมพ์นี้ก็มีกองบรรณาธิการของตนเองขึ้นมา หลายคนคิดว่า ฟ้าเดียวกัน คือหนังสือใต้ดิน จริงๆ แล้วไม่ใช่ (เน้นเสียง)
ฟ้าเดียวกัน ขายตามแผงหนังสือทั่วไป สั่งซื้อได้ทางออนไลน์ ถ้ามันผิดกฎหมายจริงก็คงติดคุกไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้หนังสือ ฟ้าเดียวกัน ก็ยังขายอยู่ แล้วก็เป็นหนังสือที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนำไปอ้างอิงใช้สอนด้วยซ้ำไป
ดังนั้นถ้า ฟ้าเดียวกัน ไม่ถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า ทำไมผมถึงถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าอยู่คนเดียว และตั้งแต่เราใส่เงินก้นถุงไปให้ นิตยสารนี้ก็เติบโตโดยมีกองบรรณาธิการเป็นของตนเอง โดยที่ผมไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงเนื้อหาใดๆ เลย
กลับมาที่ผังล้มเจ้า หลังจากนั้นอีก 1 ปี (2554) อาจารย์ที่มีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้า ซึ่งปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้วก็ไปฟ้อง ศอฉ. ว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับผังนี้ และเรื่องก็ขึ้นไปสู่ชั้นศาล
คุณสรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็เป็นคนที่แถลงยอมรับในศาลเองเลยว่าแผนผังอันนี้เขียนขึ้นมาโดยไม่มีข้อเท็จจริง เป็นแค่ความมโนของ ศอฉ. แต่ตั้งแต่วันนั้นผมนี่ซวย เพราะถ้าใครไปเสิร์ชชื่อผมในกูเกิลก็จะเจอผังนี้ตลอด
ผมกลายเป็นคนล้มเจ้าทั้งที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณโอ๊ค และผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ฟ้าเดียวกัน เลย
ปัญหาเวลาคุณพูดใส่ร้ายใครในเรื่องล้มเจ้า ภาษาในหลักการกฎหมายมันมีอยู่อันหนึ่งคือ Burden of proof หรือภาระในการพิสูจน์
แต่ผมไม่เคยออกมาตอบโต้ เพราะเมื่อก่อนผมไม่ใช่นักการเมือง ผมรู้สึกว่าตอบโต้ไปก็ไม่ได้ประโยชน์ ผมก็อยู่เฉยๆ ผมก็อยู่กับมันได้โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
แต่วันนี้ผมกำลังทำพรรคการเมือง มีคนคาดหวังกับผมเยอะ ดังนั้นถ้าผมไม่ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ คนจะเข้าใจผิด แต่ที่ผ่านมาผมพยายามไม่ทำ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นการเมืองแบบเก่า
ผมรู้สึกว่า เฮ้ย เราเดินออกจากตรงนี้กันเถอะ ภาระในการพิสูจน์ชี้แจงไม่ควรมาอยู่ที่ผม เพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะชี้แจงอย่างไร ทั้งที่คุณสรรเสริญ แก้วกำเนิด คนที่ไปเอาผังนี้มาก็บอกในศาลแล้วว่าผังนี้มันเป็นเรื่องไม่จริง
ที่มาที่ไปก่อนจะเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ และไม้เด็ดที่ยังซ่อนไว้
ความคิดตั้งพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นเมื่อไร
ผมกับอาจารย์ปิยบุตรคุยกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง แล้วเราตัดสินใจกัน ถ้าจำไม่ผิด 7 มกราคม ตอนที่ตัดสินใจกันมีอยู่ 3 คน มีผม อาจารย์ปิยบุตร และเพื่อนสนิทผมอีกคน
คือเราคุยกันตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม แล้วก็บอกว่า เฮ้ย อาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร) เราใช้เวลาหยุดปีใหม่ไปคิดทบทวนเรื่องนี้กัน คุณไปคิดทบทวน ผมไปคิดทบทวน เพราะถ้าเราเลือกเส้นทางนี้ หมายความว่าเราทิ้งทั้งชีวิต สิ่งที่เราเคยเป็นอยู่จะเป็นไม่ได้เลย แต่จะเป็นได้อย่างเดียวคือนักการเมือง
หลังจากคิดทบทวนเราก็มานั่งคุยกัน แล้วก็รู้สึกว่าเราไม่อยากเสียใจภายหลังในวันที่เรามีโอกาสแล้วเราไม่ได้ทำ หลังจากนั้นก็เริ่มทาบทามคนอื่นๆ
เสียงสะท้อนผู้ร่วมก่อตั้งพรรคหลังจากเปิดตัวคือ พรรคอนาคตใหม่ยังขาดนักบริหาร นักวิทยาศาสตร์ ขาดเทคโนแครต หรือคนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงอื่นๆ หรือแอบไปทาบทามใครไว้แล้วหรือเปล่า
ต้องเรียนว่าผมไม่กังวลเรื่องการบริหารพรรคเลย ผมคิดว่าผมมีศักยภาพที่จะทำได้ ผมไปตั้งบริษัทในอินเดียตั้งแต่อายุ 26-27 ปี ก่อนที่ใครจะพูดถึงอาเซียน ผมไปตั้งบริษัทที่เวียดนาม
ผมบริหารบริษัทจากที่เคยมีอยู่แค่ประเทศไทย วันนี้เรามีฐานการผลิตอยู่ 7 ประเทศทั่วโลก
(ถามย้ำอีกครั้ง) มีแอบไปทาบทามใครไว้แล้วนอกจากนี้บ้างหรือยัง
(หัวเราะ) ต้องบอกว่าก่อนที่เราจะเปิดตัวพรรค การทาบทามบุคคลมาร่วมงานทำได้ยากมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าเราจะเอาจริงหรือเปล่า
แต่หลังจาก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พอคนเห็นว่าเราเอาจริง มีคนที่พร้อมจะสนับสนุนเรามากมาย และผมก็ขอบคุณมาก เพราะผมคนเดียวคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้
และผมคิดว่านี่ไม่ใช่ความฝันของผมคนเดียว แต่คือความฝันของคนอีกล้านๆ คนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม
แสดงว่าคุณยังมีไม้เด็ดเก็บไว้อีกเยอะ
รอดูดีกว่า (หัวเราะ)
เปิดยุทธศาสตร์พรรคอนาคตใหม่ และกรอบนโยบาย 3 ป.
ในการเตรียมสู้ศึกลงเลือกตั้ง คุณพร้อมแค่ไหน
350 เขต มั่นใจว่าผมทำได้ เพราะมันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผมเอาจริง
เรามองการเมืองจากความเป็นจริง การสร้างอนาคตใหม่ไม่ได้ทำได้ทันที แต่ต้องใช้เวลา และพรรคนี้ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เราต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยมีอนาคตใหม่ที่จับต้องได้ มีอนาคตใหม่ที่เป็นไปได้จริงๆ ดังนั้นเราอาจจะต้องใช้เวลา 10-20 ปีต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา
สมมติถ้าต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คุณจะเข้าร่วมหรือไม่
ผมคิดว่าไกลเกินไปที่จะพูดถึงจุดนั้นว่าเราจะร่วมกับใครหรือไม่ร่วมกับใคร
แต่หนึ่งอย่างที่ผมอยากจะทำ แต่ตอนนี้เป็นความเห็นผมคนเดียว ยังไม่ใช่ความเห็นของพรรค คือให้มีการเซ็น MOU ว่าหากเราจะร่วมรัฐบาลกับใคร จะต้องเขียนกฎหมายที่พรรคเราอยากผลักดัน เขียนจุดยืนหรืออุดมการณ์ที่ไม่ยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลล้ำเส้น
ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลของเราล้ำเส้นหรือไม่ยอมร่วมผลักดันนโยบายของเราที่เห็นร่วมกันเมื่อไร เราจะเดินออกจากรัฐบาลทันที และ MOU ฉบับนี้จะต้องกางอยู่บนโต๊ะให้ประชาชนเข้าไปดูได้ด้วย ไม่ใช่เข้าไปนั่งกินโต๊ะจีน จับมือกัน แล้วตกลงอะไรกันไม่รู้ เราไม่ทำอย่างนั้น
เรามองการเมืองจากความเป็นจริง การสร้างอนาคตใหม่ไม่ได้ทำได้ทันที แต่ต้องใช้เวลา และพรรคนี้ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เราต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยมีอนาคตใหม่ที่จับต้องได้ มีอนาคตใหม่ที่เป็นไปได้จริงๆ ดังนั้นเราอาจจะต้องใช้เวลา 10-20 ปีต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา
สมมติว่าคุณได้เป็นนายกฯ มีคณะรัฐมนตรีที่คิดไว้ในใจหรือยัง
ขออนุญาต เพราะคนที่ติดต่อไปอาจไม่สะดวกให้เปิดเผยชื่อ
แสดงว่าก็ฝันไกลเหมือนกัน
แน่นอน ผมไม่ได้หยิ่งยโสนะ แล้วก็ไม่อยากยึดติดกับตำแหน่งอำนาจอะไร แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าถ้าเราอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผมจำเป็นต้องมีอำนาจรัฐเพื่อจะเปลี่ยนแปลง
ถ้าได้เป็นนายกฯ ปัญหาแรกที่อยากแก้คืออะไร
กรอบนโยบายใหญ่ๆ ที่เราคิด เราเรียกมันว่า 3 ป. คือ ‘ปลดล็อก ปรับโครงสร้าง เปิดโอกาส’
ปลดล็อก คือการปลดล็อกเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนลืมตาอ้าปากไม่ได้ เช่น การให้สัมปทาน กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจใหม่ๆ กฎระเบียบที่ปิดกั้นคนรุ่นใหม่ ที่ชัดๆ เช่น เรื่องเหล้า-เบียร์ หรือการส่งออกข้าว นี่เป็นเรื่องตลก เพราะชาวนาไม่สามารถส่งออกข้าวได้โดยตรง
จริงๆ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนเสนอเยอะแล้ว แต่ไม่มีคนทำ เพราะคนที่กล้าทำตรงนี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก
แต่ผมว่ากฎหมายพวกนี้ปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ กับอีกอย่างคือการที่เราต้องขออนุญาต ต้องขอสัมปทาน มันเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต ยกตัวอย่าง ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ของผมมันไม่มีกฎหมายห้ามการส่งออก ถ้าผมอยากส่งออก ผมทำได้พรุ่งนี้เลย แต่มันมีธุรกิจอีกมากมายที่ติดปัญหาตรงนี้ เพราะฉะนั้นปลดล็อกมันเสีย
ปรับโครงสร้าง หมายถึงการกระจายอำนาจ ผมคิดว่ามันมีพลังที่จะกลายเป็นคลื่นลูกที่ 3 ของสังคม คลื่นลูกที่ 1 ของสังคมไทยคือการผลิตในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ต่อมาคือช่วงทศวรรษ 2520 มันมีทฤษฎีใหม่ก็คือการผลิตเพื่อส่งออก
แต่ผมคิดว่าคลื่นใหม่คือคลื่นการเติบโตของท้องถิ่น ซึ่งศักยภาพของมันถูกกดทับมหาศาลอยู่ ณ ปัจจุบัน ถ้าเราสามารถให้ท้องถิ่นทำเอง บริหารตัวเองทั้งด้านการเงิน การคลัง การศึกษา ดิน น้ำ ลม ไฟ จะเกิดการระเบิดอย่างมโหฬารของพลังการผลิตและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศ
ผมไม่มีเวลาที่จะลงรายละเอียด แต่ถ้าพูดถึงคือการกระจายอำนาจที่ทำให้ท้องถิ่นเติบโตและเป็นอิสระจากกรุงเทพฯ ได้
เปิดโอกาส เราคิดถึงอะไรเยอะแยะไปหมด เช่น เรื่องเกม ถามว่าอุตสาหกรรมเกมมันสำคัญอย่างไร อุตสาหกรรมเกมมันสามารถต่อยอดไปใน The next big thing หรืออุตสาหกรรมอนาคตได้ เช่น AI หรือ VR
ถามว่าจะทำได้อย่างไร ผมยกตัวอย่างง่ายมาก ประกวดเลย จัดประกวดแนวเกม ไม่ใช่ประกวดทำเกมนะ เขียนเรื่องราวของเกมแล้วประกวดแข่งขันกัน ใครได้ที่ 1 ก็ไปจ้างคนที่ออกแบบเกมที่เก่งที่สุดในโลกมา สมมติเกมนั้นต้องใช้คนสร้าง 50 คน เราไปจ้างคนที่เก่งที่สุดในโลกมา 25 คน แล้วเอาคนไทยที่เก่งที่สุด 25 คนไปร่วมสร้างด้วยเพื่อเรียนรู้จากเขา
พอเกมนี้เสร็จก็จัดแข่งขันกันทั่วประเทศ เอาให้ใหญ่ไปเลย พอมีคนมาเล่นเกมก็จะเกิดดีมานด์ คือเกิดการผลักดันภาคการผลิต แล้วเกมต้องมีวิวัฒนาการ ก็ต่อยอดเอา ผมว่าเรื่องพวกนี้ทำได้
วันที่มีการเปิดให้พูดเรื่องนโยบายอย่างเต็มตัว เราจะมาพูดในรายละเอียดกัน เรามีนโยบายหลายด้าน แต่ทุกด้านจะมาวิ่งเข้ากรอบ 3 ป. นี้
คุณรุ่นใหม่ชอบคุณเยอะมาก แต่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่าชอบคุณด้วย
เรามีแนวนโยบายภาพรวม ซึ่งผมคิดว่าต้องใช้วิธีเดินเข้าไปพบ ซึ่งตอนนี้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มทำแล้ว เราต้องทำบ้าง
ถ้ามีพรวิเศษข้อเดียวเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย คุณจะเปลี่ยนอะไร
เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยและมีหลักนิติรัฐ จะเป็นก้าวแรกของความเจริญรุ่งเรือง