วันนี้ (24 กันยายน) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ จางเจียหมิง ประธานกลุ่มบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เข้าพบว่า ได้มีการหารือถึงนโยบายส่งเสริมการผลิตและสิทธิประโยชน์ของรถยนต์ xEV หรือยานยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการบริหารจัดการซากรถและแบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับการส่งเสริมลงทุนเพิ่มเติมสำหรับกิจการผลิต xEV
สำหรับแผนการลงทุนของเกรท วอลล์ ในประเทศไทยนั้น มีแผนการลงทุน อาทิ แผนการผลิตรถยนต์ ที่คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงสายการผลิตเดิมในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยมีการนำระบบสมองกลเข้ามาใช้ภายในโรงงาน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง HEV, PHEV และ BEV โดยมีกำลังการผลิตรวม 8 หมื่นคันต่อปี การลงทุนติดตั้งเครื่องจักรและปรับสายการผลิตคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนคือภายในสิ้นปี 2563 นี้ และจะเริ่มทำการผลิตรถยนต์รุ่นแรก SUV และรถกระบะออกวางจำหน่ายในต้นปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะเกิดการลงทุนกว่า 2.26 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 3,435 คน
นอกจากนี้ ยังมีแผนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ เช่น แผนการผลิตแบตเตอรี่ โดยมีการผลิตโมดูล การแพ็กแบตเตอรี่ การตรวจสอบคุณภาพ และมีแผนการผลิตชุดขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่อรองรับสมรรถนะการใช้พลังงานและประหยัดของรถ HEV และ PHEV สำหรับแผนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศร้อยละ 45 สำหรับรถยนต์รุ่นแรก ซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนหลากหลายประเภท มีแผนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเป็นร้อยละ 90 ภายในปี 2568 และยังมีแผนการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย ศูนย์ออกแบบและพัฒนา ศูนย์ตรวจสอบประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออัจฉริยะ และศูนย์ฝึกอบรม โดยเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่รองรับการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน
“ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ 2 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และเมื่อเกรท วอลล์ แสดงเจตนารมณ์จะเข้ามาลงทุนที่ไทย และมีแผนที่ชัดเจนถือเป็นเรื่องที่ดีต่อตลาดมาก เพราะผู้บริโภคในประเทศจะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนรองรับอย่างเพียงพอ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเทียบเท่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ และผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบันก็มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงกว่าร้อยละ 80-90” สุริยะ กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์