วันนี้ (26 กันยายน) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้งแรกว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ปรึกษาทั้ง 5 คนที่ตอบรับมาเป็นที่ปรึกษา เพราะทุกคนเคยผ่านประสบการณ์บริหารราชการแผ่นดินมาทั้งสิ้น และนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะทุกอย่าง โดยขอให้นำเสนอความเห็นตรงไปตรงมาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้รับข้อมูลที่รอบด้าน
ที่ปรึกษาทั้ง 5 คน มีประสบการณ์ทำงานทั้งนโยบายและการขับเคลื่อนกิจการต่างๆ ดังนั้นทุกคนจะให้คำเสนอแนะไม่จำกัดเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญ แต่จะขับเคลื่อนเรื่องที่ถนัดเป็นพิเศษ
โดยคณะที่ปรึกษานโยบายฯ เสนอแนะสิ่งที่จะทำต่อไป ดังนี้
- ธงทอง จันทรางศุ สนใจการปฏิรูประบบราชการให้ง่ายต่อการรับใช้ประชาชน
- พงศ์เทพ เทพกาญจนา เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน จะช่วยดูกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนระบบราชการ
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ มีความถนัดด้านเศรษฐกิจ สนใจนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ
- นพ.สุรพงษ์ ที่ผ่านมาทำงานเชิงสาธารณสุข และซอฟต์พาวเวอร์ ก็สนใจทำเรื่องนี้จริงจัง
- พันศักดิ์ วิญญรัตน์ มีประสบการณ์การเมือง เสนอแนะนโยบายให้หลากหลาย มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์โลก การต่างประเทศ ส่งเสริม SMEs ซึ่งจะมองเห็นภาพรวมทั้งหมดในการทำงานขับเคลื่อนกับที่ปรึกษาคนอื่นๆ
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ปรึกษาทั้ง 5 คน ยังเน้นเรื่องการรวมความรู้จากภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นหลังจากนี้จะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่เชิญผู้รับผิดชอบทั้งภาคราชการและภาคเอกชนมาประชุมหารือกัน เพื่อนำเสนอแนวคิดกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
นอกจากนี้เราคิดว่าวันนี้จะไม่คิดเพียงว่าจะทำอะไร แต่คิดด้วยว่าจะทำอย่างไร ต้องมีแผนชัดเจน สามารถขับเคลื่อนองคาพยพทั้งระบบราชการและระบบเศรษฐกิจได้ การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อส่งผลลัพธ์ในอนาคตจึงกำหนดว่าควรประชุมต่อเนื่อง โดยนายกฯ จะประชุมด้วยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือทุกวันพฤหัสบดี เพื่อพูดคุยถึงนโยบายที่น่าสนใจอย่างตรงไปตรงมาและเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน
นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า คณะที่ปรึกษานโยบายฯ ยังได้บอกเบื้องต้นว่า สิ่งสำคัญคือการออกมาตรการเศรษฐกิจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีแนวคิดเบื้องต้นแล้ว หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ เชื่อว่าจะตัดสินใจได้เร็ว ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับประโยชน์เร็วมาก มาตรการแก้หนี้ที่ได้ผลไม่ได้มองเพียงการสนับสนุนเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องเป็นมาตรการสร้างรายได้ มีแนวทางเบื้องต้นแล้ว ซึ่งต้องรอนำเสนอนายกฯ ก่อน และเรื่องการทำอย่างไรให้ SMEs ไทยส่งออกต่างประเทศได้จริงจัง เรามีมาตรการบางอย่างที่คิดว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวที่หายไป ก็จะนำเสนอนายกฯ ต่อไป
เมื่อถามว่า อำนาจหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายฯ มีผลแค่ไหนนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ทางคณะที่ปรึกษานโยบายฯ จะเป็นการพูดคุย ซึ่งนายกฯ พร้อมรับฟัง แต่ต้องไปทำร่วมกับ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทุกวันนี้ความซับซ้อนของระบบราชการทำให้ไม่ง่าย แต่แนวทางที่เสนอนายกฯ ก็ต้องไปดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะที่ปรึกษานโยบายฯ สามารถเชิญหน่วยงานรัฐมาประชุมได้ ขอเอกสารมาดูได้ด้วย ส่วนภาคเอกชนเชื่อว่าเขาก็พร้อมมาเสนอแนะปัญหา จึงเชื่อว่าต่อไปนี้บ้านพิษณุโลกจะมีการประชุมเรื่องต่างๆ อีกมาก
เมื่อถามว่า เรื่องค่าเงินบาทเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพูดคุย นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ธปท. ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็อาจมีการพูดคุยกัน แต่คงไม่ได้เชิญมาแบบเป็นทางการ
ส่วนการแก้ปัญหาการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้ง จะมีการนำเสนอด้วยหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นพงศ์เทพมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ดังนั้นการมองภาพระบบนิติรัฐและนิติธรรม ท่านก็ให้ความสนใจ
เมื่อถามว่า คณะที่ปรึกษานโยบายฯ ทุกคนเป็นวัยเก๋า แต่โลกเปลี่ยนไป จะทำให้คนรุ่นใหม่ไว้วางใจได้อย่างไร นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า พันศักดิ์ อายุ 80 ปี, ธงทอง อายุ 70 ที่เหลือ 60 กว่าปี แต่เท่าที่ได้พูดคุย ทุกคนมีประสบการณ์มากและยังไม่หยุดเรียนรู้ในทุกๆ ด้าน เชื่อว่าทั้ง 5 คนไม่มีตกสมัย แต่เราไม่ได้ทำงานกัน 5 คน จะมีการตั้งอนุกรรมการมาดูรายละเอียดแต่ละเรื่องด้วย เราเป็นสารตั้งต้นนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาของประเทศครั้งใหญ่
ส่วนจะวัดผลงานคณะที่ปรึกษานโยบายฯ ชุดนี้อย่างไร นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีการกำหนด KPI แต่คณะที่ปรึกษานโยบายฯ ทุกคนไฟแรงมาก พร้อมเริ่มงานเต็มที่ ธงทองเตรียมขอตัวข้าราชการบางส่วนมาช่วยงาน ตนก็มีในใจแล้ว ผลงานคงวัดจากงานภาพใหญ่ของประเทศมากกว่า หากเปรียบสมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ภาพใหญ่คือเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งเรื่องนั้นใหญ่มาก
นพ.สุรพงษ์ ระบุด้วยว่า นายกฯ ก็บอกว่าในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 2 ปีกว่า สิ่งที่อยากเห็นคือคนไทยจะต้องพ้นความยากจน ประเทศสามารถหลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจ นำไปสู่ทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างเศรษฐกิจให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง