ในระหว่างการเสวนาหัวข้อ Cold War 2.0: How Will Thailand Cope With Superpowers จุดยืนไทยบนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 วันแรก (26 พฤศจิกายน) สุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามถึงการที่ไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม
โดยประเด็นที่ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญ 110 ชาติเข้าร่วมประชุม แต่ไม่มีชื่อของประเทศไทย ซึ่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ว่า นี่เป็นเกมการเมือง สำหรับไทยนั้น การเชิญหรือไม่เชิญไม่น่าจะสำคัญ ความจริงบางครั้งไม่เชิญก็ดี เพราะถ้าเชิญมา ไทยอาจต้องพิจารณาว่าควรไปหรือไม่ไป ส่วนการเชิญนั้นอาจเป็นดาบสองคม
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาบนเวทีนี้ แสดงความเห็นว่า ในอดีตเคยมีการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ซึ่งไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ส่วนคำว่าดาบสองคมนั้น ดร.สุรเกียรติ์ไม่เข้าใจว่าทำไมการเชิญหรือไม่เชิญจึงเป็นดาบสองคม และไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียอะไร
ดร.สุรเกียรติ์คิดว่า ถ้าเราได้รับเชิญ แล้วเราไปพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย เราก็สามารถพูดได้ว่าแต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน โดยประชาธิปไตยของไทยก็มีวิวัฒนาการมา 80 ปี มีการเปลี่ยนแปลง ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งไทยก็สามารถพูดแบบนั้นได้
ดร.สุรเกียรติ์กล่าวเสริมว่า แทนที่เราจะไปบอกว่า ไม่เชิญก็ดีแล้ว หรือเชิญก็อาจจะไม่ไป ตนไม่เห็นด้วยนัก แต่เราควรนำมาวิเคราะห์กันมากกว่าว่าที่เขาไม่เชิญเราเพราะอะไร เพราะดูจากรายชื่อประเทศที่ไบเดนเชิญ ก็มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น หรือนอร์เวย์ ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าทำไมเขาไม่เชิญเรา ควรมาวิเคราะห์ว่าถ้ามีเหตุผลว่าไทยไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องอะไร เราก็จะสามารถแก้ไขได้ หรือเราคิดว่าเราดีแล้ว เขาไม่เชิญ เราก็ไม่ไป แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ แบบนี้ ซึ่ง ดร.สุรเกียรติ์มองว่าไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เองก็มีเรื่องต้องปรับปรุง ส่วนไทยก็มีเรื่องที่ต้องปรับปรุงมากมาย โดยเฉพาะกระบวนประชาธิปไตยของเรา
ดร.สุรเกียรติ์มองว่าไทยควรแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ หรือพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ หรือคุยกับ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อถามเหตุผลมากกว่า