วันนี้ (17 เมษายน) ที่อาคารอนาคตใหม่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ไม่รับรองร่าง ‘พ.ร.บ.ถนน’ ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว
สุรเชษฐ์ระบุว่า แม้การไม่รับรองของนายกรัฐมนตรีจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชอบธรรมที่ไม่ให้เหตุผลในการปัดตก เพราะตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย นายกฯ ควรปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้เข้าไปในสภาเพื่อถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงเหตุผลในการปัดตกให้ชัดเจน เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ถนน เป็นการยกเลิก พ.ร.บ.เดิมที่แตกย่อยออกเป็น 7 ฉบับ แล้วยกร่างใหม่ให้เหลือเพียง 1 ฉบับ จำนวน 125 มาตรา โดยเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่การปะผุปัญหา ได้แก่ การจัดลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) การจัดสรรอำนาจและงบประมาณระหว่างส่วนกลาง คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาเมืองที่ไม่ใช่แค่การสร้างถนน การนำกองทุนมอเตอร์เวย์มาบริหารอย่างโปร่งใส และการยกระดับความปลอดภัยทางถนน
สุรเชษฐ์ยังได้ยก 3 ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายปัจจุบัน ได้แก่
- รัฐราชการรวมศูนย์ ที่ส่วนกลางมีงบประมาณมหาศาลแต่ดูแลถนนไม่ไหวจนต้องมีสองศูนย์ คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทั้งที่ประเทศมีโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่กลับไม่นำงบประมาณไปลงกับท้องถิ่น กลายเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ดึงงบประมาณไปลงในพื้นที่ของตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วไปหากินกับโครงการต่างๆ จนผลงานออกมาไม่ได้มาตรฐาน
- ด้วยความที่งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง จึงเกิดการหาทางสร้างถนนไปเรื่อยๆ แต่ท้องถิ่นกลับไม่มีงบประมาณพอแม้แต่จะซ่อมถนนที่มีอยู่ของตัวเอง ท้องถิ่นได้งบประมาณในการดูแลถนนต่ำกว่าส่วนกลางถึง 6 เท่า แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ซึ่ง พ.ร.บ.ถนน จะจัดแจงเรื่องนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงงบประมาณไปที่ท้องถิ่นมากขึ้น
- จากการที่ส่วนกลางหาทางสร้างถนนไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้สร้างแบบถูกหลักวิชาการ จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) ซึ่งสำคัญมาก ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยให้เมืองโตไปตามยถากรรมแค่ 200 เมตรข้างถนนใหญ่ แต่ไม่มีการจัดลำดับชั้นว่าถนนใดเป็นถนนหลัก ถนนใดเป็นถนนรอง จึงนำมาซึ่งสารพันปัญหา เช่น อุบัติเหตุและการจราจรติดขัด
นอกจากนี้ พ.ร.บ. 7 ฉบับเดิมยังแบ่งประเภทถนนตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้แบ่งตามการใช้งาน ซึ่งขัดกับหลักวิชาการในการกำหนดนิยามและลำดับชั้นของถนน มีความทับซ้อนระหว่างภารกิจของหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจและงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง แต่ถนนในท้องถิ่นกลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.ถนน ของพรรคก้าวไกลจะไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การกำหนดให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายถนน’ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจหลักในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาโครงข่ายถนนทั่วประเทศ วิเคราะห์และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของงบประมาณระหว่างการสร้างถนนเพิ่มกับการซ่อมถนนเดิมที่มีอยู่ และสัดส่วนของงบประมาณในการจัดสรรระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตั้งงบประมาณในรอบปีถัดๆ ไป พิจารณาและให้ความเห็นชอบมาตรฐานและลักษณะของถนนและงานทาง อัตราความเร็วของยานพาหนะ เสนออัตราค่าผ่านทางร่วมและค่าบริการ เป็นต้น
- การกำหนดประเภทถนนใหม่ ซึ่งแบ่งตามหลักวิชาการสากล แต่ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของไทยโดยยึดหลักกระจายอำนาจ โดยแบ่งถนนออกเป็น 5 ประเภท คือ ทางหลวงพิเศษ, ทางหลวงสายหลัก, ทางหลวงสายรอง, ถนนท้องถิ่นสายหลัก และถนนท้องถิ่นสายรอง
- การจัดระบบกองทุนค่าผ่านทาง เพื่อยกระดับการจัดการเงินค่าผ่านทางให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้มีการจัดเก็บเงินค่าผ่านทางอยู่แล้วตามระเบียบกรมทางหลวงว่าด้วยเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง พ.ศ. 2549 หรือกองทุนมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกฎหมายเก่าที่ไม่ได้มีความโปร่งใสและไม่มีการเปิดช่องให้ตรวจสอบได้มากพอ จึงต้องมีการยกระดับให้เทียบเท่ากับกองทุนอื่นๆ ในประเทศไทย
- การยุบเลิกกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและงบประมาณปีละราว 5 หมื่นล้านบาทไปสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงให้เกิดการถ่ายโอนภารกิจและบุคลากรไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
- การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์บนถนน ซึ่งจะนำผู้เชี่ยวชาญมาสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น กำหนดหลักเกณฑ์ และเสนอแนะมาตรการเชิงป้องกัน
- การกำหนดอัตราความเร็วอย่างเป็นระบบ มีหลักการรองรับ และให้มีนิยามไว้อย่างชัดเจนตามลำดับชั้นของถนนในระบบใหม่
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเรียกร้องคือขอให้นายกรัฐมนตรีที่ปัดตกร่าง พ.ร.บ.ถนน โดยไม่ให้เหตุผล อย่างน้อยควรตอบให้ได้ว่า พ.ร.บ.เดิมดีกว่าร่าง พ.ร.บ.ใหม่อย่างไร หรือเพียงเพราะเป็นร่างของพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้รัฐบาลควรคิดแก้ปัญหาถนนของไทยทั้งระบบในเชิงโครงสร้างได้แล้ว มิใช่เพียงปะผุปัญหาแล้วหากินกับโครงการไปวันๆ อย่าเอากระทรวงคมนาคมไปเป็นคลังแสงให้พรรคการเมือง แต่ควรกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยพรรคก้าวไกลพร้อมถกเถียงและลงรายละเอียดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไปด้วยกัน
“ถ้าตรงไหนยังไม่ดีพอ ตรงไหนมากไปหรือน้อยไป กระบวนการในสภาปกติพอรับหลักการวาระหนึ่งก็ต้องเข้าวาระสอง ต้องดูในรายละเอียดกัน มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาแก้รายละเอียด ทำได้หมด แต่การปัดตกแบบไร้เหตุผลโดยไม่มาพูดกันแบบนี้ไม่ได้ ท่านต้องให้เหตุผลมา และก้าวไกลเราพร้อมที่จะถกเถียงในเนื้อหาสาระอย่างสร้างสรรค์ว่าอะไรดีกับประเทศนี้” สุรเชษฐ์กล่าว