เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาชั้นตรวจฟ้องคดี อท 203/66 ที่ พล.ต.ต. นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. มนต์ชัย บุญเลิศ, พล.ต.ต. ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ร.ต.อ. ฤทธิ์ธาดา เครือสุข และ พ.ต.อ. ธรรมศักดิ์ สารบุญ เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ
คำฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้บังอาจร่วมกันกระทำหรือแบ่งหน้าที่กันทำ กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา ด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและกฎหมายอื่นๆ
กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ชุดที่ 4 (PCT 4) ได้รับเบาะแสข้อมูลทางลับจากการสืบสวนขยายผลเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ชุดที่ 4 (PCT 4) โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ได้สืบสวน รวบรวม พยานหลักฐานและวิเคราะห์เส้นทางการเงินกลุ่มผู้กระทำความผิดและหาข้ออ้างว่าโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล และเป็นทีมงานของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งช่วงขณะเกิดเหตุเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทีมงานร่วมกับโจทก์ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกระทำความผิดกับเว็บไซต์ดังกล่าว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 1 และ 2 ได้สร้างหลักฐานการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่างๆ โดยไม่มีข้อมูลชัดเจนแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวหากมีพยานหลักฐานเส้นทางการเงินแล้ว ย่อมไม่สามารถกระทำการบิดเบือนเส้นทางการเงินที่อ้างว่าเป็นธุรกรรมใดๆ ได้ และหากมีข้อสงสัยก็สามารถเรียกโจทก์กับพวกมาสอบสวนได้โดยง่าย ซึ่งโจทก์ก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ย่อมเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ย่อมไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงและหลบหนีได้
แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการใดๆ ที่จะเรียกโจทก์มาให้การชี้แจงหรือหมายเรียกโจทก์มาให้การ กลับทำความเห็นแบบรวบรัด
ซึ่งทำให้โจทก์เชื่อว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ประการแรก หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีการสืบสวนเรื่องราวเป็นเวลานานแล้ว แต่เหตุใดถึงมาแจ้งว่าโจทก์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดในช่วงที่โจทก์เป็นทีมงานของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และเป็นช่วงที่เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและดำเนินการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ แต่กลับไม่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ในเขตอำนาจสอบสวนของตน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่กระทำไปตามอำเภอใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะเดียวกันสำหรับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ได้รับคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ก็กำหนดอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบไว้แล้ว
กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สืบสวนในเขตพื้นที่ของตน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงมิใช่พื้นที่อำนาจสอบสวนของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ที่จะมีอำนาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 กระทำการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย
ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจสอบสวนแล้ว ยังกลับกระทำความผิดอีกกระทง
โดยจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับ ธันยนันท์ หรือมินนี่ กับพวก ข้อหา ‘ร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน
พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจับกุมได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นบ้าน พบของกลางจำนวนหลายรายการ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และบัญชีธนาคารต่างๆ เกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ทราบดีว่าโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ของมินนี่กับพวก
แต่จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยการกล่าวหาว่า พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิศมัย เป็นผู้ถือสมุดบัญชีต่างๆ สำหรับโอนเงินพนันออนไลน์ ทั้งที่ พ.ต.อ. ภาคภูมิ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันตามที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 โดยมิชอบ
ทั้งที่ พ.ต.อ. ภาคภูมิ เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หากเห็นว่ามีข้อสงสัยใดสามารถเรียกหรือออกหมายเรียกมาให้ข้อมูลได้ แต่จำเลยทั้งสี่กลับร่วมกันกระทำการอันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาทุจริตเชื่อมโยงธุรกรรมให้เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งทั้งโจทก์และ พ.ต.อ. ภาคภูมิ เป็นทีมทำงานให้ และในการทำงานของทีมงานจะมีค่าใช้จ่ายในการทำงาน ในฐานะที่โจทก์เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญหลายคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยกล่าวหาและพยายามเชื่อมโยงว่า มีการโอนเงินให้แก่โจทก์จำนวน 9 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 450,000 บาท ไปเข้าบัญชีของโจทก์ ซึ่งเป็นบัญชีรับโอนเงินเดือนข้าราชการหรือเงินตอบแทนที่ทางราชการจ่ายให้แก่โจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยที่โจทก์ไม่เคยรู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์
จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอออกหมายจับโจทก์กับเจ้าพนักงานตำรวจอีก 7 คน โดยอ้างว่าโจทก์รับเงินจาก พ.ต.อ. ภาคภูมิ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มของมินนี่และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับโจทก์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 คน และบุคคลต่างๆ รวม 23 คน
ซึ่งในขณะยื่นคำร้องขอออกหมายจับจำเลยที่ 3 ได้ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับยศ ตำแหน่ง และอาชีพของโจทก์ ทั้งๆ ที่จำเลยทั้งสี่ทราบดีว่าโจทก์รับราชการตำรวจยศ พล.ต.ต. การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการออกคำสั่ง หรือหมายอาญาฯ และคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาการทำสำนวนการสอบสวนฯ ที่จำเลยทั้งสี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยที่ 1-3 ได้ร่วมกันจัดทำคำร้องขอออกหมายจับอันเป็นเท็จแจ้งต่อศาลว่า โจทก์กับพวกมีพฤติการณ์หลบหนีและจะทำลายหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีพฤติการณ์ตามที่กล่าวอ้างต่อศาล
จำเลยทั้งสี่ย่อมทราบดีว่ายังมีกลุ่มบุคคลที่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาในคดีนี้ เช่นเดียวกันกับโจทก์หลายคน แต่จำเลยทั้งสี่กลับละเว้น
การปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดีและไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายเรียกบุคคลอื่น จำเลยทั้งสี่จงใจปฏิบัติที่มุ่งเน้นขอให้ศาลออกหมายจับโจทก์และข้าราชการตำรวจที่เป็นกลุ่มเป้าหมายรวม 8 คนที่มีความใกล้ชิดกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เท่านั้น ทั้งที่พยานหลักฐานเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน
และภายหลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมตามหมายจับแล้ว โจทก์มียศเป็น พล.ต.ต. ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในขั้นพนักงานสอบสวน แต่จำเลยที่ 3 และ 4 กลับไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่ทราบดีว่าโจทก์เป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และไม่มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือมีพฤติการณ์หลบหนี
ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสี่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง และเป็นการเลือกปฏิบัติแตกต่างกับผู้ต้องหาพลเรือนรายอื่นที่ถูกจับและถูกควบคุมตัวในช่วงเวลาเดียวกันที่จำเลยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน
จะเห็นได้ว่าการดำเนินคดีโจทก์กับพวกคณะพนักงานสอบสวนได้มีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีกับโจทก์และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 7 คนอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ มาแต่ต้น แต่จำเลยทั้งสี่มีเจตนาที่จะใช้อำนาจศาลเป็นเครื่องมือในการออกหมายจับและหมายค้น โดยโจทก์เชื่อว่าหากยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้นต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว
ศาลย่อมทราบยศ อาชีพ ตำแหน่งของโจทก์ และจะไม่ออกหมายจับและหมายค้นให้อย่างแน่นอน
ตอนท้ายของคำร้องระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติภูมิ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากสังคมและบุคคลใกล้ชิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, มาตรา 151, มาตรา 157, มาตรา 158, มาตรา 164 และมาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
โดยศาลฯ นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องเพียงพอแก่การวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ไม่จำต้องรับฟ้องโจทก์ไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องชั้นตรวจฟ้อง