วานนี้ (5 มีนาคม) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย คณะผู้แทนไทย นำโดย เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้, พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.), จตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ และ ภิญญา จำรูญศาสน์ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมหารือกับ อแมนด้า โรดริเกวซ ตำแหน่ง Executive Director จาก TurnAround NGOs ของสหรัฐอเมริกา โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง NGOs และหน่วยงานของรัฐ
อแมนด้าให้ความสนใจในผลการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานความร่วมมือด้านข้อมูลกับ NCMEC ของสหรัฐอเมริกา และมีผลการจับกุมอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ได้แจ้งในที่ประชุมว่า นอกจากการจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้สืบสวนสอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้ใช้บริการทางเพศเด็ก ซึ่งในปี 2566 ดำเนินคดีไปมากถึง 197 คน สูงกว่าปี 2565 ที่มีการดำเนินคดี 67 คน คิดเป็นร้อยละ 194.03
หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. คณะผู้แทนไทยเดินทางไปพบกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการแรงงานระหว่างประเทศ นำโดย มาร์เซีย ยูเจนิโอ Director ของ Office of Child Labor, Forced Labor, and Human Trafficking (OCFT) ซึ่งในการหารือทางกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย โดยเฉพาะในการแข่งขันมวยไทยในเด็ก รวมถึงการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งกระบวนการที่ไม่ควรมีห่วงโซ่ใดที่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ว่าห่วงโซ่นั้นๆ จะอยู่ในประเทศใดก็ตาม
เวลา 14.00 น. คณะผู้แทนไทยได้พบกับผู้แทน Office of Trafficking in Persons (OTIP) ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งประกอบด้วย แคทเธอรีน ชอน Director, โมนิก้า โรว์ซีย์ Trafficking Program Specialist และ อลิสซา วีลเลอร์ Policy Analyst ซึ่งให้คำแนะนำคณะผู้แทนไทยเกี่ยวกับบริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดเหยื่อจากการค้ามนุษย์ หรือการบำบัดผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือการให้การฝึกอบรมหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน หรือการทำความตกลงระหว่างหน่วยงานหรือระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ รวมถึงแนวทางการป้องกันโดยการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ได้เสริมในการหารือว่า ในประเทศไทยโดย ศพดส.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ก่อตั้งโครงการ D.A.R.E.2 C.A.R.E. เพื่อให้การอบรมนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อรู้เท่าทันการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการค้ามนุษย์ โดยโครงการดังกล่าวได้ทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว ในปี 2566 ให้การอบรมไป 38,469 ครั้ง ผู้เข้ารับการอบรม 946,268 คน ในสถานศึกษา 22,164 แห่ง และชุมชน 4,268 แห่ง
โมนิก้ายังให้ความสนใจกับความร่วมมือในภูมิภาคของประเทศไทย ที่มีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในขบวนการ Scammer กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทางการไทยสามารถให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและเหยื่อค้ามนุษย์เหล่านั้นกลับมาได้ทั้งจากประเทศกัมพูชาและจากเมียนมาในปี 2566
ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการทำความร่วมมือการส่งต่อพยานหลักฐานให้กับประเทศต่างๆ เพื่อดำเนินคดีกับขบวนการดังกล่าวทั้งในและนอกประเทศ
กระทั่งเวลา 16.00 น. คณะผู้แทนไทยได้เข้าพบ ฮิลารี อักซัม Director ของ Human Trafficking Prosecution Unit, Criminal Section ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟ้องคดีค้ามนุษย์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา และทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติในการฟ้องคดี การดำเนินคดี และการร่วมกันคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังได้หารือเกี่ยวกับความยากลำบากในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำสืบในการพิจารณาของศาลในคดีค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าคดีปกติ หรือแม้กระทั่งความยากลำบากในการพิสูจน์ตัวตนในการคัดแยกเหยื่อว่าใครคือผู้เสียหาย และใครคือผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งต้องพิจารณาในหลายประการ โดยเฉพาะในขบวนการ Scammer ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีผลประโยชน์ตอบแทนมหาศาล
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ได้เสริมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้จับกุมหนึ่งในบุคคลที่ทางการสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร คือ เสอจื้อเจียง ซึ่งเป็นนายทุนจีนสีเทาที่สร้างเมืองชเวโก๊กโก่ ในเมียนมาขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์ Scammer หรือ Call Center หลอกลวงคนทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เสอจื้อเจียงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำของประเทศไทย
สำหรับการหารือกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาจะมีในวันนี้ (6 มีนาคม) อีกหนึ่งวัน โดยจะมีการเข้าพบหารือกับ TIP Office กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และสมาชิกสภาของสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบดูแลการพิจารณา TIP Report