×

สุรชาติขอไม่นั่งที่ปรึกษา รมว.กลาโหม แนะ 10 โจทย์ 8 นโยบายความมั่นคง

โดย THE STANDARD TEAM
04.09.2023
  • LOADING...

วันนี้ (4 กันยายน) สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เผยแพร่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 

 

กรณีเมื่อวันที่ 3 กันยายน มีความเคลื่อนไหวของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อม สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดคุยและรับประทานอาหารกับผู้นำเหล่าทัพ โดยหลังจากนั้นสุทินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยว่าจะขอมาคุยกับสุรชาติในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้นัดหมายเวลาพูดคุยแล้วหรือยัง 

 

สุรชาติกล่าวว่า ยังไม่มีการนัดหมาย โดยเมื่อวานนี้ได้รับโทรศัพท์จากสื่อมวลชนที่โทรมาสอบถามเรื่องนี้ก็ตกใจเช่นกัน เพราะมีชื่อตนเองที่รัฐมนตรีจะมาขอคุยด้วยโดยที่ตนเองยังไม่รู้เรื่อง ปกติรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจะไม่ค่อยคุยกับตน 

 

“สำหรับในอดีต คนที่ให้เกียรติเชิญผมไปคุยจริงๆ คือนายกฯ ชวน หลีกภัย สมัยควบรัฐมนตรีกลาโหม เพราะสำนักปลัดฯ ต้องสรุปบทความผมทุกสัปดาห์ พร้อมกับทำสำเนาตัวจริงที่เขียนลง มติชนสุดสัปดาห์ ให้รัฐมนตรีอ่าน ท่านนายกฯ ชวนจึงอยากขอดูตัวว่าเป็นใคร เพราะตอนแรกท่านเข้าใจว่าผมเป็นทหารเก่าหรืออะไรประมาณนั้น

 

ตอนนั้นนายกฯ ชวนอยากเห็นตัว และได้คุยนิดหนึ่ง แต่เผอิญท่านได้อ่านบทความทุกสัปดาห์ ผมเขียนบทความเรื่องทหารมากกว่าเรื่องต่างประเทศ” สุรชาติกล่าว

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ที่ผ่านมาได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายพิเศษให้โรงเรียนทหารต่อเนื่องใช่หรือไม่ สุรชาติกล่าวว่า ได้รับเชิญบางแห่ง เพราะบางยุคเมื่อเขาทำรัฐประหารเสร็จ เขาก็ถอนชื่อตนออก แล้วเมื่อรัฐประหารคลายตัวก็มีน้องๆ มาตามกลับ ก็เป็นเรื่องปกติ ยกเว้นโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศจะไปสอนนาน 

 

อีกเรื่องที่ทหารมักจะรับฟังตนไม่ได้คือเรื่องจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เรื่องซื้ออาวุธตนจะถูกระบุชื่อไว้ว่าไม่ควรเชิญไปบรรยาย เพราะเขาจะรู้สึกว่าพลเรือนจะมารู้ดีกว่าทหารได้อย่างไร

 

เมื่อถามว่าหากสุทินมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีจะรับเชิญหรือไม่ สุรชาติกล่าวว่า ไม่รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่เนื่องจากเป็นครูอาจารย์ ใครขอคำแนะนำตนเองไม่มีปัญหา แม้ในยุคที่รัฐมนตรียืนคนละฝั่ง เป็นฝ่ายบริหารที่ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม แต่กระทรวงนั้นต้องการความรู้ แล้วบังเอิญตนทำวิจัยมาตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ได้เปิดเวทีด้านความมั่นคงให้ความรู้ ทำหนังสือออกมาตลอด เขารู้ว่าทำเรื่องภาคใต้ก็ส่งคนมาขอซื้อหนังสือ แต่ตนไม่เอาเงิน

 

“ผมให้เขานำหนังสือกลับไปแล้วขอให้อ่าน คือไม่ขายแต่ให้นำหนังสือไปอ่านเรื่องไฟใต้ เพราะเราทำข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไว้เยอะ”

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ในบริบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีคำแนะนำอะไรที่ตั้งใจจะแนะนำสุทินให้ทำทันที สุรชาติกล่าวว่า 

 

  • เรื่องที่ 1 ปัญหาการเปลี่ยนสัญญา TOR เครื่องยนต์เรือดำน้ำ ซึ่งมีข่าวการยอมรับที่จะเอาเครื่องยนต์จีนใส่แทนเครื่องยนต์เยอรมัน มีนัยเท่ากับเปลี่ยนสัญญา การเปลี่ยนอย่างนี้เป็นความเสียเปรียบ นี่คือวาระแรกๆ ที่รัฐมนตรีสุทินต้องตัดสินใจ รวมถึงปัญหาการกู้เรือหลวงสุโขทัยก็ไม่ใช่เรื่องของกองทัพเรือ เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

 

  • เรื่องที่ 2 ปัญหาเรื่องไฟใต้ เพราะนักการเมืองบางพรรคเรียกร้องให้ถอนทหารออกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงปัญหา พ.ร.ก.ไฟใต้ ซึ่งต่อเป็นระยะ ตอนนี้ครั้งที่ 70 กว่าแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมต้องคิดว่าจะเอาอย่างไร

 

  • เรื่องที่ 3 บทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะวางบทบาทกันอย่างไร เนื่องจากอีกพรรคหนึ่งเสนอยุบเลย ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะทำไม่ได้

 

  • เรื่องที่ 4 ทหารเกณฑ์ ในขณะที่เราเห็นคนวิ่งเต้นจ่ายเงินเพื่อไม่เป็นทหารเกณฑ์ ก็มีคนวิ่งเต้นเพื่อขอเป็นทหารพราน

 

  • เรื่องที่ 5 รัฐมนตรีต้องเตรียมโผโยกย้ายกลางปี หรือโยกย้ายเดือนเมษายน

 

  • เรื่องที่ 6 ลดนายพล 50% ในเวลา 4 ปี เปิดโจทย์อย่างนี้ไม่ดี ควรจะตอบว่าการลดในแต่ละปีจะลดกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำเป็นรายปี มิเช่นนั้นผู้ปฏิบัติจะไม่รับทราบว่าในแต่ละปีอัตราลดจะตั้งเกณฑ์เท่าไร สมมติ 50% ใน 4 ปี แล้วเอา 4 ปีอายุรัฐบาลมาหารก็ไม่ใช่คำตอบ ควรตั้งตั้งแต่ต้นว่าแต่ละปีจะลดเท่าไร เพราะมีนัยการบรรจุในแต่ละปี

 

  • เรื่องที่ 7 บทบาททางการเมืองของทหาร เป็นข้อสงสัยใหญ่ มีเสียงเรียกร้องเยอะ กระทรวงกลาโหมจะทำอย่างไรในเรื่องนี้

 

  • เรื่องที่ 8 ปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ สิ่งที่กำลังรอนอกจากปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำก็คือกรณี F-35 เครื่องบินขับไล่โจมตีล่องหนของกองทัพอากาศ ระบบ Barter Trade หรือแลกเปลี่ยน ไม่เวิร์กที่สุด เราจะเอาสินค้าเกษตรไปแลกเปลี่ยนกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง ลองคิดดูในความเป็นจริง เปรียบเทียบสมัย ทักษิณ ชินวัตร ตอนปลาย มีความพยายามจะทำ Barter Trade เช่น เอาสินค้าลำไยไปแลกเครื่องบินรัสเซีย แต่ทำไม่ได้ ฉะนั้นใครเขียนนโยบาย Barter Trade ขอให้ทบทวนเพราะดูดีแต่ทำไม่ได้ ประเทศเราเป็นประเทศสินค้าเกษตร ไม่ใช่ประเทศสินค้าอุตสาหกรรม 

 

  • เรื่องที่ 9 รัฐมนตรีต้องกำหนดทิศทางกระทรวงกลาโหมในอนาคต ซึ่งเดิมทุกคนรับรู้ว่าสุทินจะไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แต่สุดท้ายเป็นพรรคภูมิใจไทย จากนั้นสุทินจึงมากระทรวงกลาโหม ซึ่งปัญหาใหญ่ในฐานะตัวสุทินจะกำหนดทิศทางอย่างไร อย่าบอกว่าต้องพึ่งทีมที่มาช่วยทั้งหมด ก็จะแปลว่าตัวรัฐมนตรีจะไม่เข้าใจหรือไม่เห็นปัญหาทิศทางจริงๆ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

 

  • เรื่องที่ 10 แม้ภาพการพูดคุยบนโต๊ะอาหารมีความชื่นมื่น แต่ปัญหาใหญ่คือการวางบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในความสัมพันธ์กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และปลัดกระทรวงกลาโหม จะจัดวางบทบาทกันอย่างไร 

 

“ผมเสนอเฉพาะหน้า สิ่งที่รัฐมนตรีฯ สุทินอย่าทำ คือ อย่าออกคำขวัญเชยๆ และน่าเบื่อ อย่าเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล ประเภทเสนอกองทัพดิจิทัล ผมว่าโคตรโจ๊กเลย เพราะหลายเงื่อนไขทำไม่ได้” สุรชาติกล่าว

 

สุรชาติกล่าวอีกด้วยว่า ส่วนนโยบายมีโจทย์ 8 ข้อใหญ่ 

 

  1. รัฐมนตรีใหม่จะกำหนดทิศทางและเข็มมุ่งอย่างไร การปฏิรูปมี 2 ส่วน คือ ปฏิรูปมิติทางการเมืองและมิติทางการทหาร วันนี้เรายังไม่เคยถกมิติทางการทหารเลย ซึ่งอาจจะมีการพูดในกองทัพ แต่ในเวทีใหญ่ถกกันประมาณปี 2540 แล้วหายไป
  2. นโยบายต้องปรับโครงสร้างขนาดของกองทัพที่เหมาะสม ถกมาตั้งแต่หลังปี 2535 ถกใหญ่ปี 2540 แล้วกลายเป็นกระดาษในห้องสมุด
  3. กองทัพมีปัญหาภายในหลายเรื่องต้องแก้ หลายปีที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่คือเรื่องเสนาพาณิชย์นิยม หรือ Military Commercialism เป็นภาษาทางรัฐศาสตร์ เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ภายในกองทัพ ไม่ว่าจะแสวงหาจากในระบบหรือนอกระบบ เช่น กรณีบ้านจัดสรรที่โคราช ไม่อยากได้ยินคำว่า ‘จ่าคลั่ง’ แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับกำลังพลชั้นล่างถูกเอารัดเอาเปรียบ ขออย่าใช้คำว่าจ่าคลั่ง เพราะว่าเขามีปัญหาทุกคน

     

    อีกเรื่องคือปัญหาคอร์รัปชันภายใน อย่าบอกว่ากระทรวงกลาโหมวัด KPI ตัวเลขธรรมาภิบาลโปร่งใสได้ 99% คนจะเชื่อไหม และต้องไม่ทำให้บางหน่วยเป็นเหมือนกระเป๋าสตางค์ของผู้บังคับบัญชา

     

  4. การลดบทบาททางการเมืองเบื้องต้นในทิศทางระยะยาว ปัญหา กอ.รมน. ปัญหาหนึ่งที่เราใช้จนเป็นคำในการเมืองไทยไปแล้วคืองาน IO และบทบาทกองทัพภาค ซึ่งคนอาจจะไม่รู้สึก แต่ตนได้รับเสียงบ่นจากเพื่อนอาจารย์ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค พวกเขาถูกตรวจและมีปัญหามากทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และที่หนักคือที่จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรที่จังหวัดพิษณุโลกก็มีปัญหาบางอย่าง
  5. เรื่องจัดสรรงบประมาณ มีทั้งเรื่องซื้ออาวุธที่เปิดไปแล้ว แต่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้การใช้งบประมาณของกองทัพเกิดประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดคือตรวจสอบได้
  6. การเตรียมรับภัยคุกคาม ปัญหาภาคใต้ ปัญหาแนวชายแดน
  7. บทบาทการช่วยเหลือประชาชน เพราะปีนี้ฟันธงได้เลยว่าฝนตกหนักในกรุงเทพฯ แต่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ จะแล้งหมด ต่างจังหวัดหลายจุดก็แล้งแล้ว
  8. บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น คอบร้าโกลด์ และเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 

 

เป็นข้อเสนอโจทย์เฉพาะหน้า 10 ประเด็น และทิศทางเชิงนโยบาย 8 ประเด็น 

 

สุรชาติกล่าวด้วยว่า มีความเป็นห่วง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพราะภูมิธรรมต้องกำกับดูแลสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดูแลสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และเตรียมรับงานไฟใต้ คือการตั้งคณะผู้เจรจาปัญหาภาคใต้ ภาพการพูดคุยบนโต๊ะอาหารควรมีภูมิธรรมด้วย เพราะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising