×

ประธานศาลฎีกาเน้นย้ำบทบาทศาลยุติธรรม สร้างหลักนิติธรรมเพื่อความเป็นธรรมและความโปร่งใสในสังคมไทย

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2025
  • LOADING...
ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานแฟร์เพื่อความแฟร์

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ‘งานแฟร์เพื่อความแฟร์’ จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และ THE STANDARD ร่วมด้วยเครือข่าย RoLD โดยเน้นย้ำบทบาทสำคัญของ ศาลยุติธรรม ในการส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน

 

ประธานศาลฎีกาชี้ว่า หลักนิติธรรมเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย โดยประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. ความสูงสุดแห่งกฎหมาย 2. ความเสมอภาคของทุกคนภายใต้กฎหมาย 3. ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ และ 4. ความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งศาลยุติธรรมมีหน้าที่พิทักษ์รักษาหลักการเหล่านี้ผ่านการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นธรรม

 

ชนากานต์กล่าวว่า ศาลยุติธรรมยึดมั่นในหลักการความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการอย่างเคร่งครัด ผู้พิพากษาต้องสามารถพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากอิทธิพลทางการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความโปร่งใส ความเป็นอิสระนี้ไม่ได้เพียงส่งเสริมหลักนิติธรรม แต่ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศ 

 

ปัจจุบันทุกท่านทราบดีว่าปัญหาการทุจริตเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ศาลยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ การตัดสินคดีเหล่านี้อย่างเด็ดขาดไม่เพียงช่วยยกระดับความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่ยังเสริมสร้างศรัทธาของประชาชนต่อรัฐและกระบวนการยุติธรรม 

 

“การสร้างความเข้าใจในกฎหมายเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศาลยุติธรรม การให้เหตุผลที่ชัดเจนในคำพิพากษา และการเปิดเผยคำตัดสินต่อสาธารณะ ช่วยสร้างความเข้าใจในหลักนิติธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนเคารพกฎหมาย”

 

ประธานศาลฎีกากล่าวด้วยว่า ในโลกปัจจุบัน ระบบยุติธรรมไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ศาลยุติธรรมไทยมีบทบาทในการเรียนรู้และปรับใช้หลักการสากลเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม ทั้งในด้านเทคโนโลยี กระบวนการพิจารณาคดีที่โปร่งใส และการปฏิรูปกฎหมาย

 

“การลงทุนลงแรงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้หลักนิติธรรมและเกิดผลเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของประชาชนทุกคน บุคลากรและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งก่อนและหลังการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เพื่อมิให้หลักนิติธรรมเป็นเพียงหลักการในทางนามธรรมที่ใช้ในการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น” ประธานศาลฎีกากล่าว

 

นอกจากนี้ประธานศาลฎีกายังเน้นย้ำว่า ศาลยุติธรรมต้องยกระดับมาตรฐานในการบริหารงานและพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและหลักสากลในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม

 

ท้ายที่สุดประธานศาลฎีกาได้เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อให้หลักนิติธรรมเป็นรากฐานที่มั่นคงของสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่เป็นธรรม โปร่งใส และมั่นคงในระยะยาว

 

รับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง https://fb.watch/xBh7fWj_-V/

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising