×

ศาลปกครองสูงสุด สั่ง กทม. จ่ายค่าเสียหายคนพิการภูมิลำเนาใน กทม. 5,000 บาทต่อคน กรณีสร้างลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้า BTS ล่าช้า

โดย THE STANDARD TEAM
16.09.2021
  • LOADING...
รถไฟฟ้า BTS

เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 650/2557 ระหว่าง ธีรยุทธ สุคนธวิท ที่ 1 กับพวกรวม 430 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดี) 

 

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าทั้ง 430 คนเป็นคนพิการ กทม. เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ดำเนินกิจการในด้านวิศวกรรมจราจร การขนส่ง การควบคุมอาคารการสาธารณูปโภค และการสาธารณูปการ โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รับสัมปทานบริการขนส่งมวลชนโดยรถรางกับผู้ถูกฟ้องคดี หรือที่ประชาชนเรียกว่าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) 

 

ต่อมาเมื่อปี 2554 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาระหว่าง สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ กับพวกรวม 3 คน กับผู้ถูกฟ้องคดีกับพวกรวม 4 คนให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำลิฟต์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนได้ติดตามการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว และผู้ฟ้องคดี1-8 ในคดีนี้ได้ไปสำรวจการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดี แต่พบว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนเห็นว่าการงดเว้นการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คน ทำให้ได้รับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตขาดประโยชน์ในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบภารกิจประจำวันโดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท คิดเป็นค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 835,000 บาทต่อคน ทั้งนี้แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนจะไม่ได้แสดงรายละเอียดค่าเสียหายและเอกสารอ้างอิง แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว และเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คน เสียโอกาสเลือกใช้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) ในการเดินทางไปทำงานและปฏิบัติภารกิจในสถานที่ต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องใช้บริการระบบขนส่งประเภทอื่นและเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการเดินทางด้วยวิธีดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการให้บริการแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าเสียหายในเชิงลงโทษไม่เกิน 4 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง

 

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนเป็นเงินคนละ 835,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้ฟ้องคดีในอัตราสี่เท่าของจำนวนเงินดังกล่าว รวมเป็นเงิน 3,340,000 ต่อคน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,436,200,000 พร้อมดอกเบี้ย

 

สอง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีวันละ 1,000 บาทต่อคน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการจัดทำลิฟต์รับ-ส่งคนพิการอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการให้แล้วเสร็จครบถ้วน

 

โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง

 

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่สถานีขนส่งรถไฟฟ้า BTS ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเฉพาะรายที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครอันเป็นท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) ตั้งอยู่ เป็นเงินจำนวนรายละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าเสียหาย นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

 

เนื่องจากศาลเห็นว่า แม้ในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายแดงที่ อ.650/2557 กทม. จะประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ และมีเหตุผลเพียงพอจะรับฟังได้ว่า บางสถานีและการก่อสร้างลิฟต์ในบางจุดมีข้อจำกัด รวมทั้งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาดังกล่าว อีกทั้ง กทม. ได้พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรื่อยมาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจนถึงปัจจุบันแล้ว ระยะเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 5 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร และความล่าช้าดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของ กทม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม. สามารถที่จะเร่งรัดให้เป็นไปโดยรวดเร็วขึ้นได้

 

ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การจัดให้มีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ รวมทั้งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการที่สถานีขนส่งและรถรางนั้นอยู่ในวิสัยที่ กทม. จะดำเนินการได้ อีกทั้งเป็นกรณีที่ กทม. พึงคาดหมายได้ว่า หากการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวย่อมส่งผลให้คนพิการรวมถึงผู้ฟ้องคดีหลายรายยังคงต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ต่อไป กรณีนี้จึงถือได้ว่า กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดดังกล่าว

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.650/2557 จนถึงวันฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีบางรายมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่เดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ ฉะนั้นการที่ กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลล่าช้าเกินกว่าที่กำหนด จึงส่งผลโดยตรงให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งล้วนแต่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายและผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป กรณีนี้จึงถือได้ว่าการกระทำของ กทม. ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทซึ่งเป็นบริการสาธารณะ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้ 

 

ดังนั้นการที่ กทม. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงครบองค์ประกอบของการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควรและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีเฉพาะรายดังกล่าว

 

ส่วนกรณีผู้ฟ้องคดีรายที่มิได้มีภูมิลำเนาในท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทตั้งอยู่ โดยไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษอื่นใดที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการไม่อาจเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาท กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของ กทม. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีกลุ่มนี้แต่อย่างใด 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising