×

ศาลฎีกาฯ นักการเมือง ออกหมายจับทักษิณคดีแปลงสัมปทาน ใช้กฎหมายใหม่พิจารณาคดีลับหลังจำเลย

06.03.2018
  • LOADING...

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านกระบวนการพิจารณานัดแรกในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น

 

กรณีเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กว่า 1,419 ล้านหุ้น ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทซึ่งรับสัมปทานจากรัฐ และใช้อำนาจสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลทำให้รัฐเสียหายรวมมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท

 

โดยในวันนี้ ฝ่ายโจทก์คืออัยการได้มาศาลตามนัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่ได้หมายศาลและไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมรับฟังการพิจารณา ศาลเห็นว่าจำเลยได้รับทราบหนังสือนัดหมายการพิจารณาวันนี้แล้ว และการไม่มาถือว่าเป็นการให้การปฏิเสธ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลย และมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดตามตัวจำเลย ประกอบกับให้รายงานศาลทุก 1 เดือน ทั้งนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานคู่ความในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 เวลา 9.30 น.

 

สำหรับคดีนี้ อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีการนัดพิจารณาคดีนัดแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 แต่ขณะนั้นนายทักษิณซึ่งเป็นจำเลยไม่มาปรากฏตัวในศาล จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว แต่ภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 บังคับใช้ โดยระบุไว้ในมาตรา 28 ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยได้ อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้งให้มีคำสั่งยกเลิกจำหน่ายคดีความชั่วคราว และให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องกระทำการต่อหน้าจำเลย

 

สำหรับหมายจับให้มาฟังพิจารณาคดีที่ศาลออกวันนี้ถือเป็น ‘หมายจับใหม่’ เพื่อจับกุมจำเลยเข้าสู่กระบวนการก่อนเริ่มพิจารณาคดี ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับใหม่ระบุไว้ว่า ถ้าออกหมายจับจำเลยภายใน 3 เดือนแล้วไม่ได้ตัวมาจึงให้เริ่มการพิจารณาคดีต่อได้

 

สำหรับคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีใหม่ หลังกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 บังคับใช้ มีจำนวนรวม ณ ปัจจุบันคือ 4 คดี ได้แก่

 

  1. คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลเมียนมา 4 พันล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากชินคอร์ป

 

  1. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน 3 ตัว 2 ตัว

 

  1. คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อ 9 พันล้านบาท ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร

 

  1. คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X