วานนี้ (16 มิถุนายน) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนสั่งให้ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยา สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ กาญจนากร ไชยลาโภ, กาญจนาภา มุ่งถิ่น บุตรสาว ในฐานะทายาทของสมัคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 – 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ หากคดีที่กรุงเทพมหานครฟ้องบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายเรียกทรัพย์คืน ตามคดีหมายเลขดำที่ กค.155/2552 โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดี ทำให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ทายาททั้ง 3 รับผิดตามอัตราส่วนตามที่ศาลกำหนดให้สมัครรับผิดชอบเพียงนั้น ทั้งนี้ ทายาททั้ง 3 ต้องรับผิดต่อกรุงเทพมหานครเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของสมัครที่ตกทอดแก่ตน
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 3 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่สมัครต้องรับผิดชอบจากกรณีการทุจริตในโครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานครกับบริษัทสไตเออร์ฯ เมื่อปี 2547-2548 ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้สมัครซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของผู้ร่วมกระทำผิด ต้องรับผิดชดใช้เป็นเงิน 956,931,442 บาท
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ทายาททั้ง 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสมัครกระทำละเมิด ระบุว่า การที่สมัครในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 49 (1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อตามข้อ 5 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ 2538 ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อตามที่ พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอเรื่องผ่าน คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานครขณะนั้น เพื่อให้พิจารณามาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือทักท้วงถึงการกระทำดังกล่าว และยังคงอนุมัติให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อ
การกระทำของสมัครจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นการกระทำละเมิดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเมื่อความเสียหายที่กรุงเทพมหานครได้รับเกิดจากการจัดซื้อที่ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ ปี 2538 ทำให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริงเป็นเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท และการจัดซื้อยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของสมัคร โดยเทียบเคียงแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ตามหนังสือกระทรวงการทางด่วนที่สุดที่ กค.0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูงหรือผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อรับผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากกำหนดราคาสูงกว่าความเป็นจริง โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหาย
เมื่อสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อ จึงสมควรต้องรับผิดต่อกรุงเทพฯ ในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายจากเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท คิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท
เมื่อความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของสมัครต่อกรุงเทพมหานครเป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายถือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของสมัครผู้ตายโดยแท้ ดังนั้นบุคคลทั้ง 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของสมัครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาท ให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตน ทั้งนี้ ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์