×

สรุปประเด็นและข้อเสนอสำคัญ ก่อนฟังผลกรณีการคัดค้านกติกาใหม่รางวัลสุพรรณหงส์จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

27.12.2019
  • LOADING...
รางวัลสุพรรณหงส์

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ส่งท้ายปีที่จะบอกทิศทางอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทยในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้แจ้งข่าวว่ากำลังเตรียมตัวเข้าไปพูดคุยกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้จัดงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ที่ออกเงื่อนไขจำกัดภาพยนตร์บางประเภทไม่ให้เข้าชิงรางวัลในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 

 

THE STANDARD POP ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ เพื่อขยายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะว่าหน้าที่ที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติควรทำมากกว่าคืออะไร 

 

ก่อนที่จะไปรอลุ้นกันว่าอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์อิสระ จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต 

 

1. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 มีรายงานข่าวว่าทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้สอบถามไปยังทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่จะส่งเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ประจำปี 2562 ว่ามีคุณสมบัติ ‘ผ่านเกณฑ์’ ขั้นต่ำหรือไม่ 

 

เกณฑ์ดังกล่าวต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช หรือต้องมีคนดูตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป (คิดเป็นรายได้ประมาณ 5-7 ล้านบาท) 

 

ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยถึงสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติว่ามี ‘เจตนา’ สร้างเงื่อนไขที่เป็นการกีดกัน ‘ภาพยนตร์ขนาดเล็ก’ หรือภาพยนตร์อิสระที่ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างออกจากรางวัลรางวัลสุพรรณหงส์เพื่ออะไร 

 

2. นิโรธ รื่นเจริญ หรือเอิร์ธ ออสการ์ ผู้ที่ติดตามการประกาศรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแรก เพราะตามปกติแล้วผู้สร้างภาพยนตร์ไม่สามารถนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดได้เอง ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

 

โดยมี ‘สายหนัง’ ทำหน้าที่ซื้อภาพยนตร์จากผู้สร้างไปฉายตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วภาพยนตร์ที่ถูกเลือกก็จะเป็นภาพยนตร์ขนาดใหญ่ หรือไม่ก็ถูกจำกัดประเภทว่าถูกจริตกับผู้ชมในภูมิภาคนั้นๆ 

 

เท่ากับว่าภาพยนตร์ขนาดเล็กที่ไม่ถูกใจหรือไม่ทำเงินก็จะยิ่งถูกปิดโอกาสมากขึ้นไปอีก และเท่ากับว่า ‘สายหนัง’ จะกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ตัวแปร’ สำคัญในการกำหนดรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลไปโดยปริยาย 

 

3. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Bioscope และผู้ก่อตั้ง Documentary Club ที่ทำงานเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์ขนาดเล็กมาโดยตลอด ก็ได้ตั้งคำถามผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยแสดงความคิดเห็นว่า

 

หากเกณฑ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าต่อไปนี้รางวัลสุพรรณหงส์จะไม่มีพื้นที่ให้กับภาพยนตร์อย่าง มะลิลา, ดาวคะนอง, Ten Years Thailand, Die Tomorrow, ธุดงควัตร, มหาสมุทรและสุสาน, พี่ชาย My Hero, อนธการ, ภวังค์รัก, Wonderful Town, ประชาธิป’ไทย และ Mary is Happy, Mary is Happy. ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงและได้รับรางวัลบนเวทีนี้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ รวมทั้งคำถามและ ‘ข้อเสนอแนะ’ สำคัญที่ว่า 

 

สมาพันธ์ภาพยนตร์และรางวัลภาพยนตร์มีขึ้นเพื่อสนับสนุนคนทำหนัง หากเกรงกลัวว่ามีแต่หนังเล็กๆ ดีๆ ได้รางวัลแล้วไม่รู้จะตอบสังคมอย่างไรว่าทำไมเป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยดู การหาทางสนับสนุนให้มันได้เป็นที่รู้จัก ยอมรับ ยกย่อง นั่นต่างหากไม่ใช่หรือคือหน้าที่ที่คุณต้องทำ”

 

4. เช่นเดียวกับที่ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และผู้กำกับภาพยนตร์อิสระที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงและได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ (ไม่ได้ขอให้มารัก It Gets Better, ปั๊มน้ำมัน A Gas Station และ แมลงรักในสวนหลังบ้าน Insects in the Backyard) ก็ตั้งคำถามกับเงื่อนไขดังกล่าวว่าจะปล่อยให้ภาพยนตร์ไทยที่ไม่มีคนดูถูกตีความหมายว่า ‘ไม่มีคุณค่า’ อย่างนั้นหรือ รวมทั้งนำเสนอว่า 

 

“สิ่งที่​สมาคมสมาพันธ์​ภาพยนตร์​แห่งชาติควรทำเป็นอย่างมากคือนำภาพยนตร์ที่ดี มีคุณค่า ได้รับรางวัล แต่ไม่ค่อยมีคนดูจากปัจจัยหลายอย่างไปจัดฉายตามที่ต่างๆ เพื่อให้คนดูได้รู้จักภาพยนตร์ไทยในมุมที่หลากหลายมากขึ้น การยัดเยียดภาพยนตร์ที่ไม่หลากหลายให้คนไม่มีสิทธิ์ในการเลือกดูเท่ากับเป็นการฆ่าวงการภาพยนตร์ไทยให้ตายอย่างรวดเร็ว”

 

5. และถ้าดูตามข้อมูลที่เขียนไว้ในเว็บไซต์วิกิพีเดียและเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการที่ระบุเอาไว้ว่า “รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติเป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ไทย” 

 

รวมทั้งคำอธิบายถึงสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติที่ว่า “เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างบุคคลในวงการภาพยนตร์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมของความคิดเห็น การพัฒนา การดำรงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ และเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงภาพยนตร์ให้มีการเติบโตยิ่งขึ้นมั่นคงสืบไป”

 

ก็ยิ่งน่าตั้งข้อสงสัยมากขึ้นไปอีกว่าแล้วผู้สร้างภาพยนตร์อิสระที่ตั้งใจทำงานสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมา เพียงแต่ไม่สามารถเข้าฉายและมีผู้ชมเกิน 50,000 คนตามเงื่อนไขนั้นไม่ควรถูกนับรวมว่าเป็น ‘บุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย’ ที่ควรได้รับการยกย่องและให้เกียรติได้เชียวหรือ 

 

6. นอกจากนี้ภาพยนตร์ที่เข้าเกณฑ์หลายเรื่องก็สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ภาพยนตร์เหล่านั้นกลับถูกขับไล่ไสส่งและกีดกันออกจากวง ‘ภาพยนตร์ไทย’ 

 

หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นจริงๆ ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติจะมีคำอธิบายให้กับเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

7. เกณฑ์ของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติไม่ได้ส่งผลเฉพาะคนทำภาพยนตร์อิสระ เพราะตัวผู้กำกับพันล้านอย่าง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จากภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ที่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 มาได้มากถึง 12 สาขา (รวมภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม) จากการเข้าชิง 15 สาขา ก็ไม่เห็นด้วยถึงขนาดยอมคืนรางวัลทั้งหมดที่ได้ หากเงื่อนไขดังกล่าวเกิดขึ้นจริง 

 

“ไม่รู้ว่ากฎกติกานี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นจริงเมื่อไร ผมขออนุญาตคืนรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยได้รับมา เพื่อยืนยันความเชื่อเล็กๆ ของตัวเองว่ารางวัลไม่ใช่ทุกสิ่ง 

 

“เพราะสำหรับผม สิ่งที่จริงยิ่งกว่าคือความตั้งใจของคนทำหนัง ที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับใช้บ่งบอกคุณภาพของตัวงาน ซึ่งคำว่า ‘คุณภาพ’ นี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะวัดกันที่ต้นทุน รายได้ หรือคนหนุนหลัง 

 

“หนังคือแพสชัน ผสมกับอุตสาหกรรมในอัตราส่วนที่ควรจะเท่าๆ กัน และบางครั้งเสียงปรบมือก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ได้มีให้กับคนที่คู่ควร” 

 

8. ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกันระหว่าง สมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นำโดยนายกสมาคมอย่าง อ๊อด-บัณฑิต ทองดี ที่เป็นตัวแทนของคนทำภาพยนตร์อิสระ และนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

 

ซึ่งคำตอบที่ได้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘เสียง’ ของคนทำภาพยนตร์อิสระจะมีพลังมากแค่ไหนที่จะยืนหยัดอยู่ใน ‘วงการภาพยนตร์ไทย’ ต่อไป และท้ายที่สุดภาพยนตร์ที่ดีที่ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติให้คุณค่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะได้รู้กันในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X