×

สุพันธุ์ไม่เชื่อมือ 2 ทีมกู้เศรษฐกิจที่นายกฯ ตั้ง แนะดึงเอกชน-นักวิชาการร่วมทีม ไม่ใช่ชื่อซ้ำจากชุด ครม.-ศบศ.

โดย THE STANDARD TEAM
21.07.2022
  • LOADING...
สุพันธุ์ มงคลสุธี

วันนี้ (21 กรกฎาคม) สุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงประเด็นที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจ

 

สุพันธุ์กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ทีม ตนไม่มั่นใจว่าตั้งขึ้นมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศแค่ไหน เนื่องจากดูจากรายชื่อแล้วเป็นรายชื่อที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) อยู่แล้ว ซึ่งทุกคณะเกือบจะเป็นกรรมการชุดเดียวกันทั้งหมด และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นการผลักดันเรื่องใดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

 

ในมุมของตนมองว่า ในเมื่อรัฐบาลต้องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับนี้ หากต้องการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมควรมีภาคเอกชน เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และนักวิชาการ เช่น นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้าไปร่วมทีมด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจซ้ำรูปแบบเดิม

 

“หากย้อนกลับไป เรามี ครม.เศรษฐกิจ ตั้งแต่สมัย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงหลังมานี้ไม่เห็นมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เท่าไร เช่นเดียวกับการประชุม ศบศ. ที่มีเอกชนร่วมเป็นคณะทำงาน ก็ไม่ค่อยได้ประชุม และรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้ส่วนนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะยังใช้วิธีการทำงานแบบรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักอยู่ดี” สุพันธุ์กล่าว

 

สุพันธุ์กล่าวต่อไปว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเยอะ เพราะยังไม่เห็นว่าคณะทำงานลักษณะนี้จะช่วยผลักดันงบประมาณได้แค่ไหน เรื่องนี้ควรมีตัววัดผลในการทำงาน เช่น เรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราการแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป ดูแลเรื่องราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป และขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้แตกต่างจากชุดอื่น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นว่าแตกต่างอย่างไร ใช้คำว่าคณะกรรมการชุดเดิมยังได้เลย เพราะคนทำงานยังเป็นรัฐมนตรีจากกระทรวงเศรษฐกิจเช่นเดิม

 

ส่วนมุมมองด้านเศรษฐกิจภาพรวมนั้น สุพันธุ์กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องพลังงาน เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดมาในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเรื่องตลาดทุน แต่อุปสรรคในตอนนี้คือความเชื่อมั่นลดลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามาก อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกับตลาดทุน

 

ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะการกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เข้ามาซื้อบ้าน และเป็นกลุ่มที่มีซัพพลายเชนเยอะ เช่น เหล็ก หิน ทราย อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ซึ่งรัฐควรออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น การลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนองลง วันนี้ต้องเน้นคนที่มีกำลังซื้อออกมาจับจ่ายใช้สอยกันให้มากๆ เพื่อให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาดีขึ้น 

 

สำหรับเรื่องการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว รัฐบาลควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ระดับโลกโดยเร็วที่สุด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันในเรื่องของภาคธุรกิจต้องรีบฟื้นให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องกฎกติกาในการลงทุนหรือขอใบอนุญาตต่างๆ ควรลดขั้นตอนลง ให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกิจมากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs กลับมามีรายได้อีกครั้งต่อไป

 

“ส่วนการประเมินตัวเลข GDP ปี 2565 จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัจจัยภายนอกประเทศอย่างภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ผมจึงมองว่าการที่ GDP ไทยปีนี้จะไปให้ถึง 3% อย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ยังเป็นเรื่องยาก” สุพันธุ์กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising