×

ไสยศาสตร์การกีฬา เสน่ห์และความสนุกสนานในการแข่งขันกีฬาแบบชาวบ้าน

22.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • กีฬาชุมชน คือพื้นที่ที่จะได้พบกับการผสมผสานกันอย่างลงตัวของวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ จนกลายเป็นความสนุกและเสน่ห์ของการแข่งขัน
  • แม้แต่การแข่งขันวอลเลย์บอล ไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิงก็จะมีการลงยันต์ไว้บนฝ่ามือ เชื่อว่าจะช่วยให้บล็อกลูกตบของทีมตรงข้ามได้ นอกจากนี้หลังจบการแข่งขัน 3 วัน ชาวบ้านและนักกีฬาจะรวมตัวกันเพื่อทำการเซ่นสรวงบูชาผีอารักษ์ประจำหมู่บ้านด้วย
  • เมื่อวิทยาศาสตร์หมดหนทางที่จะช่วยเหลือ ไสยศาสตร์และความเชื่อจึงมาทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น

ช่วงประมาณเดือนมกราคมของทุกปี ชุมชนแถวชนบทหลายๆ ท้องที่นิยมจัดกีฬาชุมชนสัมพันธ์กันขึ้นในหมู่บ้านหรือในตำบลของตนเอง และแน่นอนว่าผมซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตมาในพื้นที่หมู่บ้านชนบทแถวอำเภอรอบนอกจังหวัดเชียงราย ก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ประจำปีในชุมชนปีนี้ด้วย

 

ความน่าสนใจของกีฬาในชุมชนมีอยู่ว่า มันเป็นพื้นที่ที่เราจะพบการผสมผสานกันอย่างลงตัวของสองศาสตร์ที่ถูกจัดให้เป็นคู่ตรงข้ามกันมาตลอดอย่างวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ซึ่งมันกลายเป็นความสนุกและเป็นเสน่ห์ของการแข่งขันกีฬาในชุมชน

 

บทความนี้อาจจะไม่ได้มีประเด็นอะไรมากนัก เพียงแค่อยากเล่าวิถีชีวิตชาวบ้านให้ฟังว่าเขาอยู่กับสองศาสตร์นี้กันอย่างไร และจะชวนมาตั้งคำถามปิดท้ายที่ว่า แล้วเราจัดวางสองศาสตร์นี้อย่างไรในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน

 

 

กีฬาชุมชน กิจกรรมผ่อนคลาย เพิ่มสายสัมพันธ์

ช่วงเดือนมกราคมของทุกปีถือเป็นช่วงว่างจากการทำการเกษตร หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากข้าวนาปีช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และรอการลงมือใหม่อีกครั้งกับนาปรัง หรือในภาคเหนือบางที่ก็จะเป็นถั่วเหลือง ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาว่างที่พอเหมาะกับการจัดกิจกรรมบันเทิงเพื่อคลายเครียดและสร้างความสนุกสนานกันภายในชุมชน

 

กิจกรรม ‘กีฬาสีสัมพันธ์ชุมชน’ จึงมักจะจัดขึ้นกันในช่วงนี้ และส่วนใหญ่มักจะจัดกันในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะทำให้ลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัดหรือทำงานในวันจันทร์-ศุกร์สามารถเดินทางกลับมาร่วมกิจกรรมด้วย (เช่นผมก็เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับไปร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน)

ในกิจกรรมงานกีฬาสีสัมพันธ์จะมีกีฬาอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ กีฬาสากล เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ เปตอง และประเภทกีฬาที่สร้างเสียงเฮฮาได้มากที่สุดอย่างกีฬาพื้นบ้าน เช่น อุ้มลูกตามเมีย จะเป็นการอุ้มลูกโป่งใส่น้ำ หรือถุงยางอนามัยใส่น้ำแล้ววิ่งผลัด หรือวิ่งผลัดซูเปอร์แมนก็จะมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นการผลัดใส่กางเกงในหรืออื่นๆ เช่น วิ่งผลัดกระสอบ วิ่งสามขา และชักเย่อ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้สร้างความสุขและความบันเทิงให้กับคนในสังคมชนบทหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี

 

 

กีฬาสร้างชาติ มรดกตกทอดสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แน่นอนว่าความน่าสนใจมันอยู่ที่กีฬาสากล ในแง่ประวัติศาสตร์สังคมไทย กีฬาประเภทที่มาพร้อมแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และความศิวิไลซ์เด่นที่สุดคือในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พยายามใช้กีฬาสร้างประชากรที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้ชาติ โดยกล่าวว่าหากประเทศชาติอุดมสมบูรณ์ด้วยพลเมืองที่มีสุขภาพดี ประเทศก็จะมั่นคงถาวรและเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นในรัฐบาลนี้จึงเน้นการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการผลิตร่างกายของประชากรที่มีคุณภาพ เช่น

  1. การใช้หลักยูจีนิกส์ (Eugenics) คือศาสตร์คัดกรองประชากรที่มีลักษณะพันธุกรรมที่ดีเพื่อสร้างคุณภาพและเพิ่มประชากรคุณภาพของคนในชาติ กล่าวง่ายๆ คือการเลือกสายพันธุ์ดี เพราะเชื่อว่าจะสามารถขจัดโรคทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคจิต จิตทราม
  2. การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของพลเมืองหลายด้าน เช่น สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยร่างกาย และสุขอนามัยการบริโภค โดยรณรงค์แบบแผนการบริโภคอาหารเป็นอาหารโปรตีน รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ห้ามกินแมลง กบ อึ่งอ่าง คากคก เขียด ฯลฯ รักษาความสะอาดห้องเรือน บริโภคน้ำประปา รวมถึงการขับถ่ายสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะ และที่สำคัญที่สุดคือ
  3. การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งและสร้างวินัยให้แก่ร่างกาย โดยการบริหารร่างกาย เล่นกีฬา เดินทางไกลเพื่อสร้างร่างกายที่มีคุณภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้คณะกรรมการจังหวัด คณะกรรมการอำเภอ และเทศบาลส่งเสริมการออกกำลังกาย การกินดี และการพักผ่อน พร้อมขอความร่วมมือจากกรมพลศึกษาและคณะกรรมการส่งเสริมการกีฬาของชาติให้ช่วยคิดหาวิธีเล่นกีฬาอันเป็นการออกกำลังกายให้เหมาะกับประชาชนในท้องถิ่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงให้ออกกำลังกายทุกวันพุธของสัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีความพยายามจะลบล้างและเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องไสยศาสตร์ออกไป เช่น การสักยันต์ และการถือฤกษ์ยาม โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความเชื่อของพุทธศาสนาและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่าความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนา แต่ขณะนี้พุทธศาสนาได้บังเกิดขึ้นแล้ว และวิทยาศาสตร์ก็เจริญรุ่งเรือง ทางการจึงควรพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ‘ไม่ตกเป็นเหยื่อ’ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘คนโง่เขลา เหลวไหล ไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล’

 

 

กีฬาชุมชน พื้นที่กึ่งกลางระหว่างวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์

แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกีฬาในชุมชนกลับเป็นพื้นที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานความเชื่อทางไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ในแง่ของการกีฬาอย่างลงตัว และมันได้กลายเป็นเสน่ห์ของงาน ดังกรณีงานกีฬาที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่ง ความเชื่อไสยศาสตร์ในงานกีฬาจะปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ห้ามเอาช้อนคาถ้วย หรือสากคาครก เอาเหรียญไปซื้อประตู ลงยันต์บนฝ่ามือ หรือไหว้ผีประจำหมู่บ้าน

กรณีห้ามเอาช้อนคาถ้วยหรือสากคาครก เชื่อกันว่าจะทำให้ ‘แก๋น’ (ภาษาถิ่นภาคเหนือ) หมายถึง โชคไม่ดี หรือหนักสุดคือ ‘ซวย’ ทำอะไรจะไม่ได้ดังหวัง

 

 

เช่น เหตุการณ์ตอนที่ทีมฟุตบอลหมู่บ้านของผมได้เข้าชิงชนะเลิศกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งแข่งไปเท่าไรก็ไม่สามารถทำประตูได้ จนใกล้จะหมดเวลาการแข่งขันก็มีป้าท่านหนึ่งตะโกนจากข้างสนาม ซึ่งผมและพี่ๆ น้าๆ กำลังนั่งตั้งวงสังสรรค์กันอยู่ข้างสนามว่า “อย่าเอาช้อนคาถ้วย แล้วให้วิ่งไปดูที่โต๊ะส้มตำของหมู่บ้านด้วย ให้รีบล้างครก ล้างถ้วย ล้างช้อนให้หมด เก็บไว้ให้ดี เดี๋ยวมันแก๋น”

 

พวกเราซึ่งกำลังกรึ่มๆ จากการร่ำสุราข้างสนามก็เชื่อฟังด้วยการรีบเอาช้อนออกจากถ้วย และต้องวิ่งไปล้างถ้วยชามตามคำสั่งป้าหัวหน้าทีม (เป็นการแซวกันเล่นๆ) แต่อย่างไรก็ไม่สามารถทำประตูกันได้จนต้องชิงชัยด้วยการยิงจุดโทษ ป้าท่านเดิมก็เดินไปฝั่งประตูของทีมคู่แข่งแล้วก็เอาเหรียญสิบบาทไปโยนทิ้งไว้หลังประตูแล้วพูดว่า “ขอซื้อประตูนะ” พร้อมยกมือไหว้กล่าวว่า “ขอเจ้าพ่อเสี้ยวบ้าน (ผีอารักษ์หมู่บ้าน) ช่วยให้ชนะด้วยเทอญ” จนในที่สุดทีมหมู่บ้านของผมก็ชนะการแข่งขันด้วยการยิงจุดโทษไป

 

 

หรือแม้แต่การแข่งขันวอลเลย์บอล ไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิงก็จะมีการลงยันต์ไว้บนฝ่ามือ เชื่อว่าจะช่วยให้บล็อกลูกตบของทีมตรงข้ามได้ ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังจบกิจกรรมการแข่งขันได้ประมาณ 3 วัน ชาวบ้านและนักกีฬาก็ต่างรวมตัวกันเพื่อทำการเซ่นสรวงบูชาผีอารักษ์ประจำหมู่บ้านด้วย เพราะเชื่อกันว่าท่านก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานได้รับชัยชนะจากการแข่งขันกีฬามา

ดังที่เล่ามา เราจะเห็นภาพการผสมผสานของสองศาสตร์นี้อย่างลงตัวจนมันกลายเป็นเสน่ห์และความสนุกสนานในกิจกรรมและชุมชน แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้ไสยศาสตร์ในการแข่งขันกีฬา ผมไม่ได้หมายความว่าตัวนักกีฬาไม่มีคุณภาพ ไม่มีความสามารถ แต่ด้วยการกีฬาที่มาพร้อมกับการแข่งขัน ความสามารถเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ความหวังที่จะทำให้ชนะได้ ไสยศาสตร์จึงเป็นแรงผลักดัน เป็นกำลังใจ และเป็นความหวังให้แก่นักกีฬาและกองเชียร์ด้วย

ดังนั้นแม้ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใด เรายังพบว่าไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ยังผสานกันอยู่อย่างลงตัว ไม่ได้มีปัญหาซึ่งกันและกันด้วย

 

 

อย่างกรณีของไสยศาสตร์การกีฬาในกีฬาสีสัมพันธ์ในพื้นที่ชุมชนชนบท แม้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จะก้าวล้ำไปแค่ไหน แต่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ใช่คำตอบต่อความหวังทั้งหมดของการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เรายังพบว่ามีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่สามารถให้คำตอบหรือช่วยคนได้ทั้งหมด

 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หรือแม้แต่ข้าวนาปี-นาปรังที่กิโลกรัมละ 5 บาท แถมไร้วี่แววความช่วยเหลือจากรัฐบาล จะทำเช่นไรดีเมื่อวิทยาศาสตร์หมดหนทางที่จะช่วยเหลือ รัฐไร้ความสามารถ ไร้ความสนใจต่อประชาชน

 

ไสยศาสตร์และความเชื่อจึงมาทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ถึงไม่ได้ช่วยอะไรในแง่ความเป็นจริงเชิงประจักษ์ แต่ในแง่ของการบำรุงขวัญและกำลังใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือชั้นดี

ถ้าเป็นเช่นนั้นจึงมาสู่คำถามที่ว่า แล้วเรายังจะจัดวางไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ขั้วตรงข้ามกันอีกดีหรือไม่ เรายังจะมองคนที่เขาเชื่อไสยศาสตร์ว่าเป็นคนโง่งมงายอยู่ไหม หรือการมองเขาว่าโง่งมงายนั้นเป็นเพียงการเหยียด การยกตนข่มท่าน เพื่อสถาปนาความเท่-เก๋ให้กับตนเองเท่านั้น

 

ดังนั้นผมคิดว่าแทนที่เราจะเหยียดกันและกัน เรามามองถึงข้อดีของศาสตร์ทั้งสองนี้ดีกว่าไหม แล้วใช้มันเป็นเครื่องมือคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อทำหน้าที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีความหวัง และมีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน

 

อ้างอิง:

  • ก้องสกล กวินวรีกุล, การสร้างร่างกายพลเรือนไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2545.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X