×

‘จักรวาลหนังซูเปอร์ฮีโร่’ ประวัติศาสตร์ บทบาท และเหตุผลที่ทำให้เราตัดใจจากหนังแนวนี้ไม่ได้สักที

28.07.2023
  • LOADING...
หนังซูเปอร์ฮีโร่

HIGHLIGHTS

9 min read
  • ซูเปอร์ฮีโร่คนแรกที่ถูกสร้างขึ้นคือซูเปอร์แมน (Superman) ซึ่งเป็นผลงานของ โจ ชัสเตอร์ (Joe Shuster) และ เจอร์รี ซีเกล (Jerry Siegel) ในปี 1938 ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาลทันที
  • หนังซูเปอร์ฮีโร่จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากที่ Marvel Studios ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องของคุณภาพกับเรื่อง Iron Man (2008) ที่ถูกสานต่อด้วยภาพยนตร์ในจักรวาลของ Marvel ซึ่งนำมาร้อยรัดเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาดภายใต้ชื่อ Marvel Cinematic Universe (MCU)
  • จักรวาลหรือแฟรนไชส์หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำรายได้สูงที่สุดย่อมหนีไม่พ้น MCU ที่ทำเงินรายได้ถึง 2.9615 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ ‘1 ล้านล้านบาท’ จากจำนวนหนังทั้งหมด 32 เรื่องด้วยกัน
  • การปลดระวางตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างไอรอนแมนและกัปตันอเมริกาใน Avengers: Endgame แม้จะเป็นการปิดฉากและการวางมือที่สวยงาม แต่ในทางตรงกันข้ามหมายถึงการที่พวกเขาสูญเสียตัวละครที่เป็นจุดขายของจักรวาลไปในทันที โดยที่ยังหาใครขึ้นมาทดแทนไม่ได้

จากเรื่องราวของ Rocket เจ้าแร็กคูนสุดเฟี้ยวแห่ง Guardians of the Galaxy Vol. 3 ที่ทำเอาหลายคนต้องปาดน้ำตา (ใครยังไม่ได้ดูไปหาเหตุผลกันเอาเอง!) สู่ Spider-Man: Across the Spider-Verse แอนิเมชันสุดตระการตาผ่าอีกมิติจักรวาลของไอ้แมงมุม มาสู่ The Flash ฮีโร่สุดเฟี้ยวในชุดสีแดง ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าถือเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่จากจักรวาลของ DC ที่สนุกทีเดียว

           

เรายังมี Aquaman and the Lost Kingdom และ The Marvels ภาคต่อที่จะนำ Captain Marvel สตรีผู้ทรงพลังระดับจักรวาล ที่ต่อคิวเตรียมกลับมาหาแฟนๆ ทุกคนอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 นี้

           

เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 15 ปีแล้ว ที่แฟนหนังทั่วโลกมีหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ได้ติดตามกันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลของ Marvel หรือจักรวาลของ DC เรียกว่าไม่เคยขาด อีกทั้งยังมีการต่อยอดผูกเรื่องได้อย่างน่าสนใจในแบบ Cinematic Universe ที่เชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกันผ่านจุดเชื่อมโยงเล็กๆ ที่น่าทึ่ง

           

เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 15 ปีแล้ว ที่แฟนหนังทั่วโลกมีหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ได้ติดตามกันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลของ Marvel หรือจักรวาลของ DC เรียกว่าไม่เคยขาด อีกทั้งยังมีการต่อยอดผูกเรื่องได้อย่างน่าสนใจในแบบ Cinematic Universe ที่เชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกันผ่านจุดเชื่อมโยงเล็กๆ ที่น่าทึ่ง

           

แต่ความจริงแล้ว หนังซูเปอร์ฮีโร่ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมหลังเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียลแต่อย่างใด

           

เรื่องราวการต่อสู้ของเหล่าคนที่มีพลังพิเศษและมีหน้าที่ปกป้องมนุษย์บนโลกหรือจักรวาลนั้นอยู่กับเรามายาวนานมากแล้ว

           

อะไรที่ทำให้หนังแนวนี้เกิดขึ้น คงอยู่ และเหมือนจะไม่มีวันดับสูญไป?

           

และจักรวาล (ในความหมายถึงตัวเลขผลประกอบการ) ของหนังซูเปอร์ฮีโร่นั้นมีมูลค่าเท่าไรกันแน่?

           

พร้อมแล้วปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ เอามือล้วงถังป๊อปคอร์น แล้วมาติดตามเรื่องราวนี้ไปด้วยกัน

 

หนังซูเปอร์ฮีโร่

ภาพ: Ximena Rubio / Long Visual Press / Universal Images Group via Getty Images

 

ประวัติย่นย่อของหนังซูเปอร์ฮีโร่

ความดีปะทะความชั่ว พระเอกปะทะผู้ร้าย แสงสว่างกับความมืด ขาวหรือดำ

           

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอด ดังที่เราเคยได้ยินเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เทพนิยาย หรือปกรณัมทั้งหลาย ซึ่งหากจะย้อนกาลเวลาไป เราอาจนับเรื่องราวของทวยเทพอย่าง เฮอร์คิวลีส หรือ อคิลลีส เป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้เช่นเดียวกัน

           

แต่สำหรับเรื่องราวของวีรบุรุษในแบบ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ (Superhero) ในแบบที่เรากำลังจะกล่าวถึงนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่ถึง 100 ปีดีนัก โดยจุดเริ่มต้นนั้นอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในการ์ตูนแบบคอมิกที่เป็นที่นิยมในยุคสมัยดังกล่าว

           

ซูเปอร์ฮีโร่คนแรกที่ถูกสร้างขึ้นคือซูเปอร์แมน (Superman) ซึ่งเป็นผลงานของ โจ ชัสเตอร์ (Joe Shuster) และ เจอร์รี ซีเกล (Jerry Siegel) ในปี 1938 ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาลทันที

           

ความนิยมนั้นเกิดขึ้นจากการที่คนอ่านอินไปกับเรื่องราวการต่อสู้ของซูเปอร์ฮีโร่ทั้งสอง ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและน่าอัศจรรย์ใจ โดยเฉพาะความสามารถพิเศษที่เหนือมนุษย์สมชื่อ Superman ไม่ว่าจะเป็นการเหาะเหินเดินอากาศ ความเร็วที่เหนือเสียง ไปจนถึงการล่องหน

           

จากนั้นในอีก 1 ปีถัดมา แบทแมน (Batman) ผลงานของ บ็อบ เคน (Bob Kane) และ บิลล์ ฟิงเกอร์ (Bill Finger) ก็เกิดตามมา โดยคราวนี้ไม่ได้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มหัศจรรย์ในแบบเดียวกับซูเปอร์แมน แต่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาด ปราดเปรียว และต่อสู้โดยใช้ทักษะศิลปะป้องกันตัว เพื่อปกป้องผู้คนในเมืองก็อตแธม 

           

จุดเริ่มต้นนี้นำไปสู่ความคลั่งไคล้ของแฟนคอมิก จนเกิดเป็นวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ที่มีการสร้างตัวละครและเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งก็รวมถึงฮีโร่สัญชาติอเมริกันแท้ๆ อย่างกัปตันอเมริกา (Captain America) และไอ้แมงมุม (Spider-Man)

           

อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่เกิดขึ้นในช่วงปี 1950-1960 ที่เริ่มมีการนำเรื่องราวในคอมิกมาถ่ายทอดเป็นหนังฉบับคนแสดงจริง ซึ่งแม้เทคนิคการถ่ายทำในยุคสมัยนั้นจะยังไม่ดีมากนัก แต่ก็มีเรื่องที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นแบทแมน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสไปเดอร์แมนอย่าง The Adventures of Spider-Man ที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงเวลานั้น

           

หลังจากนั้น ‘หนังซูเปอร์ฮีโร่’ ก็ยังได้รับความนิยมพอสมควร แต่มาเริ่มพีคอีกครั้งเมื่อมีการสร้างหนังเรื่อง Superman (1978) ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนมีการสร้างภาคต่อ Superman II (1980) ในเวลาต่อมา ก่อนจะเป็นคิวของ Batman (1989) ใต้การกำกับของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ที่มีการสร้างภาคต่ออีกหลายภาค แม้ว่าจะไม่ได้ดีเท่าเดิมและเหมือนจะถึงยุคเสื่อมของหนังซูเปอร์ฮีโร่

           

หนังซูเปอร์ฮีโร่

ภาพ: Jack Taylor / Getty Images

 

ก่อนที่หนังซูเปอร์ฮีโร่จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากที่ Marvel Studios ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องของคุณภาพกับเรื่อง Iron Man (2008) ที่ถูกสานต่อด้วยหนังในจักรวาลของ Marvel ที่นำมาร้อยรัดเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาดภายใต้ชื่อ Marvel Cinematic Universe (MCU)

           

MCU ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนทำให้ DC เองที่ทำได้ดีกับไตรภาคแบทแมนใหม่ ซึ่งเริ่มจาก Batman Begins (2005), The Dark Knight (2008) และ The Dark Knight Rises (2012) ต้องพยายามไล่ตามมาด้วยการปลุกหนังซูเปอร์แมนภาคใหม่ในชื่อ Man of Steel (2013) รวมถึงซูเปอร์ฮีโร่อีกมากมายในจักรวาลของพวกเขาเอง

           

และนั่นทำให้เรามีหนังซูเปอร์ฮีโร่ดูต่อเนื่องกันทุกปี และในบางปีก็มีให้ดูกันตลอดแทบทั้งปี

           

เป็นยุคทองของหนังคนเหนือมนุษย์เหล่านี้ก็ว่าได้

           

ซูเปอร์ฮีโร่ = ผู้ปกป้องค่ายหนัง

ในหนังซูเปอร์ฮีโร่อาจจะเป็นผู้ปกป้องโลกหรือแม้แต่จักรวาลเลยทีเดียว

           

แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ได้มีหน้าที่ในการปกป้องโลกแบบนั้น ในทางตรงกันข้าม เหล่าผู้มีพลังวิเศษเหล่านี้มีหน้าที่เดียวคือ การปกป้องค่ายหนังด้วยการทำรายได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

           

ตามตัวเลขที่มีการเปิดเผยกันแล้วว่า หนังซูเปอร์ฮีโร่สามารถสร้างเงินรายได้อย่างมากมายมหาศาลให้แก่ค่ายหนัง โดยเฉพาะ Marvel Studios ที่กวาดรายได้อย่างน่ามหัศจรรย์

           

ในการจัดอันดับหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำเงินรายได้สูงสุดปรากฏว่า ใน 10 อันดับแรกนั้นเป็นผลงานของซูเปอร์ฮีโร่จากฝั่ง MCU โดยอันดับหนึ่งคือหนังรวมเหล่าฮีโร่ Avengers: Endgame (2019) ที่ทำเงินรายได้มากถึง 2.797 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9.676 หมื่นล้านบาท จากการเข้าฉายทั่วโลก

           

อันดับที่ 2 ก็ยังเป็น Avengers: Infinity Wars (2018) ที่กวาดรายได้ถึง 2.048 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.085 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 3 คือ Spider-Man: No Way Home (2021) ที่กวาดรายได้ถึง 1.921 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.645 หมื่นล้านบาท

           

ขณะที่ค่าย DC เบียดเข้ามาได้เพียงเรื่องเดียวในอันดับที่ 10 กับเรื่อง Aquaman (2018) ที่ทำรายได้จากการเข้าฉายทั่วโลก 1.148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ​ หรือกว่า 3.971 หมื่นล้านบาท

           

ส่วนจักรวาลหรือแฟรนไชส์หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำรายได้สูงที่สุดย่อมหนีไม่พ้น MCU ที่ทำเงินรายได้ถึง 2.9615 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ ‘1 ล้านล้านบาท’ จากจำนวนหนังทั้งหมด 32 เรื่องด้วยกัน

           

หนังซูเปอร์ฮีโร่

ภาพ: Spencer Platt / Getty Images

 

โดยนอกจากรายได้จากการเข้าฉายแล้ว ยังมีรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากหนังซูเปอร์ฮีโร่อีก ไม่ว่าจะเป็นการขายลิขสิทธิ์ของเล่น วิดีโอเกม และอีกมากมาย

           

บางทีเราอาจจะกล่าวได้ว่า พลังวิเศษที่แท้จริงของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้อาจเป็นการเสกเงินเสกทองขึ้นมาได้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

เหตุผลที่เราไม่เคยตัดใจจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ได้เลย

ดูทำไม อย่างไรตอนจบพระเอกก็ชนะผู้ร้ายอยู่แล้ว?

           

นี่อาจเป็นคำถามที่ใครหลายคนเคยต้องตอบเวลาบอกใครสักคนว่าไปดูหนังซูเปอร์ฮีโร่กันเถอะ เพราะมันก็หนีไม่พ้นจริงๆ เพราะสัจธรรมของหนังแนวนี้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งเก่งกาจเพียงใด สุดท้ายแล้วความดีก็จะชนะความชั่วอยู่ร่ำไป

           

แต่มันก็พอมีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่าทำไมทุกคนถึงไม่สามารถตัดใจจากเหล่ายอดมนุษย์พวกนี้ได้เลย

           

อย่างแรก หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็มีความบันเทิงของตัวเอง โดยเฉพาะนับตั้งแต่การก่อกำเนิดจักรวาล MCU ขึ้นมา โลกของหนังก็มาถึงจุดที่งานคอมพิวเตอร์กราฟิกสามารถเสกอะไรขึ้นมาก็ได้ โดยเฉพาะงานเอฟเฟกต์ในระดับอลังการดาวล้านดวงที่ไม่สามารถทำได้ในยุคก่อนหน้านี้

           

ฉากการต่อสู้ที่ตระการตาน่าทึ่งนี้เอง (ลองนึกถึงฉากเมืองในนิมิตของ Dr.Strange สิ) ที่กลายเป็นหนึ่งในจุดขาย

           

แต่มากกว่านั้นคือ เรื่องราวของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกร้อยรัดเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะใน MCU เฟส 1-3 ที่มีการวางเค้าโครงเรื่องเอาไว้อย่างชาญฉลาด และทำให้แฟนหนังแทบทุกคนไม่มีใครอยากพลาดแม้แต่เรื่องเดียว เพราะอยากรู้ว่ามันจะนำไปสู่สิ่งใดต่อ

           

แม้กระทั่ง End Credits ที่เป็นของแถมเล็กๆ ก็กลายเป็นของแถมที่มีความสำคัญต่อคอหนังที่อดทนนั่งรอจนจบเครดิต เพื่อลุ้นกิมมิกว่า Marvel จะใส่อะไรมาเป็นคำบอกใบ้ถึงทิศทางต่อไปหรือไม่

           

แต่ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจแล้ว สิ่งที่ทำให้ทุกคนหลงรักหนังซูเปอร์ฮีโร่คือ ความเชื่อลึกๆ ของคนในมุมมองเรื่องการใช้ชีวิต คุณค่าและความหมาย การตีความทั้งความดีและความชั่วอย่างลึกซึ้ง (แม้กระทั่งตัวร้ายระดับจักรวาลอย่างธานอสเองก็มีเหตุผลรองรับในการกระทำของตัวเอง) ไปจนถึงเรื่องชาติพันธุ์ที่หนัง Black Panther (2017) ได้รับการชื่นชมอย่างมหาศาล เพราะแสดงให้เห็นถึงความสง่างามและน่าภาคภูมิใจของวัฒนธรรมแอฟริกันที่แฝงมาในเรื่อง

           

และสุดท้ายเราเองต่างก็หวังว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในแบบที่พวกเขาทำได้เหมือนกัน ซึ่งเราทำไม่ได้

           

เราก็เลยฝากพวกเขาทำ และนั่งดูในโรงหนังแทน

 

หนังซูเปอร์ฮีโร่

ภาพ: Dinendra Haria / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

 

แต่จุดจบของหนังซูเปอร์ฮีโร่กำลังมาถึง?

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่หนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ไต่ระดับไปถึงจุดพีคกับเรื่อง Avengers: Endgame เมื่อปี 2019 ดูเหมือนกระแสของหนังแนวนี้จะดรอปลงอย่างมีนัยสำคัญ

           

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าผลกระทบจากโรคระบาดโควิด ที่ทำให้ผู้คนถูกตัดขาดจากโรงหนังเป็นเวลาถึง 2-3 ปี ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล

           

แต่ในอีกทาง ดูเหมือนค่ายหนังเองก็ตระหนักดีว่า ต่อให้เป็น Marvel เองพวกเขาก็ใช้ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ที่ดีที่สุดไปแบบเต็มศักยภาพแล้ว

           

การปลดระวางตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างไอรอนแมนและกัปตันอเมริกาใน Avengers: Endgame แม้จะเป็นการปิดฉากและการวางมือที่สวยงาม แต่ในทางตรงกันข้ามหมายถึงการที่พวกเขาสูญเสียตัวละครที่เป็นจุดขายของจักรวาลไปในทันที โดยที่ยังหาใครขึ้นมาทดแทนไม่ได้

           

ไม่นับการจากไปอย่างชวนหัวใจสลายของ แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) หรือ ‘ทีชาลา’ ผู้สวมบท Black Panther ซูเปอร์ฮีโร่ที่มีศักยภาพโดดเด่นพอจะขึ้นมานำขบวนการได้ ก็ทำให้ Marvel ถึงกับเป๋ไม่น้อย

           

ในช่วงปี 2023 นี้เอง แม้หนังซูเปอร์ฮีโร่จะทยอยเข้าโรงต่อเนื่อง แต่มีหลายเรื่องที่ผลตอบรับออกมาไม่ดีอย่างที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็น Ant-Man and the Wasp: Quantumania ที่วางโครงเรื่องไว้สำคัญอย่างมากสำหรับจักรวาล MCU ในเฟสใหม่ หรือเรื่อง Shazam! Fury of the Gods ของค่าย DC ที่ล้มเหลวอย่างมาก

           

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกระแสของหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ที่กลับมาทวงความยิ่งใหญ่อย่าง Top Gun: Maverick หรือ Avatar: The Way of Water แล้ว หนังซูเปอร์ฮีโร่ในระยะหลังดูจะกลายเป็นของเกรดบีไปเลย

           

เรียกว่าต่อให้เป็นซูเปอร์ฮีโร่เองก็ล้าเป็นเหมือนกัน

           

ดังนั้น หลังจากนี้จะเป็นความท้าทายของค่ายหนังที่จะต้องพยายามปลุกกระแสหนังแนวนี้กลับมาให้ได้ เพราะหากความนิยมตกต่ำลง รายได้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ก็อาจจะหมายถึงการที่ยุคทองของหนังซูเปอร์ฮีโร่ต้องจบลงตามไปด้วย

           

แต่การสิ้นสุดลงของยุคสมัยหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปิดฉากไปตลอดกาล

           

เพราะตราบใดที่มนุษย์เรายังต้องการแรงบันดาลใจจากใครสักคนที่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

           

หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็พร้อมกลับมาคืนชีพได้อีกครั้งเสมอและตลอดไป

           

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising