×

‘Super Shoes’ กำลังทำให้คุณค่าของการแข่งมาราธอนหายไปหรือไม่?

27.09.2023
  • LOADING...
Adizero Adios Pro Evo 1

ในการแข่งขัน​ ‘เบอร์ลิน มาราธอน’ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากการฉลองชัยของ เอเลียด คิปโชเก ซูเปอร์ฮีโร่ของวงการวิ่งที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในประเภทชายแล้ว ผู้ชนะในประเภทหญิงอย่าง ตีกส์ แอสเซฟา ก็สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนไม่ได้น้อยไปกว่ากัน

 

นั่นเพราะเธอทำลายสถิติโลกได้ในรายการนี้ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 11 นาที 53 วินาที

 

ความจริงแล้วโลกควรดีใจไปกับความสำเร็จของนักวิ่งสาวชาวเอธิโอเปียด้วย เพียงแต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนที่มองชัยชนะและความสำเร็จครั้งนี้ของเธอด้วยสายตาและหัวใจที่เต็มไปด้วยข้อกังขา

 

ว่าสถิตินี้มันเป็นเพราะขีดความสามารถของเธอล้วนๆ หรือเป็นเพราะรองเท้าคู่เก่งที่เธอสวมใส่กันแน่

 

และรองเท้าระดับสุดยอด ‘Super Shoes’ กำลังทำลายคุณค่าของการแข่งขันมาราธอนหรือไม่?

 

คำถามเรื่องของรองเท้าในแนว Super Shoes หรือ Super Spikes ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

 

ในทางตรงกันข้าม วงการวิ่งตั้งคำถามถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2016 ในความกังวลว่ารองเท้าที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตใส่เข้ามาเพื่อช่วยให้นักวิ่งไปได้ไกลและไปได้ไวยิ่งกว่าที่เคยมีมาเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

 

เพราะระยะห่างระหว่างนักวิ่งที่สวมใส่รองเท้าธรรมดากับนักวิ่งระดับ ‘อีลิต’ ที่ได้รับรองเท้ารุ่นล่าสุดที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ดูเหมือนจะไกลกันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เรื่องนี้สะท้อนได้จากสถิติโลกของการแข่งวิ่งในระยะตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา สถิติโลกเหล่านี้ตกเป็นของนักวิ่งที่สวมใส่รองเท้าแบบซูเปอร์ทั้งสิ้น

 

และนั่นรวมถึงสถิติโลกของแอสเซฟาในการแข่งขันเบอร์ลิน มาราธอนด้วย เพราะรองเท้าที่เธอสวมใส่คือ Adizero Adios Pro Evo 1 คู่สีขาวตัดด้วยสามแถบสีดำสุดคลาสสิกที่เรียกว่าฮือฮาในหมู่นักวิ่งกันตั้งแต่เริ่มมีภาพหลุดออกมาแล้ว และเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ทุกคนซื้อหามาครอบครองได้

 

 

เพียงแต่รองเท้ารุ่นนี้ adidas ได้ระบุคุณสมบัติเอาไว้ว่า “ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำความเร็วและทรงประสิทธิภาพสูงสุดจนทำให้รองเท้ามีน้ำหนักเบาที่สุด” แต่มันจะใช้ในการแข่งขันมาราธอนได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น 

 

พูดง่ายๆ คือนี่เป็นรองเท้าโคตรเทพในแบบที่ใช้แล้วทิ้ง 

 

ในมุมมองของ ทิม ฮัตชิงส์ อดีตนักกีฬาวิ่งมาราธอนที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันในรายการโอลิมปิก, ชิงแชมป์โลก, ชิงแชมป์ยุโรป รวมถึงรายการคอมมอนเวลท์เกมส์ และกวาดเหรียญรางวัลมาไม่น้อยในช่วงทศวรรษ 1980 ตั้งคำถามถึงรองเท้าเหล่านี้ ซึ่งมีราคาสูงถึง 400 ปอนด์ หรือประมาณ 17,000 บาท

 

ด้วยรองเท้าแบบนี้ พวกเขาไม่มีทางรู้หรอกว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเก่งแค่ไหน

 

“หนึ่งในเครื่องสะท้อนความยิ่งใหญ่ก็คือการสร้างสถิติ และคุณค่าของมันในตอนนี้ถูกลดทอนลง” ฮัตชิงส์กล่าว “เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ถูกยกระดับของคุณค่ากลับไปอยู่ในจุดเดิม ถ้ามีคนแสดงข้อมูลให้ได้เห็นว่ามันมีความแตกต่างกันมากแค่ไหนที่เกิดขึ้นจากรองเท้าที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ คนรุ่นนี้สมควรได้รับสิ่งนี้ และจะได้เปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ได้อย่างยุติธรรม

 

“ในขณะที่มันเป็นการวิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่เรื่องของรองเท้าเหล่านี้ควรจะได้รับการจัดการให้ดีกว่านี้ เพื่อทำให้ ‘ยุคสมัยใหม่’ ได้รับการจดจำจริงๆ”

 

ในขณะที่ มาระ ยามาอุจิ นักวิ่งที่เคยเป็นอันดับ 2 ตลอดกาลของอังกฤษ แต่ปัจจุบันตกไปอยู่อันดับที่ 4 บอกว่า เธอยังไม่เข้าใจว่าทำไมแอสเซฟาถึงทำลายสถิติโลกได้เร็วกว่าเดิมในระดับ 2 นาที

 

“มันเป็นเพราะผลที่ได้จากรองเท้าหรือจากความสามารถของเธอเองกันแน่นั้น เป็นสิ่งที่เราก็ไม่รู้” ยามาอุจิกล่าว “ที่ฉันเข้าใจก็คือมีนักวิ่งบางคนที่ตอบสนองได้ดีกับรองเท้าเหล่านี้ ในขณะที่บางคนก็ไม่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน”

 

ยามาอุจิยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นด้วยการนำสถิติโลกของ พอลลา แรดคลิฟฟ์ ที่ยืนยงมายาวนานกว่า 16 ปี แต่ตอนนี้สถิติเหล่านี้ถูกทำลายลงได้อย่างง่ายดาย

 

“มันเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน และสำหรับฉันสถิติโลกตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปแล้ว แต่ฉันคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าองค์กรกรีฑาโลกจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเห็นชอบตามสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตรองเท้าต้องการ”

 

ก่อนหน้านี้องค์กรกรีฑาโลกเองก็พยายามควบคุมให้การแข่งขันเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หลังจากที่มีประเด็นดราม่าในเรื่องของการที่นักกีฬาบางคนใช้รองเท้าประเภทนี้แล้วทำให้เกิดความได้เปรียบมากกว่านักกีฬาคนอื่นหรือไม่

 

เพราะนับตั้งแต่ที่มีการกำเนิดรองเท้ารุ่นทดลอง (Prototype) ที่ Nike เปิดตัวในปี 2016 จนทำให้นักวิ่งที่ใส่รองเท้าของพวกเขากวาดแชมป์เรียบในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารองเท้าที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเฉพาะการใส่แผ่นคาร์บอนลงไปในชั้นรองเท้า มีส่วนต่อการกำหนดผลการแข่งขันได้เลยทีเดียว

 

ในครั้งนั้น Nike บอกว่า รองเท้ารุ่นใหม่ของพวกเขาจะช่วยเซฟพลังงานให้กับนักวิ่งได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีผลอย่างมาก และได้ผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ฮีโร่ของวงการอย่างคิปโชเกเองก็สวมใส่ทั้ง Vaporfly และ Alphafly รองเท้าที่เป็นนวัตกรรมของการวิ่ง

 

คิปโชเก

 

ด้วยรองเท้านี้ ทำให้คิปโชเกกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนได้ในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง (Sub 2) ขณะที่นักกีฬาคนอื่นๆ ที่ใส่รองเท้าของ Nike ก็แทบกวาดรางวัลไปครองทั้งหมด โดยในปี 2019 นักวิ่งที่ใส่รองเท้าของยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาขึ้นโพเดียมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ใน 6 รายการมาราธอนระดับเมเจอร์ 

 

นักวิ่งที่เซ็นสัญญากับบริษัทอื่นยังต้องยอมซื้อรองเท้า Nike มาใส่แต่ปิดบังตราสัญลักษณ์เพื่อไม่ให้ผิดสัญญา

 

เพียงแต่ผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็น adidas หรือ Nike ต่างปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบข้อบังคับมากที่สุดเท่าที่จะหาจุดร่วมตรงกลางได้ เพื่อให้รองเท้าแนว Super Shoes เหล่านี้ได้ไปต่อ

 

โดยที่พวกเขาพร้อมก้าวนำไปข้างหน้าเสมอ เพราะในสนามจริงคือการทำให้นักวิ่งทั่วโลกเชื่อมั่นได้ว่ารองเท้าแบรนด์ของพวกเขานั้น ‘ดีที่สุด’ และจะพาทุกคนไปได้ไกลและไวที่สุด เรื่องนี้มีความหมายกับพวกเขามากกว่าเรื่องคุณค่าของสถิติโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวันถกเถียงกันได้จบ เพราะคุณค่านั้นเป็นเรื่องของมุมมองว่าใครจะคิดอย่างไร คนรุ่นหนึ่งคิดแบบนี้ คนอีกรุ่นก็อาจคิดไม่เหมือนกัน และที่สำคัญโลกวันนี้มีสิ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของนักกีฬามากมาย รองเท้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวเท่านั้น

 

ชัยชนะของแอสเซฟาจึงไม่ได้เป็นแค่ชัยชนะของเธอคนเดียวเท่านั้น

 

มันคือชัยชนะที่สำคัญของ adidas ที่เป็นการประกาศศักดาด้วยว่า ยุคสมัยที่ Nike เคยรันวงการกำลังจะจบลง ยุคของ Adizero กำลังจะมาถึงแล้ว ถ้าอยากวิ่งให้ไว มาซื้อรองเท้าของเราไปใส่สิ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising