×

สุพัฒนพงษ์ ย้ำไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์เหมือนรอบแรก ส่วนแผนเปิดประเทศต้องประเมินวันต่อวัน ยอมรับโอกาส GDP โต 4% เริ่มน้อยลง

16.04.2021
  • LOADING...
สุพัฒนพงษ์-ย้ำไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์เหมือนรอบแรก

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ที่มีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (16 เมษายน) ว่า โดยส่วนตัวไม่คิดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจะต้องนำไปสู่การล็อกดาวน์ เพราะประสบการณ์จากจังหวัดสมุทรสาครที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้ ถึงแม้ลักษณะการติดเชื้อจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่เหมือนกันคือการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาระยะห่าง การไปตรวจเชื้อโควิด-19 หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 

 

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ที่ประชุม ศบค. จะพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีมาตรการเข้มข้นในบางพื้นที่ ไม่ใช่การกลับไปเหมือนการระบาดในรอบแรก เมื่อเดือนเมษายน 2563 ส่วนจะกระทบต่อการเปิดประเทศหรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน แต่ขณะนี้ยังเป็นไปตามแผนกำหนดการเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง การปฏิบัติการเชิงรุก การดึงดูดนักลงทุนยังเดินหน้าทำงานเหมือนเดิม  

 

สุพัฒนพงษ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจกังวลเรื่องของความมั่นใจในการควบคุม รวมถึงสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่หายป่วยและกลับบ้านได้ ซึ่งจะทำให้คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ และธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร 

 

“รัฐบาลยืนยันว่าจะบริหารจัดการโดยคำนึงถึงการควบคุมการแพร่ระบาดและการเดินหน้าเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ให้ความสำคัญมากเท่าๆ กัน ซึ่งขณะนี้ได้มีพระราชกำหนดออก (พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมาถูกที่ถูกเวลาพอดี” 

 

สำหรับ พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ) วงเงิน 2.5 แสนล้าน และ 2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท 

 

สุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายตัว 4% แต่อย่างไรก็ตามต้องกัดฟัน แต่ยังมีโอกาส แม้จะเหลือน้อยลงก็ตาม ซึ่งรัฐบาลยังต้องเดินหน้าต่อไป 

 

“ทุกคนมีอาวุธอยู่ในมือ คนที่มีเงินฝากที่ยังไม่ได้ใช้ มีเงินฝากเกินกว่าปีที่แล้วเยอะ ขณะที่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำให้เร็วขึ้น เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน (PPP) และยังมีโครงการใหม่ๆ ดีๆ ที่ยังรอการพิจารณาอยู่ เพื่ออนาคต และเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนไทยทุกคน”

 

สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้การส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่รัฐบาลจะต้องกลับไปดูในเรื่องการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศว่าจะกระตุ้นอย่างไร เช่น การนำเงินฝากของประชาชนที่ยังเหลืออยู่เมื่อปีที่แล้วยังเหลืออยู่ ซึ่งความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องดูแลควบคุมการระบาดไม่ให้ประชาชนกังวล แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพราะทุกคนปรับตัว 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising