‘สุพัฒนพงษ์’ รัฐมนตรีพลังงาน พร้อมดูแลผลกระทบหากคลังไม่ต่อเวลาลดภาษีฯ ดีเซล และยังส่งสัญญาณบวกถึงทิศทางค่าไฟ พร้อมฝากการบ้านโจทย์ใหญ่ถึง ‘ว่าที่รัฐบาลใหม่’ หวังให้สานต่อนโยบาย เดินหน้าผลักดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริม EV อุตสาหกรรมใหม่
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตร โดยกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ว่าหากพิจารณาระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกผันผวนสูงจนอาจกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซลก็ต้องหารือกระทรวงการคลังในการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาต่อไป เนื่องจากขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ
โดยก่อนหน้านี้ ได้หารือกับทางกระทรวงการคลังแล้ว และในส่วนของกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์น้ำมันดีเซลว่าจะไปในทิศทางใด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขร่วมกัน
ทั้งนี้ เชื่อว่าตอนนี้ยังพอมีเวลาเตรียมการ ซึ่งต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ควบคู่ไปกับกองทุนน้ำมันที่ติดตามเรื่องนี้ นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้เข้าไปควบคุมให้ผู้ประกอบการลดส่วนแบ่งทางการตลาดลง แต่ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือ เนื่องจากน้ำมันเป็นตลาดเสรี ไม่สามารถไปบังคับได้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก่อนที่จะมีการยุบสภาได้เสนอแนวทางดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในกรอบเหมาะสม ให้หน่วยงานดูให้ดีทุกมิติ ทั้งความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อ และต้นทุน
ลุ้นราคาก๊าซโลกร่วง ช่วยลดค่าไฟ
ส่วนสถานการณ์ปริมาณก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในอ่าวไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ปัจจุบันยังเป็นไปตามแผน โดยแหล่งเอราวัณยังคาดการณ์ว่าในเดือนกรกฎาคมจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือนธันวาคม 2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือนเมษายน 2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนข้างต้นจะส่งผลดีต่อราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าหรือไม่นั้น เมื่อนำไปพิจารณาร่วมกับราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในตลาดจร (Spot LNG) มองว่าเป็นเรื่องของ กกพ. ที่จะต้องไปพิจารณาราคาค่าไฟร่วมกับผู้นำเข้า รวมถึงต้องดูโอกาสและความเหมาะสมในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในสัญญาระยะยาวด้วย ประกอบกับต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ ค่าเงินบาท และการซื้อขาย ซึ่งต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งในเดือนธันวาคมจะเข้าสู่ฤดูหนาว อาจทำให้ราคาผันผวนได้ และหากเกิดปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น หลายประเทศก็ต้องพิจารณาโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพอีกด้วย
“หากพิจารณาราคาค่าไฟที่สูงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้ถือว่าผ่านจุดพีคไปแล้ว ซึ่งส่วนมากจะพีคแค่ช่วงไตรมาสที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะปรับลดลง ซึ่งขณะนี้ค่าไฟภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับลดลงแล้ว และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลงอีกในงวดถัดไป แต่การพิจารณาปรับลดทั้งหมดขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณา”
ต่อคำถามที่ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าไฟจะลดลง 70 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่พรรคการเมืองระบุไว้ในการหาเสียง สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องตัวเลขของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนจะลดเท่าใดสุดท้ายทาง กกพ. จะต้องไปพิจารณาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง แต่อย่างที่เคยบอกไว้แล้วว่าค่าไฟจะพีคสุดในงวดแรก จากนั้นจะทยอยลดลง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น
ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบาย EV
สำหรับมุมมองนโยบายต่อนโยบายพลังงานถึง ‘รัฐบาลชุดใหม่’ ที่จะเข้ามาทำงานนั้น มองว่าแต่ละพรรคมีนโยบายเรื่องพลังงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะได้พรรคไหนมาเป็นรัฐบาล
“ผมคิดว่าอะไรที่ปรับได้ก็ต้องปรับ และเชื่อว่าสิ่งที่เราส่งมอบในวันนี้ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน ผมในฐานะรัฐบาลชุดปัจจุบันทำดีที่สุดแล้ว”
ส่วนเรื่องนโยบายกลับมาเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ
สุพัฒนพงษ์ย้ำว่า ไม่ว่าจะมีนโยบายพลังงานเรื่องใด และไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล คงไม่กล้าปฏิเสธที่ต้องขับเคลื่อนไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมไปถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต